posttoday

Jitta เด็ดโดนใจ VI ได้หุ้นเด่น ราคาดี แค่คลิกเดียว

21 พฤษภาคม 2559

ถ้าถามนักลงทุนในตลาดหุ้น ใครๆ ก็คงอยากเป็นแบบ "วอร์เรน บัฟเฟตต์" แต่ใครๆ ก็รู้อีกเหมือนกันว่า

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

ถ้าถามนักลงทุนในตลาดหุ้น ใครๆ ก็คงอยากเป็นแบบ "วอร์เรน บัฟเฟตต์" แต่ใครๆ ก็รู้อีกเหมือนกันว่า มันยากเหลือเกินที่จะทำได้ แม้จะเป็นหลักการลงทุนง่ายๆ ก็แค่ "Buy a wonderful company at a fair price" ที่แปลเป็นไทยได้ว่า "ลงทุนธุรกิจที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เหมาะสม" ก็เท่านั้น

แต่กว่าจะรู้ว่า หุ้นตัวไหนเป็น "ธุรกิจที่ยอดเยี่ยม" และราคาเท่าไรถึงเรียกว่า "ราคาที่เหมาะสม" ก็ต้องใช้พลังงานมหาศาล เพราะทั้งต้องอ่านงบการเงินเป็น วิเคราะห์ตัวเลขทางการเงิน วิเคราะห์ตัวธุรกิจได้ และคำนวณออกมาเป็นราคาที่เหมาะสม

แน่นอนว่า กระบวนการนี้ไม่ได้ทำเพียงแค่บริษัทเดียว และไม่ใช่แค่ครั้งเดียว เพราะทุกไตรมาสที่มีการประกาศงบการเงินออกมาใหม่ก็ต้องมานั่งคำนวณกันใหม่... แค่คิดก็ปวดหัวแล้ว

แต่มีนักลงทุนอีกไม่น้อยที่ศึกษาแนวทางการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ อย่างจริงจัง และสนุกสนานกับการวิเคราะห์ธุรกิจ จนประสบความสำเร็จในฐานะนักลงทุนหุ้นคุณค่า หรือ VI หนึ่งในนั้น คือ ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Jitta

"ช่วงที่เริ่มต้นลงทุนผมอ่านหนังสือการลงทุนเยอะมาก ลองผิดลงถูกไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เสียหายไปเยอะ จนพบแนวทางการลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็เลยศึกษาและใช้ตรรกะของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ใช้เวลาทั้งวันเป็นเดือนๆ อ่านงบการเงิน พอลงทุนไปเรื่อยๆ จะมีคนมาถามว่า จะลงทุนอย่างไร ก็เลยอยากสร้างเครื่องมืออะไรที่ทำให้คนเข้าใจการลงทุนเหมือนที่ผมเข้าใจ"

นี่จึงเป็นที่มาของ Jitta หรือจิตตะเว็บไซต์ที่ทำให้หลักการง่ายๆ แต่ทำได้ยากของ "บัฟเฟตต์" กลายเป็นเรื่องง่ายที่ทำได้จริง โดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ และที่สำคัญ คือ ให้บริการฟรี

สิ่งที่ทำให้ Jitta โดดเด้งออกมาจากเครื่องมือวิเคราะห์หุ้นอื่นๆ คือ การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน จากงบการเงินของบริษัท ตามหลักการของวอร์เรน บัฟเฟตต์ โดย "สูตรคำนวณ" ของ Jitta ก่อนที่จะแปลค่าออกมาเป็นคะแนน กราฟ สัญลักษณ์ที่เป็นภาษาสากลและเข้าใจง่าย

Jitta Score

ตราวุทธิ์ บอกว่า "Jitta Score จะเป็นตัวบอกว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ดีหรือไม่" เพราะเป็นการประเมินคุณภาพของบริษัทจากองค์ประกอบ 5 ข้อ ซึ่งทั้งหมดมาจากตัวเลขงบการเงิน

"ทุกคนคิดว่า ตัวเลขในงบการเงินไม่สามารถนำมาวิเคราะห์เชิงคุณภาพได้ และนั่นคือสิ่งที่ Jitta แตกต่างจากคนอื่น เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าเราเข้าใจมันก็จะวิเคราะห์ได้หมด" ตราวุทธิ์ กล่าว

1.Strong Branding

การประเมินว่า บริษัทมี Branding หรือสินค้าที่ดีกว่าหรือไม่ สามารถวิเคราะห์ได้จากรายได้บริษัท โดยเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม เปรียบเทียบกับคู่แข่ง ว่าเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้ารายได้ของบริษัทโตมากกว่าคู่แข่ง แสดงว่าสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากคู่แข่งได้ดีกว่า และถ้าเติบโตเหนือกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม แสดงว่าต้องมีสินค้าที่ดีกว่าอุตสาหกรรม หรือคู่แข่งโดยรวม และสามารถขึ้นราคาสินค้าได้ เพราะ Strong Branding

2.Economy of Scale

"การประหยัดจากขนาด เป็น Barriers of entry ที่ทำให้คู่แข่งเข้ามาได้ยาก ซึ่งสามารถประเมินได้หลายแบบ แต่ตัวที่ดูง่ายที่สุด คือ ดู margin โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ว่าสุดท้ายแล้วใครสามารถรักษา margin ได้ดีกว่า หรือว่ายิ่งขยายกิจการก็ยิ่งกำไร อันนี้เป็น moat หรือป้อมปราการ ที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอก" ตราวุทธิ์ กล่าว

3.Cash income

บริษัทที่น่าสนใจจะต้องรับรายได้เป็นเงินสด หรือมีกระแสเงินสดวิ่งเข้าหาบริษัทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทาง Jitta ก็จะวิเคราะห์ด้วยการดูกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทว่ามากกว่ากำไรทางบัญชีมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งดูวงจรเงินสดของบริษัทด้วยว่าสั้นหรือยาวแค่ไหน

4.Financial Status

จริงๆ แล้วฐานะการเงินสามารถดูงบการเงินอยู่แล้วว่า บริษัทเป็นอย่างไร แต่ Jitta จะประเมินฐานะทางการเงินของทุกบริษัทควบคู่กับการวิเคราะห์อื่นๆ ด้วย โดยการดูโครงสร้างทางการเงิน และหนี้สินที่ทางบริษัทมี เพราะต่อให้บริษัทเติบโตมาก แต่ถ้าหากฐานะทางการเงินไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะทำให้บริษัทแย่ได้ง่ายๆ ถ้าเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมา

5.Management Team

ตราวุทธิ์ บอกว่า งบการเงินก็ช่วยให้ประเมินได้ว่า ผู้บริหารดีหรือไม่ ซึ่งหลายคนไม่รู้ เช่น ดูความสมเหตุสมผลในการลงทุนของผู้บริหาร เปรียบเทียบกับคู่แข่ง ถ้าใช้เงินลงทุนเท่ากันแล้ว บริษัทโตได้ดีกว่าหรือน้อยกว่าคู่แข่ง ถ้าโตได้ดีกว่าแสดงว่า ผู้บริหารเก่งกว่าคู่แข่งแน่นอน หรือใช้เงินลงทุนเท่ากัน โตเท่ากัน ก็ไปดูว่า ใครกู้เงินน้อยกว่า

นอกจากนี้ ตราวุทธิ์ ยังบอกอีกว่า บริษัทที่ทำกำไรได้ดีมาอย่างต่อเนื่องและไม่มีการลงทุนเพิ่ม ถ้าเป็นผู้บริหารที่ดีต้องนำเงินที่มีอยู่ไปจ่ายปันผล หรือซื้อหุ้นคืน

หลังจากประเมินคุณภาพบริษัทจากองค์ประกอบ 5 ข้อนี้แล้ว จะออกมาเป็น Jitta Score ที่มีค่าตั้งแต่ 0-10 คะแนน โดยบริษัทที่มีคะแนนยิ่งสูงแสดงว่า เป็นบริษัทที่มีคุณภาพดีมากขึ้นเท่านั้น

ทาง Jitta แนะนำว่า "ควรเลือกบริษัทที่ Jitta Score มากกว่า 7" หรืออย่างน้อยควรจะมีคะแนนสูงกว่า 5 ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่ดี แต่ต้องไม่ลืมไปดู Jitta Score ในอดีตด้วยว่า มีคะแนนสูงอย่างสม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะหากสูงโดดขึ้นมาเพียงปีเดียวก็อาจจะยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี

Jitta Line

ถ้าดูในกราฟราคาหุ้นแต่ละตัวจะเห็นว่า มีเส้นอยู่ 2 เส้น โดยเส้นสีฟ้าคือราคาหุ้นตั้งแต่อดีต (ย้อนหลังไป 10 ปี) จนถึงปัจจุบัน และอีกเส้นหนึ่งเป็นเส้นประสีดำ นั่นคือ Jitta Line หรือ "ราคาที่เหมาะสม" ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งคำนวณมาจากกระแสเงินสดและสินทรัพย์ของบริษัท

"Jitta Line จะบอกว่า ราคาหุ้นควรเป็นเท่าไร ตามมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท และถ้าเป็นบริษัทที่ดี Fair Price จะวิ่งขึ้นทุกปี และราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราลงทุนบริษัทที่ดีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องขาย เพราะสุดท้ายราคาจะวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ" ตราวุทธิ์ กล่าว

ดังนั้น Jitta จึงแนะนำให้เลือกลงทุนในบริษัทที่ Jitta Line มีแนวโน้มขาขึ้น

นอกจากนี้ Jitta Line ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยบอกเราว่า เมื่อไรคือจังหวะดีที่น่าลงทุน โดยเปรียบเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบัน ถ้าราคาต่ำกว่า Jitta Line มากๆ ก็ยิ่งดี แปลว่า เราจะได้หุ้นที่ราคาต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมของบริษัท เพราะ Jitta เชื่อว่าในที่สุดราคาหุ้นจะวิ่งเข้าไปหา Jitta Line

อย่างไรก็ตาม ตราวุทธิ์ แนะนำว่า การตัดสินใจซื้อหุ้นจะต้องดูทั้ง Jitta Score และ Jitta Line ประกอบกัน

"ถ้า Jitta Score เกิน 5 แต่ไม่ถึง 7 ควรซื้อตอนที่ราคาต่ำกว่า Jitta Line ประมาณ 20% เพราะหุ้นที่ได้คะแนนระดับนี้ควรซื้อถูกๆ ไว้ก่อนโอกาสขาดทุนจะน้อยลง แต่หาก Jitta Score มากกว่า 7 สามารถซื้อตอนที่ราคาอยู่ใกล้ๆ Jitta Line หรือต่ำกว่าเล็กน้อยก็ได้"

นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบ Jitta Score และ Jitta Line ของบริษัทเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและบริษัทคู่แข่งได้ที่หัวข้อ Key Stats

ตราวุทธิ์ กล่าวอีกว่า "คนที่ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากนักและไม่มีเวลานั่งหน้าจอ พยายามซื้อของดี ราคาถูกเอาไว้ก่อน เพราะหุ้นดี ซื้อเมื่อไรก็ได้ที่มันราคาถูก แล้วราคามันจะขึ้นกลับไปเอง หรือซื้อที่ Fair Price จะไม่เจ็บหนัก

"ต้องท่องไว้อย่างหนึ่งว่า ไม่เสียเงินดีที่สุด เพราะเรายังรวยขึ้นได้เรื่อยๆ แต่ถ้าเมื่อไรขาดทุนหนักๆ จนได้เลย เพราะฉะนั้นรอจังหวะเวลาดีๆ ค่อยลงทุนก็ได้"

แต่ถ้าเป็นหุ้นดี Jitta Score สูง แต่ราคาไม่เคยเข้าใกล้ Jitta Line เลย ก็ต้องประเมินโดยใช้ Jitta Time Machine (ก็แค่เอาเมาส์ไล่ตามตามเส้นกราฟ) ย้อนไปดูว่า ที่ผ่านมาราคาต่ำกว่า หรือสูงกว่า Jitta Line ประมาณเท่าไร และให้ซื้อต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไว้จะปลอดภัยมากที่สุด

ไม่ได้มีแต่คำแนะนำซื้อเท่านั้น เพราะ ตราวุทธิ์ บอกว่า ถ้าเมื่อใดที่เจอธุรกิจที่ดีกว่า น่าลงทุนมากกว่าก็อาจจะตัดใจขายหุ้นอื่นที่โอกาสทำกำไรน้อยกว่า

หรือเมื่อใดที่ Jitta Score และ Jitta Line ลดลง แสดงให้เห็นว่าธุรกิจมีปัญหา ก็ควรจะตัดใจขายทิ้งจะดีกว่า เพราะหุ้นแต่ละตัวจะบอก Loss Chance ซึ่งเป็นข้อมูลทางสถิติว่า การลงทุนหุ้นแบบนี้ไปอีก 12 เดือน จะมีโอกาสขาดทุนเท่าไร เผื่อให้เราได้ทำใจ

นอกจากนี้ ยังแนะนำว่าควรลงทุนอย่างน้อย 5 บริษัท หรือบริษัทละไม่เกิน 20% ของพอร์ตลงทุน โดยกระจายไปในหลายๆ อุตสาหกรรม และในช่วงเวลาเดียวกันไม่ควรลงทุนอุตสาหกรรมเดียวกันเกิน 2 บริษัท เพื่อกระจายความเสี่ยง

Factors & Signs

Jitta Factors แสดงคุณภาพของบริษัท 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ โอกาสในการเติบโต ผลดำเนินงานในปัจจุบัน ความแข็งแกร่งทางการเงิน ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น และความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ละด้านจะมีคะแนนเต็ม 100

Jitta แนะนำให้เลือกบริษัทที่ Jitta Factors แต่ละด้านมากกว่า 50 คะแนน และเมื่อรวมกันแล้วต้องมากกว่า 350 คะแนน

ขณะที่ Jitta Signs แสดงความแข็งแกร่งทางการเงินใน 5 หัวข้อ ได้แก่ รายได้ กำไรจากการดำเนินงาน หนี้สิน ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น และค่าใช้จ่ายในการลงทุน ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ แต่สามารถเดาได้ไม่ยาก เพราะถ้าเป็นสีเขียวแปลว่าดี แต่ถ้าสีแดงก็ไม่ดี

เพราะฉะนั้น Jitta จึงแนะนำให้เลือกหุ้นที่มี Jitta Signs เป็นสีเขียว ยิ่งเป็นสีเขียวหลายๆ ข้อยิ่งดี

แต่ถ้าข้อมูลที่ได้รับการแปลผลมาแล้วจะไม่จุใจ ก็สามารถวิเคราะห์งบการเงินเพิ่มเติม โดยคลิกเข้าไปที่หัวข้อ Factsheet ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นไทย หรือต่างประเทศ (แต่ดูฟรีเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เช่น SET50 หรือ S&P500 แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งขณะนี้เป็นฟังก์ชั่นเดียวของ Jitta ที่ต้องเสียเงินเพิ่ม)

"เมื่อก่อนเราต้องเข้าใจทุกหุ้น อ่านงบการเงินทุกตัว เพราะไม่รู้ว่าหุ้นตัวไหนดี ไม่ดี แต่พอใช้ Jitta แล้ว จะรู้ว่า หุ้นดี ไม่ดี แล้วสนใจตัวไหนค่อยไปอ่านงบการเงิน อ่านรายงานประจำปีเพิ่มเติม ให้รู้ว่าธุรกิจทำอะไร อาจจะเหลืออ่านแค่ 10-20 ตัวที่ดี เพราะฉะนั้นจะช่วยย่นเวลา" ตราวุทธิ์ กล่าว

Ranking VS Screener

ถ้าใครที่ใช้โปรแกรมซื้อขาย Settrade Streaming เข้าไปใช้งานได้ฟรี (แต่อาจจะไม่ได้ทุกโบรกฯ) โดยในนั้นจะข้อมูลพื้นฐาน เช่น Jitta Score และ Jitta Line ซึ่งก็มากพอสำหรับประกอบการตัดสินใจลงทุน

แต่ถ้าเข้าไปดูใน www.jitta.com น่าจะสนุกกว่ากันเยอะ โดยเฉพาะ Jitta Ranking ที่เพียงแค่คลิกเดียว Jitta จะจัด "หุ้นดีราคาถูก" มาให้ 100 ตัวโดยเรียงลำดับจากหุ้นที่น่าลงทุนมากที่สุด

เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากจะวุ่นวายไปหาข้อมูลอะไรเพิ่ม ตราวุทธิ์ บอกว่า สามารถลงทุนหุ้น 5 ตัวแรก หรือ 10 ตัวแรก แล้วถือไป 12 เดือน ข้อมูลในอดีตชี้ชัดว่า จะได้ผลตอบแทนดีกว่า ดัชนีหุ้นไทย แน่นอน

หรือถ้าต้องการจะกำหนดเงื่อนไขในการคัดกรองหุ้นเอง ก็คลิกไปที่ Screener แถมยังสามารถตั้ง Alert ให้แจ้งเตือนเมื่อมีหุ้นเข้าเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้

สะดวกสบาย เหมือนที่ ตราวุทธิ์ บอกไว้ว่า "ใช้ Jitta ให้เป็น ชีวิตจะสบาย"