posttoday

ถอดรหัสกองทุนรวม ตอน ไขความลับเปอร์เซ็นต์ไทล์

18 มกราคม 2558

นึกถึงบรรยากาศนักลงทุนรุมซื้อกองทุนเมื่อตอนวันสุดท้ายของปีแล้วยังรู้สึกขยาดไม่หาย เพราะฉะนั้นปีนี้ตั้งใจแน่วแน่จะเดินเข้าไปซื้อกองทุนเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่ต้นปี 

นึกถึงบรรยากาศนักลงทุนรุมซื้อกองทุนเมื่อตอนวันสุดท้ายของปีแล้วยังรู้สึกขยาดไม่หาย เพราะฉะนั้นปีนี้ตั้งใจแน่วแน่จะเดินเข้าไปซื้อกองทุนเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่ต้นปี 

แต่ยังไม่ทันได้ตัดสินใจว่าจะลงทุนกองทุนไหนดี อยู่ๆ คนขายกองทุนก็ยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งมาให้... (นิ่งไป 3 วินาที) แล้วนึกในใจว่า “เฮ้ย! นี่มันรหัสไขความลับจักรวาล หรือปริศนาทดสอบไอคิว” เพราะกระดาษทั้งหน้ามีแต่ตัวเลขตัวจิ๋วๆ อยู่เต็มไปหมด

โชคดียังมีสติอยู่บ้าง เลยนึกขึ้นมาได้ว่ามันคงจะเป็น “การเปรียบเทียบผลดำเนินงานของกองทุน” แบบใหม่ ที่เริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558

เพราะฉะนั้นนับจากนี้ไป ณ จุดขายกองทุน ไม่ว่าจะเป็นที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สาขาธนาคาร โบรกเกอร์ หรือแม้แต่ตัวแทนขายอิสระ ก็จะต้องมีข้อมูลผลดำเนินงานอันนี้เอาไว้ให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุน

แต่ไม่ว่าใครเจอตัวเลขละลานตาเต็มหน้ากระดาษแบบนั้นก็คงมึน ไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะเป็นแฟนคลับกองทุนรวมจะต้องรู้จักวิธีการ “ถอดรหัสลับกองทุนรวม” กันก่อน

อันดับแรก สำหรับคนที่ยังไม่มีลายแทงมหาสมบัติอยู่ในมือ แนะนำให้ไปดาวน์โหลดรายงานข้อมูลเปรียบเทียบผลการดำเนินงานแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์มาไว้ในมือก่อนเลยจะได้ “อิน” ไปพร้อมๆ กัน โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (www.aimc.or.th) แล้วเลือกหัวข้อ “เปรียบเทียบผลการดำเนินงานแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์”

พอเข้าไปแล้วจะเห็นไฟล์ PDF ของเดือน ธ.ค. 2557 (ข้อมูลอัพเดทเดือนละครั้ง) ก็คลิกเข้าไปได้เลย... ถ้าใครที่เห็นข้อมูลนี้แล้วไม่งง ไม่มึน ไม่อึน รู้ไว้เลยว่า “คุณ...อัจฉริยะ” แต่ถ้าคุณงง คุณมึน คุณอึน อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะจริงๆ มันง่ายนิดเดียว

ข้อมูลและตัวเลขมากมายในหน้ากระดาษนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน

ส่วนที่ 1 คือ AIMC Category หรือประเภทของกองทุนรวม ซึ่งแบ่งออกเป็น 31 กลุ่ม โดยดูจาก “ไส้ใน” ของแต่ละกองทุนว่าไปลงทุนสินทรัพย์อะไร เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่ากองทุนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันจะมีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกันมากๆ

แต่เราไม่ต้องไปสนใจก็ได้ว่ากองทุนจะมีอยู่กี่กลุ่ม เพราะสิ่งที่เราต้องรู้ก็แค่ว่ากองทุนที่เรากำลังสนใจลงทุนเป็นกองทุนในกลุ่มไหน และง่ายที่สุด คือถามคนขาย หรือดูจากข้อมูลสรุปของกองทุน (Fund Fact Sheet) หรือดูที่เว็บไซต์สมาคมบริษัทจัดการลงทุน

ตัวอย่างในกราฟฟิกประกอบจะเป็นกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ หรือ Equity Large Cap

ถอดรหัสกองทุนรวม ตอน ไขความลับเปอร์เซ็นต์ไทล์

ส่วนที่ 2 คือ Peer Percentile ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม และส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้มึนได้มากที่สุด เพราะวิธีการเปรียบเทียบผลดำเนินงานแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์เป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุน แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจ

สมมติว่า ในกองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีกองทุนอยู่ทั้งหมด 100 กองทุน เราก็นำผลดำเนินงานของทุกกองทุนในกลุ่มนี้มาเรียงลำดับตั้งแต่กองทุนที่มีผลงานดีที่สุด ยืนหัวแถวเป็นลำดับที่ 1 แล้วก็ไล่ลงไปเรื่อยๆ จนถึงอันดับที่ 100 ซึ่งมีผลดำเนินงานน้อยที่สุด

คราวนี้ก็ถึงเวลา “ขีดเส้นแบ่งกลุ่ม” โดยที่เส้นแบ่ง คือ กองทุนที่มีผลตอบแทนในลำดับที่ 5, 25, 50, 75 และ 95 จากกองทุนทั้งหมด 100 กองทุนที่เรียงแถวกันอยู่

จากตัวอย่างผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีของกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2557 จะรู้ทันทีว่า “ตัวท็อป” หรือเป็นกองทุนที่มีผลตอบแทนที่ดีที่สุด 5% แรก (5th Percentile) จะมีผลตอบแทนตั้งแต่ 25.12% ขึ้นไป

กองทุนที่มีผลตอบแทนในลำดับที่ 25 (25th Percentile) ทำได้ 16.74% กองทุนที่ตรงกลางพอดิบพอดีในลำดับที่ 50 (50th Percentile) ทำได้ 15.08% และกองทุนที่อยู่ในลำดับที่ 75 (75th Percentile) ทำได้ 12.4%

ขณะที่กองทุนที่มีผลดำเนินงานตั้งแต่ 5.77% ลงไป จะเป็นกองทุนที่อยู่ในกลุ่ม “บ๊วย” เพราะทำผลงานได้แย่ที่สุด 5% สุดท้าย (95th Percentile)

ส่วนที่ 3 คือ ผลตอบแทนย้อนหลัง ในระยะเวลาต่างๆ กัน มีตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี สำหรับผลตอบแทนที่มีระยะเวลามากกว่า 1 ปี จะแสดงเป็นผลตอบแทนต่อปี

ส่วนที่ 4 คือ ความเสี่ยง (Standard Deviation) หรือความผันผวนของผลตอบแทนที่กองทุนทำได้ในระยะเวลาต่างๆ กัน เช่นเดียวกับผลตอบแทนย้อนหลัง เพราะฉะนั้นกองทุนที่มี Standard Deviation สูง แสดงว่ามีความผันผวนของผลตอบแทนสูง ไม่ได้คงเส้นคงวานัก 

ทีนี้ก็ถึงเวลาที่จะหยิบเอาข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์กันแล้ว โดยนอกจากจะต้องรู้ว่ากองทุนที่เรากำลังสนใจจะลงทุนถูกจัดอยู่ในประเภทไหน แล้วเราต้องรู้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันกับข้อมูลที่เรามีอยู่ กองทุนนั้นมีผลตอบแทนย้อนหลัง และความเสี่ยงอยู่เท่าไร (ข้อมูลทั้งหมดนี้อยู่ใน Fund Fact Sheet)

ตัวอย่าง ถ้าเรากำลังสนใจกองทุน A ที่มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 19.55% และความเสี่ยงอยู่ที่ 12.54% หมายความว่า กองทุน A มีผลตอบแทนอยู่ระหว่าง 5th Percentile กับ 25th Percentile ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม “ตัวท็อป” แต่ก็ค่อนๆ ไปทางด้านบน

ความเสี่ยงอยู่ระหว่าง 75th Percentile กับ 95th Percentile ซึ่งถือว่าค่อนไปทางความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับกองทุนในกลุ่มเดียวกัน เพราะมีกองทุนอย่างน้อย 75 กองทุนจาก 100 กองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุน A

ขณะที่กองทุน B ที่มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงถึง 25.59% ติดกลุ่ม “ตัวท็อป” แต่ความเสี่ยงอยู่ที่ 14.97% จัดอยู่ในกลุ่ม “บ๊วย”

ถ้าต้องเลือกระหว่างกองทุน A กับกองทุน B เราจะเลือกกองทุนไหน หรือถ้าไปเจอกองทุน C หรือกองทุน D ที่พอเทียบกับข้อมูลนี้แล้ว ผลตอบแทนก็ไม่ดีแถมความเสี่ยงสูง เราจะตัดสินใจอย่างไร... ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้นอกจากตัวเราเอง