posttoday

บัตรเครดิต: ปัจจัยที่ 5 ของคนเมืองกรุง? (ตอนที่ 2)

08 เมษายน 2557

โดย...MoneyGuru.co.th

โดย...MoneyGuru.co.th

ทุกอย่างย่อมมีทั้งคุณและโทษ ไม่เว้นแม้แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ชีวิตประจำวันของเราอย่างบัตรเครดิต แต่จะเป็นคุณหรือโทษนั้นเราสามารถเลือกได้ด้วยการควบคุมการใช้งานของตนเอง  อุปมาดั่งเหรียญที่มีสองด้านและดาบที่มีสองคมการใช้บัตรเครดิตอย่างผิดวิธีสามารถนำโทษมายังผู้ใช้เสมอ

ปัญหาหนี้สินเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะแยกไม่ออกจากสังคมในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างเติบโตอย่างรวดเร็ว จากสถิติของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. เมื่อปลายปี 2556ที่ผ่านมา มีสถิติการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินเชื่อและบัตรเครดิตพุ่งสูงกว่าทุกด้าน รวม 3 ไตรมาส เป็นจำนวนกว่า 51,709 ราย รวมข้อมูลปัญหาซึ่งบันทึกไว้กว่า 18,625 เรื่อง โดยคิดเป็นคำขอปรึกษา 17,632กรณี ร้องเรียน 889 กรณี และแจ้งเบาะแสอีก 75 กรณี ซึ่งใน 889กรณีที่ได้รับการร้องเรียนนั้น กว่าร้อยละ 55 เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการบริการทางการเงินซึ่งส่วนมากเป็นบริการสินเชื่อและบัตรเครดิต และสถิติการร้องเรียนเรื่องบัตรเครดิตนั้นสูงที่สุดในจำนวนผลิตภัณฑ์สินเชื่อทั้งหมด ซึ่งปัญหาหลักที่ถูกร้องเรียนคือเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เนื่องด้วยลูกค้าขาดความสามารถในการชำระหนี้ สถิติในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาบางอย่างในสังคมยุคปัจจุบันว่า คนมักใช้เงินเกินกว่าที่มี ด้วยการดึงเงินในอนาคตมาใช้ผ่านบัตรเครดิต จนกลายเป็นพฤติกรรมปกติในสังคมไปเสียแล้ว

เมื่อราว2ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ธนาคารยักษ์ใหญ่สามแห่งซึ่งก็คือธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลาม และธนาคารกรุงไทย ร่วมมือกันออกโปรแกรมรีไฟแนนซ์เพื่อช่วยลดหนี้บัตรเครดิต โดยเป็นการให้ลูกหนี้กู้เพื่อนำเงินไปชำระยอดหนี้สินบัตรเครดิตให้เต็มจำนวน พร้อมทั้งยกเลิกบัตรเครดิตใบดังกล่าว โดยที่ดอกเบี้ยซึ่งทางธนาคารจะคิดสำหรับเงินกู้ก้อนนี้คิอเป็น MRR + ร้อยละ2.5 หรือนับเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 10 ซึ่งน้อยกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตทั่วไปถึงสองเท่า ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารออมสินในปี 2554 ได้มีการแจงถึงยอดรีไฟแนนซ์ในโครงการลดหนี้บัตรเครดิตดังกล่าวที่สูงถึง 5,793 ราย รวมเป็นวงเงินกว่า 749 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหนี้สินบัตรเครดิตในประเทศไทยอย่างชัดเจน

กระทั่งในปีที่ผ่านมา จากรายงานเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2556 ได้ระบุว่ายอดหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 12 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ชนชั้นกลางก่อหนี้บัตรเครดิตและชำระคืนแค่ขั้นต่ำ โดยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ระบุว่าประชาชนกว่าร้อยละ 71.5 ระบุว่ามีปัญหาเรื่องรายรับไม่พอกับรายจ่าย เป็นเหตุให้ต้องกู้ยืมจากหลายช่องทาง รวมทั้งบัตรเครดิต เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเพื่อการลงทุน อีกทั้งสัดส่วนของประชาชนที่เป็นหนี้ครัวเรือนมีสูงถึงร้อยละ 64.6 นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี ส่งผลให้มูลค่าหนี้สินในครัวเรือนของปี 2556 สูงถึง 1.88 แสนล้านบาท ขยายตัวกว่าร้อยละ 12 จากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ข้อมูลจากการวิจัยยังพบว่าอัตราการกู้หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35 สาเหตุหลักคือรายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และหนี้สินที่มีอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาหนี้สินเรื้อรังที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จากการกู้หนี้เพื่อจ่ายหนี้ กลายเป็นวัฏจักรอย่างไม่จบสิ้น

คำถามคือ เราควรแก้ปัญหาอย่างไร? แท้จริงแล้วการแก้ปัญหานั้นอยู่กับตัวผู้ใช้เอง เพราะการแก้อยู่ที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายและการบริหารเงินส่วนบุคคล ต่อให้หาเงินได้มากขึ้นแต่หากผู้ใช้ไม่มีระเบียบวินัยในการใช้ก็ไม่อาจช่วยแก้ปัญหาได้ ทางแก้เบื้องต้นที่ไม่ว่าใครก็เริ่มทำได้คือ:

1. การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ลองลิสต์ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนว่าต้องเสียเงินกับอะไรบ้าง และอะไรคือสิ่งที่จำเป็นจริงๆ สามารถปรับไปใช้สินค้าที่ทดแทนกันได้แต่มีราคาถูกลงได้หรือไม่

2. ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อตรวจสอบว่าได้ใช้เงินไปเท่าไหร่แล้วในเดือนนี้ และเพื่อเพิ่มความยับยั้งชั่งใจเมื่อเห็นว่าได้ใช้เงินเกินงบประมาณ

3. ชำระหนี้บัตรเครดิตให้ครบถ้วนตามจำนวนที่ใช้ไปทุกรอบบิล และควรทำให้เป็นนิสัย เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตสามารถขึ้นสูงถึงร้อยละ 20 ซึ่งจะซ้ำเติมสภาวะหนี้สินขึ้นไปอีก

4. อย่าใช้บัตรเครดิตกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและห้ามใช้บัตรเครดิตกดเงินสด ในกรณีที่มีหนี้สินสูงอยู่แล้ว เพราะการใช้หนี้ให้ครบเมื่อหมดรอบบิลถือเป็นเรื่องสำคัญ

ปัญหาหนี้สินอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานจนอาจกลายเป็นเรื่องปกติ แต่หนี้สินเรื้อรังนั้นนอกจากจะลดความน่าเชื่อถือแล้วยังเป็นการลดคุณภาพชีวิตอีกด้วย ยิ่งหนี้สินมากผู้บริโภคก็ถูกบีบบังคับให้หันไปหาหนี้สินนอกระบบซึ่งทั้งอันตรายและมีดอกเบี้ยสูง เพราะฉะนั้นการจัดระเบียบวินัยทางการเงินเริ่มเสียตั้งแต่วันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่ว่าใครก็ปฏิบัติได้ และควรปฏิบัติ เพื่อคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีขึ้น
 
ขอบคุณเนื้อหาจาก

บัตรเครดิต: ปัจจัยที่ 5 ของคนเมืองกรุง? (ตอนที่ 2)