posttoday

ราชการไทย ใครว่าเชย ลองแอพฯ ล้ำๆ ทำเพื่อประชาชน

04 มิถุนายน 2559

น่าจะบอกได้ว่า ราชการไทยยุคนี้ไม่ใช่ “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” อีกแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เขาพัฒนาแล้ว

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

น่าจะบอกได้ว่า ราชการไทยยุคนี้ไม่ใช่ “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” อีกแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เขาพัฒนาแล้ว โดยมีหลายหน่วยงานพยายามที่จะให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น เพิ่มความสะดวกสบายให้มากขึ้น ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการได้ง่ายขึ้น

เพียงแค่มีสมาร์ทโฟน กับแอพพลิเคชั่นล้ำๆ ก็ทำให้ชีวิตประชาชนคนไทยง่ายขึ้นเยอะ

แม้จะไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่จะมีอะไรเจ๋งๆ มาบริการประชาชน และก็บอกไม่ได้ว่า มีอยู่กี่หน่วยงาน กี่แอพพลิเคชั่นที่มีให้บริการในขณะนี้ แต่เชื่อว่า ในอนาคตไม่ไกลจากวันนี้จะมีแอพพลิเคชั่นดีๆ ที่ใช้งานได้จริงออกมาให้ประชาชนอย่างเราได้ใช้งานมากขึ้น (เพราะตอนนี้บางแอพพลิเคชั่นดูเหมือนจะมีแต่ชื่อ)

แต่หลังจากได้ตามไปส่องและทดลองใช้แอพพลิเคชั่นบางอันที่เกี่ยวกับปากท้องและเงินทองในกระเป๋ามาแล้ว ก็มีหลายอันที่น่าสนใจและน่าจะ “ได้ไปต่อ”

my SSO SMART LIFE

ถ้าเป็นสมาชิกประกันสังคม ห้ามพลาดแอพพลิเคชั่น “my SSO SMART LIFE” เพราะเราสามารถตรวจสอบข้อมูลประกันสังคมได้ทันที ตั้งแต่ข้อมูลส่วนตัว เช่น สิทธิที่เราใช้อยู่เป็นมาตราอะไร สถานพยาบาลที่เรามีสิทธิใช้ประกันสังคม (โรงพยาบาลอะไร)

แต่ที่เด็ดสุด ก็คือ สามารถตรวจสอบ “ยอดเงินสะสมชราภาพ” ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันว่า แต่ละปีเราส่งเงินสะสมผู้ประกันตนไปเท่าไร นายจ้างสะสมให้อีกเท่าไร และรัฐบาลสมทบมาแล้วกี่บาท รวมทั้งหมดเป็นเงินเท่าไร โดยที่ยังไม่รวมดอกผลและหักส่วนที่เบิกไปแล้ว

บอกได้คำเดียวว่า เห็นตัวเลขแล้วชื่นใจว่า เงินที่สะสมไว้ปีละไม่กี่พันบาท (สูงสุดปีละ 5,400 บาท) ไม่ได้หายไปไหน แถมคนที่ทำงานมานานจะได้ชื่นชมกับยอดเงินที่มีอยู่

อีกรายการหนึ่งที่จะแสดงอยู่ในแอพพลิเคชั่นนี้ด้วย คือ เงินสมทบผู้ประกันตน ซึ่งจะบอกได้เป็นรายปีเลยว่า ในแต่ละเดือนเราส่งเงินสมทบไปเท่าไร รวมในแต่ละปีเป็นเท่าไร (สูงสุด 9,000 บาท) และคิดเป็นอัตราเท่าไร

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่เราใช้ไปแล้วในแต่ละปีว่า เป็นจำนวนเงินเท่าไร และยังสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งคู่มือการใช้งานแอพพลิเคชั่น และการติดต่อกับสำนักงานประกันสังคม

แต่ก่อนจะใช้งานได้ ต้องลงทะเบียนเพื่อใช้งานก่อน โดยกรอกตัวเลขบัตรประชาชน ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล และตั้งรหัสผ่าน แค่นี้ก็ใช้งานได้แล้ว

start-to-invest

แอพพลิเคชั่นนี้เป็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ เม.ย. 2555 และเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้บริการอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะการคำนวณเงินลงทุนในมุมต่างๆ เพราะมั่นใจว่า “เชื่อถือได้” แถมยังมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

ในแอพฯ นี้จะมีอยู่ 5 หมวดหลัก ได้แก่ คำนวณเงินลงทุน สินค้าออกใหม่ กองทุนเด่น สินค้าในตลาด และสื่อความรู้

หมวดที่เด่นและโดนใจที่สุด คือ “คำนวณเงินลงทุน” โดยในนี้จะเป็นโปรแกรมช่วยวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมาย (เช่น การเก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ ส่งลูกเรียน ไปเที่ยวต่างประเทศ หรืออะไรก็ได้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งนั้น) ลงทุนเพื่อวัยเกษียณ จัดพอร์ตลงทุน เงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF) และแบบคำนวณภาษี ครบในแอพฯ เดียว

แนะนำให้เข้าไปลองคำนวณเล่นๆ (แต่เจ็บจริง) เพราะพอได้เห็นตัวเลขผลลัพธ์แล้วอาจจะมีสลดไปบ้าง โดยเฉพาะการคำนวณเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งสามารถเลือกได้ว่า อยากจะรู้จำนวนเงินที่ต้องการ ณ วันเกษียณ จะคำนวณเงินลงทุนต่อเดือน หรือ จะคำนวณอัตราผลตอบแทนที่ต้องทำให้ได้ในแต่ละปี

เราจะลองคำนวณหา “จำนวนเงินที่ต้องการ ณ วันเกษียณ” แบบเล่นๆ กันดู โดยใส่ตัวเลขอายุปัจจุบัน 35 ปี อายุที่ตั้งใจจะเกษียณ 60 ปี ระยะเวลาใช้เงินหลังเกษียณ (แปลว่า จะมีชีวิตอยู่หลังจากเกษียณไปอีกกี่ปี) 20 ปี จำนวนเงินต่อเดือนที่ต้องการใช้หลังเกษียณ 2 หมื่นบาท

จากนั้นจะถามอีกว่า “คุณได้คำนึงถึงราคาสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นจนถึงวันเกษียณหรือไม่?” ตอบได้เลยว่า “ยังไม่คำนึง” เพราะ 2 หมื่นบาทที่คิดไว้ เป็น 2 หมื่นบาทในวันนี้ แต่ในอีก 25 ปีข้างหน้า มันจะเท่ากับ 41,876 บาท

เรียบร้อยแล้วระบบจะคำนวณออกมาได้ว่า “จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องการ ณ วันเกษียณ 10,050,240 บาท” ...บอกแล้วว่า คำนวณเล่นๆ แต่ผลที่ได้มันทำให้เจ็บจริง เพราะจะไปหาจากไหนตั้ง 10 ล้านบาท และไม่แน่ว่า ตัวเลขของ “คุณ” อาจจะทำให้เจ็บหนักกว่านี้ก็ได้

ก็ต้องย้อนกลับไปที่ “สื่อความรู้” ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ทั้งบทความ บทสัมภาษณ์ คลิปให้ความรู้ด้านการเงินที่เข้าใจง่าย แนะนำช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ แยกตามวัตถุประสงค์ของการลงทุน และหนึ่งในนั้นคือ การวางแผนเกษียณ

เมื่อรู้และเข้าใจดีแล้วก็เริ่มลงทุน โดยสามารถเข้าไป “ดูสินค้าในตลาด” ว่ามีอะไรบ้าง “กองทุนเด่น” ที่มีผลตอบแทน 1 ปี สูงสุด 10 อันดับแรก น่าสนใจหรือไม่ (แต่เข้าไปดูล่าสุดไม่มีข้อมูล ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร) และ “สินค้าออกใหม่” ช่วงนี้มีอะไรบ้าง

หลังจากนั้น ถ้าอยากรู้ว่า เงินลงทุนที่มีอยู่ และระยะเวลาที่คาดว่าจะลงทุน จะทำให้เราได้ผลตอบแทนเท่าไร ก็เข้าไปใส่ข้อมูลใน “พอร์ตลงทุน” โดยแบ่งสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และใส่ผลตอบแทนที่คาดหวัง (แบบไม่ต้องมโน เพราะมีผลตอบแทนในอดีตเป็นตัวอ้างอิงให้ด้วย) จะได้เห็นตัวเลขที่เป็นจริงว่า การแบ่งสัดส่วนลงทุนตามที่คิดไว้จะทำให้เงินลงทุนมีโอกาสงอกเงยขึ้นเป็นเท่าไรบ้าง

RD Smart Tax

ช่วงนี้ถ้าพูดถึง “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” อาจจะยังไม่ค่อยอินกันเท่าไร เพราะผ่านช่วงเวลายื่นแบบฯ ประจำปีกันมาแล้ว แต่ RD Smart Tax ก็ยังเป็นอีกแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่น่าจะมีติดมือเอาไว้ เพราะมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาษี กฎหมายใหม่ของกรมสรรพากรไว้ให้คอยอัพเดทกัน หรือจะหาความรู้เกี่ยวกับภาษีสรรพากรก็ทำได้

แต่จุดเด่นและน่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุดของแอพพลิเคชั่นนี้ คือ เราสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ออนไลน์ ผ่านทางแอพพลิเคชั่นนี้ได้ เช่นเดียวกับการยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต เพียงแต่ต้องเป็นการยื่นแบบฯ เฉพาะ ภ.ง.ด.91 ที่ไม่ใช้สิทธิอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ/ทุพพลภาพ

ข้อดีอีกอย่างของการยื่นแบบฯ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผ่านแอพพลิเคชั่น RD Smart Tax ก็คือ จะได้ระยะเวลาในการยื่นแบบฯ เพิ่มขึ้นอีก เช่น การยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.91 ในปีภาษี 2558 สามารถยื่นได้จนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2559 จากกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ ปกติวันที่ 31 มี.ค. 2559

นอกจากนี้ ยังมีบริหารจัดการภาษี ด้วยเครื่องมือช่วยคำนวณภาษีเพื่อการวางแผนภาษีก่อนการยื่นแบบ ชำระภาษี ตรวจสอบผลการขอคืนภาษี และนำส่งเอกสารประกอบการพิจารณา แถมด้วยแผนที่ไปยังสำนักงานสรรพากรในพื้นที่อีกต่างหาก

(แต่ตอนนี้หมดเวลายื่นภาษีแล้วก็เลยเข้าไปทดลองเล่นไม่ได้ ทั้งการยื่นแบบ ชำระภาษี ส่งเอกสาร เอาไว้ปีหน้าจะไปทดสอบให้มั่นใจว่า ใช้งานได้ง่ายจริงหรือไม่ แต่สามารถตรวจสอบผลการขอคืนภาษีได้ละเอียด ถึงขนาดที่บอกได้ว่า เราเอาเช็คคืนภาษีไปเข้าบัญชีตั้งวันที่เท่าไร)

ถ้าเคยยื่นแบบฯ ทางอินเทอร์เน็ตมาแล้วก็เพียงแค่กรอกหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสผ่านเดียวกัน เพื่อเข้าระบบใช้งานได้เลย

บริการนี้น่าจะสมคำโฆษณาของแอพพลิเคชั่นนี้ที่บอกว่าเป็น “มิติใหม่ของการให้บริการธุรกรรมภาครัฐจากกรมสรรพากร อำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษีและบุคคลทั่วไป เพื่อชีวิตที่ง่ายขึ้นในการบริหารจัดการภาษี”

LED Property

น่าจะถูกใจคนที่กำลังมองหา “ทรัพย์ขายทอดตลาด” ของกรมบังคับคดี เพราะแค่มีแอพพลิเคชั่น LED Property ก็สามารถค้นหาสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ใช่แค่อสังหาริมทรัพย์ แต่รวมถึงหุ้น หน่วยลงทุน พันธบัตร สลากออมสิน รวมไปถึงอาวุธปืน

เราสามารถค้นหาทรัพย์ได้จากค้นหาจากรายการสินทรัพย์ หมายเลขคดีแดง หรือวันที่มีการจัดประมูล โดยหากเป็นการค้นหาจากรายการสินทรัพย์ สามารถจะเลือกประเภททรัพย์ จังหวัด อำเภอ ตำบล วันประมูล และกำหนดราคาประเมินต่ำสุด-สูงสุด ได้ตามที่ต้องการ

เมื่อเลือกรายการเรียบร้อยแล้วกดไปที่ “ค้นหา” จะมีรายการทรัพย์ตามเงื่อนไขที่เรากำหนดขึ้นมา จากนั้นแตะไปที่รายการทรัพย์ที่สนใจ จะแสดงข้อมูลเหมือนกับการค้นหาในเว็บไซต์กรมบังคับคดี (www.led.go.th) แป๊ะ ทั้งรายละเอียดทรัพย์ ภาพถ่าย แผนที่ หรือสถานที่ตั้ง และวันที่จะมีการประมูล

แต่เพราะการเข้าประมูลทรัพย์ของกรมบังคับคดีมีเงื่อนไขรายละเอียดที่ต้องรู้ ค่อนข้างมากในแอพพลิเคชั่นนี้จึงมีคู่มือสำหรับผู้ซื้อทรัพย์ขายทอดตลาดมา ให้ศึกษาและเตรียมตัวกันด้วย

นอกจากนี้ กรมบังคับคดียังมีแอพพลิเคชั่นใหม่ล่าสุดออกมาอีกอันหนึ่ง คือ LED Property Plus ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลเฉพาะ “คอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า” ที่จะมีการขายทอดตลาด โดยสามารถจะเลือกได้เลยว่า สนใจรถไฟฟ้าสายไหน และสถานีอะไร

จากนั้นแอพพลิเคชั่นจะแสดงรายการคอนโดมิเนียมในพื้นที่ที่เราสนใจ โดยบอกจำนวนทรัพย์สินที่มีอยู่ในโครงการ เมื่อกดเข้าไปที่ชื่อโครงการก็จะแสดงรายละเอียด ได้แก่ ลำดับการขาย วันที่ประกาศขาย หมายเลขคดี ที่ตั้ง ราคาเริ่มต้นและสถานที่ขายทอดตลาด

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้แอพพลิเคชั่น LED Property Plus ยังมีให้บริการเฉพาะระบบปฏิบัติการ Android เท่านั้น สำหรับ iOS อดใจรอไว้ก่อน น่าจะอีกไม่นาน

LandsMaps

แม้จะดูแล้วไม่ค่อยเกี่ยวกับปากท้องและเงินทองในกระเป๋า แต่แอพพลิเคชั่น LandsMaps เป็นอีกอันหนึ่งที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เพราะในแอพฯ นี้จะสามารถตรวจสอบตำแหน่ง และภาพแปลงที่ดิน เพียงแค่ระบุเลขที่โฉนด อำเภอ และจังหวัด ของที่ดินแปลงนั้น

โดยสามารถแสดงผลในรูปแบบแผนที่ธรรมดา และแผนที่ดาวเทียม และสามารถบันทึก (หรือปักธง) ที่ดินแปลงที่เราค้นหาไว้เปิดดูภายหลังก็ได้ หรือจะตรวจสอบเส้นทางที่จะเดินทางไปยังแปลงที่ดินนั้นก็ได้ แถมยังตรวจสอบสถานที่ตั้งสำนักงานเขตที่ดินที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

เพียงแต่เราต้องลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกก่อนที่จะใช้งาน และเมื่อเข้าสู่ระบบแล้วจะสามารถค้นหาได้วันละ 5 ครั้งเท่านั้น (เพราะฉะนั้นต้องบริหารจัดการสิทธิที่มีให้ดี)

GPF Service

ถ้าลูกจ้างจะต้องมี my SSO อยู่ติดมือ ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็ห้ามพลาดแอพพลิเคชั่น GPF Service หรือ “ระบบบริการทันใจ” เช่นกัน เพราะในแอพฯ นี้จะอัดแน่นไปด้วยข้อมูลของตัวสมาชิกเอง และข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์จาก กบข. รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ที่ กบข. จัดไว้ให้สมาชิก

สมาชิก กบข. จะสามารถตรวจสอบยอดเงินปัจจุบัน เปลี่ยนแผนการลงทุน เปลี่ยนแปลงสัดส่วนออมเพิ่ม รวมทั้งสามารถเข้าไป “ประมาณการความเพียงพอหลังเกษียณ” ได้ด้วย หรือถ้ามีข้อสงสัยอะไรก็ไปอ่านได้ที่ “คำถามยอดฮิต”

น่าเสียดายที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. ก็เลยได้แค่อ่านข่าวสารประชาสัมพันธ์และคำถามยอดฮิตให้ได้อิจฉาคนเป็นสมาชิก กบข. แต่ไม่สามารถเข้าไปทดลองดู “ข้อมูลส่วนตัว” ที่จะมีข้อมูลยอดเงินออมว่า น่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน

TVIS

เป็นอีกแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวกับเงินในกระเป๋าเท่าไร แต่เชื่อเถอะว่า ถ้ามี TVIS ติดมือไว้ ชีวิตจะสบายขึ้นเยอะ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ต้องเสียเวลาและเสียเงินค่าน้ำมันไปกับการจราจรติดขัด

เพราะ TVIS เป็นระบบรายงานสภาพจราจร โดยดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แบบอัตโนมัติ ดึงภาพจากกล้อง CCTV เพื่อดูสภาพจราจรแบบสดๆ ในบริเวณใกล้เคียง (เฉพาะในกรุงเทพฯ) ทำให้เรารู้ว่า การจราจรในบริเวณนั้นโล่งโปร่งสบาย หรือสาหัสขนาดไหน

หากรู้ล่วงหน้าว่า การจราจรติดขัดก็สามารถเข้าไปที่ “เส้นทางลัด” ที่จะช่วยให้หลบเลี่ยงการจราจรคับคั่งได้เป็นอย่างดี หรือช่วงนี้หน้าฝน ระบบก็มี “เรดาร์น้ำฝน” ที่เพิ่มการพยากรณ์น้ำฝนแบบเคลื่อนไหวบนแผนที่

นอกจากนี้ ยังมีหมายเลขสายด่วนประเภทต่างทั้งแบบฉุกเฉิน ไม่ฉุกเฉิน และสอบถามสภาพการจราจร แต่ที่สำคัญ คือ ระบบสามารถค้นหาข้อมูลได้ด้วยเสียง เพียงแค่พูดชื่อถนนที่ต้องการ

GAC

จริงๆ แล้ว แอพพลิเคชั่นที่มีประโยชน์จากหน่วยงานราชการไทยยังมีอีกมาก เช่น “MOC Life” ของกระทรวงพาณิชย์ ที่สามารถเข้าไปตรวจสอบราคาสินค้าได้ตั้งแต่หมู เห็ด เป็ด ไก่ ผัก ผลไม้ และร้องเรียนราคาสินค้าไม่เป็นธรรม

เราสามารถติดตามอัพเดทแอพ ดีๆ แบบนี้ได้จากแอพพลิเคชั่น GAC ซึ่งเป็นแหล่งรวมแอพ ของหน่วยงานภาครัฐเอาไว้ ทั้งหมด 11 หมวดหมู่ เช่น การเงิน การจัดหางาน ที่อยู่อาศัย การเดินทาง สุขภาพ การศึกษา

แม้จะยังไม่ถูกใจทั้ง 100% แต่เชื่อเลยว่า หลายแอพ ในนั้นช่วยให้ชีวิตประชาชนอย่างเราสะดวกสบาย ง่ายขึ้นมากจริงๆ