posttoday

ค้นหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้มนุษย์เงินเดือน

29 มิถุนายน 2557

สิ้นเดือนเหมือนจะสิ้นใจ!!! ความจริงที่แสนจะโหดร้ายของ “มนุษย์เงินเดือน”

สิ้นเดือนเหมือนจะสิ้นใจ!!! ความจริงที่แสนจะโหดร้ายของ “มนุษย์เงินเดือน” เพราะรายได้ที่ได้มาในแต่ละเดือนมันช่างน้อยนิดเหลือเกินเมื่อเทียบกับสารพัดรายจ่ายที่รออยู่ตรงหน้า

ยิ่งเพิ่มความเจ็บปวดมากขึ้นไปอีก เมื่อได้ยินใครๆ เขาพูดกันว่า มนุษย์เงินเดือนไม่มีวันรวย

ได้ยินแบบนี้มนุษย์เงินเดือนหลายคนจึงพยายามดิ้นรนอยากจะลาออกไปไล่ล่าหาความมั่งคั่งแบบเป็น “เจ้านายตัวเอง” บางคนก็ทำได้ดีกิจการรุ่งเรือง แต่บางคนก็ไปไม่รอด (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม)

เพราะฉะนั้น แทนที่จะเราจะรีบกระโดดออกไป ลองเริ่มจากการมองหา “อาชีพเสริม” เพื่อเพิ่มรายได้กันดูก่อน เพราะบางทีเราไม่จำเป็นต้องบอกลา “งานประจำที่รัก” ก็ทำให้ชีวิตมีความสุข มีรายได้มากกว่าหนึ่งทาง หรือถ้ากิจการไปได้ดีค่อยคิดจะโบกมือลาอาชีพมนุษย์เงินเดือนก็ยังไม่สายเกินไป

ว่าแต่ จะทำอะไร ทำอย่างไร (ให้ประสบความสำเร็จ)

คำถามนี้มีคำตอบจาก “K-Expert Workshop 3 ก้าว ค้นหาอาชีพเสริม สร้างรายได้อย่างมั่นใจ” โดยธนาคารกสิกรไทย

โดยมี ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหารงานพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล และนันท์นภัส จันทเสรีนนท์ ผู้เชี่ยวชาญงานให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคลอาวุโส ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย เป็นวิทยากร

ค้นหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้มนุษย์เงินเดือน

ก้าวที่ 1 : เริ่มจากสิ่งที่ชอบ

เดาเอาเองว่า “มนุษย์เงินเดือน” จำนวนไม่น้อยที่อยากมีรายได้เพิ่ม โดยไม่ต้องรอให้นายจ้างขึ้นเงินเดือน แต่พอเจอคำถามแรกก็ก้าวต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะอยากจะมีรายได้เพิ่ม แต่ไม่รู้จะเริ่มทำอะไรดี

ในเวิร์กช็อปของ K-Expert จึงเริ่มต้นด้วยคำถามแรกว่า “ทำอะไรดี” จาก 3 สิ่งนี้ คือ

1.ใจรัก

ตอบตัวเองได้หรือไม่ว่า เรารักหรือชอบที่จะทำอะไร มีความสุขกับการทำอะไร อะไรคืองานอดิเรกที่เราทำแล้วมีความสุข เพราะการเริ่มต้นจาก “ใจรัก” จะทำให้เราสามารถทำสิ่งนั้นได้นาน ทำโดยไม่รู้สึกเบื่อ ทำได้อย่างมีความสุข โดยไม่มีใครมาบังคับ

และใจรักก็ไม่จำเป็นต้องมีใจเดียว เพราะฉะนั้นเริ่มจากสำรวจตัวเองและจดลงไปในกระดาษว่า เราชอบทำอะไร ทำอะไรแล้วมีความสุข

2.ทักษะ

คำถามถัดมา คือ เรามีทักษะหรือความสามารถพิเศษอะไรที่จะนำมาพัฒนาเป็นอาชีพเสริมได้บ้าง เพราะทักษะหรือความสามารถจะทำให้เราเริ่มทำสิ่งนั้นเป็นอาชีพเสริมได้ง่ายกว่าสิ่งที่เราไม่มีทักษะอยู่เลย

บางคนอาจจะนึกถึงคำว่า “พรสวรรค์” แต่ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะเราสามารถสร้างและพัฒนาทักษะหรือความสามารถพิเศษขึ้นมาได้ ถ้าเราสนใจใฝ่รู้ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ความรู้มีอยู่ในโลกออนไลน์

แต่ที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ คือ เรามีทักษะ มีความสามารถ หรือ มีความชำนาญในสิ่งนั้นจริงๆ หรือไม่ ถ้ายังมีไม่มากพอก็ต้องเริ่มฝึกฝนอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้

3.ประสบการณ์

บางทีสิ่งที่เราพบ เราเห็น สิ่งใกล้ๆ ตัวที่เราเคยมองข้ามมันก็อาจจะกลายมาเป็นอาชีพเสริมให้เราได้ ไม่ว่าจะเป็น

ประสบการณ์จากการทำงานประจำ ทำให้เราทำงานประเภทนั้นได้ดี ก็สามารถนำมาต่อยอดเป็นอาชีพเสริมได้

ประสบการณ์จากการเดินทางไปต่างถิ่น ต่างประเทศ มีโอกาสได้พบได้เห็นสิ่งที่น่าจะนำมาพัฒนาเป็นอาชีพเสริมในท้องถิ่นของเราได้

ประสบการณ์จากการพยายามแก้ปัญหาของตัวเราเอง จนเกิดเป็นช่องทางสร้างรายได้ เช่น คนอ้วนที่หาเสื้อผ้าใส่ยากก็ลุกขึ้นมาออกแบบเสื้อผ้าที่เหมาะกับคนอ้วน

หลังจากเขียนสิ่งที่เรามีใจรัก มีทักษะ และมีประสบการณ์ ออกมาได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะแปลงสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นช่องทางหารายได้ โดยอาจจะใช้ “สมการอาชีพเสริม” ของ KExpert คือ

ความชอบ หรือ แรงบันดาลใจ + ทักษะ ประสบการณ์ หรือ ทรัพยากรที่มี = อาชีพเสริมตัวอย่างของ สมการอาชีพเสริม คือ ชอบทำอาหารไทย + มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ = เปิดสอนชาวต่างชาติทำอาหารไทย

จากสมการอาชีพเสริม น่าจะทำให้เราเห็นโอกาสสร้างรายได้เพิ่มสัก 56 อาชีพ แต่เราต้องคัดกรองออกให้เหลือเพียงแค่ 23 อาชีพที่เราสนใจอย่างจริงจัง หรืออาชีพที่เราอยากทำมากที่สุด จากนั้นก็ไปศึกษาเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ของแต่ละอาชีพ

ก้าวที่ 2 : เลือกรูปแบบที่ใช่

เมื่อรู้แล้วว่าจะทำอะไรเป็นอาชีพเสริม ก็มาเจอกับคำถามต่อไป คือ “แล้วจะทำแบบไหนดี”

ใน K-Expert Workshop แบ่งรูปแบบของอาชีพเสริมเป็น 3 แบบ คือ

1.ทำเพื่อขาย ซึ่งเป็นแบบที่เราเป็นผู้ผลิตสินค้าออกมาขาย เช่น ทำขนม ทำร้านกาแฟ ซึ่งคำถามสำคัญในข้อนี้ คือ “มีเงินทุนเริ่มต้นเท่าไร” เพราะในรูปแบบนี้จะใช้เงินทุนมากกว่ารูปแบบอื่นๆ

2.ซื้อมาขายไป ถ้าคิดจะทำในรูปแบบนี้ต้องรู้ว่า ตอนนี้ “เทรนด์” อะไรกำลังมา และเราตามทันเทรนด์อยู่ตลอดเวลาหรือไม่ และที่สำคัญ คือ เราต้องสต๊อกสินค้าหรือไม่ เพราะสินค้าค้างสต๊อกคือ จุดตายของอาชีพเสรีในรูปแบบนี้

3.บริการ เป็นรูปแบบที่ใช้ต้นทุนต่ำ และไม่ต้องกังวลเรื่องสต๊อกสินค้า แต่คำถามสำคัญ คือ เรามีความสามารถในด้านนั้นจริงๆ หรือไม่ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ลูกค้าบอกต่อ

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคิด คือ “ช่องทางขาย” ซึ่งมีทั้งการขายด้วยตนเอง ขายผ่านออนไลน์ หรือขายแบบมีหน้าร้าน ซึ่งทั้งสามช่องทางจะเหมาะกับธุรกิจที่แตกต่างกัน

แต่ช่องทางที่ได้รับความนิยมในตอนนี้ก็หนีไม่พ้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ Social Network ที่ใช้เงินลงทุนน้อยแต่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มาก โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน

ก้าวที่ 3 : เดินหน้าอย่างมั่นใจ

จะทำอะไรก็รู้แล้ว จะทำอย่างไรก็รู้แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ (ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม) K-Expert แนะนำ “ปัจจัยความสำเร็จ” ไว้ 5 ข้อ คือ

1.รู้จุดแข็งของอาชีพเสริม เข้าใจเงื่อนไขความสำเร็จของอาชีพนั้น ทั้งการรู้ว่าอาชีพที่เลือกจะเข้มแข็งและแข่งขันได้ดีต้องดีต้องเด่นที่ไหนบ้าง

2.เข้าใจตลาด ค้นหา ทำความเข้าใจ ความต้องการของลูกค้าและตลาดอย่างถ่องแท้

3.ค่อยเป็นค่อยไป ควรเริ่มต้นเล็กๆ อย่าทำอะไรเกินตัว เริ่มจากสิ่งที่มั่นใจและแสวงหาโอกาสต่อยอด

ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ พัฒนาทักษะไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบกระจายข่าวให้ใครรู้มากนัก

เพราะมนุษย์เงินเดือนที่ฝันอยากจะมีอาชีพเสริมจะต้องเจออยู่เป็นประจำ คือ “ฝ่ายค้าน” ที่จะคอยบอกว่า “เธอทำไม่ได้หรอก” ซึ่งบางทีก็มาในรูปของ “ผู้หวังดี” บางทีก็มาในแบบของ “ศัตรูตัวร้าย” แต่ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนก็ทำให้ใจเราไขว้เขวไปได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าคิดจะเดินหน้าต้องเดินด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง และอย่าให้ใครมาบอกว่า “เป็นไปไม่ได้”

4.รักษาคุณภาพและความเชื่อมั่นที่ลูกค้าจะมีต่อธุรกิจ ใส่ใจในรายละเอียดและปรับปรุงคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ

5.จัดสรรทั้งเวลาอย่าให้การทำอาชีพเสริมไปกระทบกับอาชีพหลัก (ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด) และแยกส่วนตัวออกจากเงินที่ใช้ทำธุรกิจออกจากกัน

ในการทำอาชีพเสริม (หรือแม้แต่คนที่ทำกิจการส่วนตัว) มักจะเจอปัญหา “เงินทุนหมุนเวียน”

บางทีเราก็ซื้อวัตถุดิบหรือซื้อสินค้ามาขายด้วยเงินสด แต่ใช้เวลานานกว่าจะได้รับเงินจากลูกค้าทำให้เงินทุนจมอยู่กับสินค้า ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน สุดท้ายต้องหมุนเงินจากบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ทำให้กลายเป็นหนี้ก้อนโต และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ก็ไม่คุ้มกับรายได้ที่ได้รับ

เพราะฉะนั้น ถ้าคิดจะทำอาชีพเสริม อย่ากู้เงินมาลงทุน อย่าใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลในการทำธุรกิจ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้มีรายได้เพิ่มแล้ว ยังอาจจะเป็นหนี้หัวโตก็ได้