posttoday

ลูกน้องจน เจ้านายเจ็บ

04 พฤษภาคม 2557

เพิ่งจะผ่านวันแรงงานมาหมาดๆ น่าจะยังไม่เชยเกินไปที่จะบอกนายจ้างทั้งหลายว่า “อย่าปล่อยให้ลูกจ้างจน”

เพิ่งจะผ่านวันแรงงานมาหมาดๆ น่าจะยังไม่เชยเกินไปที่จะบอกนายจ้างทั้งหลายว่า “อย่าปล่อยให้ลูกจ้างจน” เพราะในท้ายที่สุด “นายจ้างจะเจ็บ”

นี่ไม่ใช่คำขู่ แต่มันคือความจริงที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว

ลูกน้องจน... เครียด

จากการสำรวจแรงงานไทยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท จำนวน 1,200 คน ระหว่างวันที่ 17-21 เม.ย. 2557 เรื่อง “สถานภาพแรงงานไทย” โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำให้เห็นว่า แรงงานไทยเครียดเรื่องเงินมาเป็นอันดับต้นๆ

และเรื่องที่แรงงานไทยบอกว่า กังวลมากที่สุด คือ ภาระหนี้สิน โดยมีคนตอบว่า “กังวลมาก” สูงถึง 76.7% รองลงมาเป็นความกังวลเรื่องรายได้ 72.9% และอันดับสาม คือ กังวลเรื่องราคาสินค้าในปัจจุบัน 63.1%

74.3% บอกว่า ในรอบปีที่ผ่านมา พวกเขามีปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ก็เพราะข้าวของราคาแพงขึ้น รายได้ยังลดลงอีก

76.1% ยอมรับว่า ไม่มีเงินออม ในขณะที่ 23.9% มีการออมเงินในอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 14.1% ของรายได้

93.7% มีหนี้ และที่น่าตกใจ คือ ส่วนใหญ่ (46.6%) เป็นการกู้เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

แต่ละครอบครัวของแรงงานกลุ่มนี้มีจำนวนหนี้เฉลี่ย 106,216 บาทต่อครัวเรือน (มากที่สุดในรอบ 6 ปี) เป็นหนี้ทั้งในระบบและหนี้นอกระบบ โดยมีภาระการผ่อนชำระเฉลี่ยเดือนละ 6,639 บาท

แล้วแบบนี้จะไม่ให้เครียดได้อย่างไร

จริงๆ แล้ว ความเครียดที่เกี่ยวกับการเงิน มีตั้งแต่เครียดเรื่องการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ภาระหนี้ ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเทอมลูก ฯลฯ แถมยังเครียดแบบไม่ได้จำกัดรายได้ ไม่สนใจว่าจะเป็นลูกจ้างระดับไหน อายุเท่าไร ตำแหน่งอะไร

โอ๊ย! เครียด เครียด เครียด

เจ้านายเจ็บ... ที่สุด

ก็เตือนกันไว้แล้วว่า อย่าปล่อยให้ “ลูกน้องจน... เครียด” เพราะเมื่อใดก็ตามที่ลูกน้อง ลูกจ้าง หรือพนักงานในบริษัทเกิดอาการเครียด โดยเฉพาะเครียดจากปัญหาทางการเงิน ให้เตรียมรับหายนะที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทไว้ได้เลย เพราะความเครียดเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ แบบนี้จะย้อนกลับมาเป็นผลลบต่อบริษัท

ลูกน้องจน เจ้านายเจ็บ

การสำรวจหลายชิ้นในต่างประเทศได้ผลออกมาตรงกันว่า ความเครียดด้านการเงินของพนักงานจะส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างน้อย 4 เรื่อง ต่อไปนี้

1.ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

แทนที่จะใช้เวลาทุ่มเทในการทำงาน พนักงานที่เครียดเรื่องเงินจะใช้เวลาช่วงหนึ่งในระหว่างการทำงานไปกับการคิดวิธีแก้ปัญหาการเงิน และใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น

งานวิจัยที่ได้รับการกล่าวอ้างถึงอยู่เสมอ คือ งานของ โทมัส การ์แมน เมื่อปี 2004 ซึ่งเขาพบว่า พนักงานที่มีปัญหาทางการเงินจะใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงต่อเดือน ในการจัดการกับปัญหาการเงิน

ขณะที่การสำรวจ เรื่อง Employee Financial Wellness Survey 2013 โดย ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส ได้ผลออกมาใกล้เคียงกัน คือ 19% ของพนักงานที่มีปัญหาด้านการเงินยอมรับว่า ในระหว่างการทำงานพวกเขาใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง ไปกับการคิดหาวิธีจัดการด้านการเงิน และการเจรจากับเจ้าหนี้

พนักงานใน GEN X (อายุ 33-54 ปี) 32% ยอมรับว่า ปัญหาด้านการเงินทำให้เสียสมาธิในการทำงาน ซึ่งมากกว่าพนักงานใน GEN Y (อายุ 22-32 ปี) ที่มีประมาณ 19% ถูกรบกวนจากปัญหาการเงิน และพนักงานในกลุ่ม Baby Boomers (อายุมากกว่า 54 ปี) มีประมาณ 16% ที่ปัญหาการเงินมากวนใจในระหว่างการทำงาน

แต่จากการสำรวจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า พนักงานจะถูกปัญหาการเงินกวนใจในระหว่างการทำงาน ในสัดส่วนไม่ต่างกัน คือ ประมาณ 20-30%

อย่างไรก็ตาม ในรายงานเรื่อง Financial Wellness : Addressing the ‘9 to 5’ Impact of 24/7 Financial Stress ในเว็บไซต์ PurchasingPower.com ได้ผลออกมาว่า มีพนักงานถึง 44% ที่บอกว่า พวกเขาคิดกังวลเรื่องเงินในระหว่างการทำงาน และ 46% บอกว่า ในเวลาทำงาน พวกเขาใช้เวลาจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ของพวกเขาประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

แต่ที่แย่กว่านั้น คือ พนักงานบางคนจะลาป่วยบ่อย หยุดงานเป็นประจำ ซึ่งบางส่วนเป็นผลมาจากความเครียด แต่บางส่วนต้องพยายามหลบหน้าเจ้าหนี้

2.มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุและความผิดพลาด

เดาได้ไม่ยากเลยว่า ทำไมลูกจ้างที่มีปัญหาด้านการเงินจะทำให้เกิดอุบัติเหตุในที่ทำงานได้มากขึ้น เพราะเมื่อเกิดความเครียด จะวิตกกังวล ใจลอยคิดหาวิธีแก้ปัญหาการเงิน ไม่มีสมาธิกับการทำงานจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะพนักงานในระดับปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ความเครียดที่เกิดขึ้นยังทำให้พนักงานอารมณ์ร้อน ฉุนเฉียวง่าย ทำให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานได้ง่าย

มีการศึกษาความเชื่อมโยงกันระหว่างความเครียดกับการทำงาน (เว็บไซต์ stress.org/job) พบว่า 60-80% ของอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดในการทำงาน มีความเชื่อมโยงกับความเครียด

ในกรณีแบบนี้ นอกจากจะทำให้งานเสียหาย ทรัพย์สินเสียหายแล้ว ยังอาจจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ที่ร้ายกว่าการเกิดอุบัติเหตุผิดพลาดแบบไม่ตั้งใจ และการโมโหฉุนเฉียว คือ ความพยายามจะฉ้อโกง หรือยักยอกเงินบริษัทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ ซึ่งกรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นและเป็นข่าวอยู่หลายครั้งที่ลูกจ้างฉ้อโกงจนทำให้บริษัทและลูกค้าเสียหาย

3.เพิ่มต้นทุนในด้านการรักษาพยาบาล

มีการศึกษาพบว่า 75-90% ของคนที่ไปพบแพทย์มีสาเหตุมาจากเรื่องเดียวกัน คือ ความเครียด

ไอส์โม เฮกกิลา นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ของ T.E. Wealth ประเทศแคนาดา บอกว่า จากการสำรวจโดยเปรียบเทียบระหว่างลูกจ้างที่มีภาระหนี้สูงกับลูกจ้างที่มีหนี้ต่ำ พบความแตกต่างด้านสุขภาพที่มีสาเหตุมาจากความเครียดอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว ไมเกรน วิตกกังวล นอนไม่หลับ ความดันสูง ปวดหลัง ปวดเอว โรคกระเพาะ ไปจนถึงโรคหัวใจ

ลูกจ้างที่มีภาระหนี้มากจะมีอาการปวดหัวและเป็นไมเกรน 44% ขณะที่ลูกจ้างที่มีหนี้น้อยจะมีอาการพวกนี้เพียง 15%

ลูกจ้างที่มีภาระหนี้มากมักจะนอนไม่หลับ ประมาณ 23% ขณะที่ลูกจ้างที่มีหนี้น้อยจะนอนไม่หลับแค่ 4% เท่านั้น

ลูกจ้างที่มีภาระหนี้มากปวดหลัง ปวดเอว แบบเรื้อรัง มากถึง 51% ขณะที่ลูกจ้างที่มีหนี้น้อยจะมีอาการนี้ประมาณ 31%

ลูกจ้างที่มีภาระหนี้มากมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ ประมาณ 6% ขณะที่ลูกจ้างที่มีหนี้น้อยจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจอยู่ 3%

4.พนักงานลาออกบ่อยๆ

การมีหนี้เกินความสามารถจะชำระได้ นอกจากจะเครียดเพราะไม่รู้จะหาเงินจากไหนไปจ่ายหนี้แล้ว ลูกหนี้จำนวนมากยังรู้สึกอับอายจากการถูกทวงหนี้ โดยเฉพาะในช่วงก่อนหน้านี้ สำนักงานทวงหนี้ยังใช้วิธีการ “ประจาน” ให้อาย

ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์มาทวงถามวันละหลายสิบรอบ ถ้ารอบไหนโทรมาไม่เจอตัวก็จะฝากข้อความไว้กับเพื่อนร่วมงาน ส่งแฟกซ์มาทวงหนี้กันดื้อๆ ส่งไปรษณียบัตรประทับตราตัวใหญ่ๆ เร่งให้ชำระหนี้ หรือเตือนว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดี

พนักงานหลายคนจึงเลือกจะหนีหนี้ไปทำงานที่อื่น แต่ก็มารู้ตัวทีหลังว่า หนีไม่พ้น

ร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหา

เพราะ “หนี้ของลูกน้อง คือ ปัญหาของเจ้านาย” เพราะฉะนั้นเจ้านายควรจะสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นในองค์กร จำเป็นต้องมีการจัดกิจกรรม จัดอบรม เพื่อช่วยให้ลูกน้องแก้ปัญหาหนี้ ปัญหาด้านการเงิน พร้อมกับเรียนรู้การบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลไปด้วย

และการจัดให้มีการอบรมเรื่องการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลให้ลูกน้องจะไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน เพราะ The Personal Finance Employee Education Foundation (PFEEF) สหรัฐอเมริกา พบว่า ทุกๆ 1 บาท ที่นายจ้างใช้ไปในการจัดอบรมด้านการเงินให้กับพนักงานในองค์กร บริษัทจะได้ประสิทธิภาพงานกลับมาเท่ากับ 3 บาท

หรือคิดเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ในสัดส่วน 3:1

เรียกว่า เมื่อลูกน้องไม่จน ไม่เครียด เจ้านายก็แฮปปี้ไปด้วย เพราะฉะนั้น “อย่าปล่อยให้ลูกน้องจน”