posttoday

ยิ่งเรียน ยิ่งรู้ ยิ่ง(มีโอกาส)รวย

17 มีนาคม 2557

จริงๆ แล้วอยากจะให้ชื่อบทความตอนนี้ว่า “Learn More, Earn More” เพราะไม่ใช่แค่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นเท่านั้นที่จะทำให้เรามีรายได้สูงขึ้น แต่การเรียนรู้ไปตลอดชีวิตต่างหากที่ทำให้มีโอกาสรวยมากขึ้น

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

จริงๆ แล้วอยากจะให้ชื่อบทความตอนนี้ว่า “Learn More, Earn More” เพราะไม่ใช่แค่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นเท่านั้นที่จะทำให้เรามีรายได้สูงขึ้น แต่การเรียนรู้ไปตลอดชีวิตต่างหากที่ทำให้มีโอกาสรวยมากขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนน่าจะได้เห็นคำแนะนำสู่เส้นทางความมั่งคั่งของ ลี กาชิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง (บทความเรื่อง Hong Kong Billionare Li KaShing Teach You How To Buy A Car & House In 5 Years ซึ่ง CeoConnectz.com นำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ)

แม้ชื่อเรื่องจะบอกว่าเป็นการสอนให้เราสามารถซื้อบ้านและรถได้ภายใน 5 ปี แต่หลักใหญ่ใจความ คือ การวางแผนในการพัฒนาตัวเองจากความจนไปสู่ความร่ำรวยภายใน 5 ปี โดย ลี กาชิง แนะนำให้แบ่งเงินออกเป็น 5 ส่วน

ส่วนแรก 30% ของรายได้ แบ่งไว้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ส่วนที่สอง 20% ของรายได้ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสังคม เป็นการสร้างมิตร

ส่วนที่สาม 15% ของรายได้ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนรู้ ซึ่ง ลี กาชิง ย้ำหนักหนาว่า ไม่ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร ก็ต้องไม่ลืมที่จะเพิ่มเงินลงทุนเพื่อการพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนที่สี่ 10% ของรายได้ เตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ เพื่อเปิดหูเปิดตา หาประสบการณ์ใหม่ๆ และยังเป็นการให้รางวัลกับตัวเองอีกด้วย

ส่วนที่ห้า 25% ของรายได้ แนะนำให้เก็บออมไว้เพื่อใช้ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ

ยิ่งเรียน ยิ่งรู้ ยิ่ง(มีโอกาส)รวย

 

หากนำสัดส่วนรายจ่ายตามคำแนะนำของ ลี กาชิง มาเปรียบเทียบกับ “ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนของไทย” เมื่อปี 2555 ซึ่งสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะเห็นว่า แตกต่างกันลิบลับ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งคนไทยโดยเฉลี่ยใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์นี้เพียง 2% ของรายได้เท่านั้น

แต่ยังถือว่าเกือบจะใกล้เคียงกับกฎของ ไบรอัน เทรซี่ ปรมาจารย์ทางด้านการพัฒนาตนเอง ที่บอกว่า ถ้าอยากรวย หรืออยากจะเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ต้องลงทุนเพื่อการพัฒนาตัวเอง โดยใช้เงินอย่างน้อย 3% ของรายได้

ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่ลงทุนในการพัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยบอกว่าในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เขาใช้เงินลงทุนไปประมาณ 1 ล้านบาท

“งบประมาณที่ใช้ไปตลอด 3 ปีนั้น ถือว่าคุ้มมาก แต่การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตัวเองยังไม่จบ จะต้องเรียนรู้และพัฒนาไปเรื่อยๆ ทีละนิด เหมือนกับนักดนตรีระดับโลกก็จะต้องฝึกฝนกันวันละ 8 ชั่วโมง เป็นสิบปีกว่าที่จะเก่งขึ้นมาได้” ประภาส กล่าว

พัฒนาตัวเอง... พัฒนาด้านไหน

นั่นสิ ถ้าจะต้องลงทุนเพื่อการพัฒนาตัวเอง เราควรจะพัฒนาอะไร พัฒนาแบบไหน ถึงจะทำให้มีโอกาสมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในต่างประเทศมีคำแนะนำให้ลงทุนเพื่อการพัฒนา 3 ด้านต่อไปนี้ คือ

1.พัฒนารูปลักษณ์ภายนอก

เพราะสิ่งแรกที่จะสร้างความประทับใจเมื่อแรกเห็น คือ รูปลักษณ์ภายนอก และรูปลักษณ์ที่ดียังสร้างความมั่นใจในตัวเองได้อีกด้วย

การพัฒนาตัวเองในด้านนี้ อาจจะเริ่มตั้งแต่การพัฒนาบุคลิกภาพ การลงทุนซื้อสูทดีๆ สักตัว การปรับ “ลุค” ให้ดูดีมากขึ้น รวมไปถึงการปรับเวลาการตื่นนอนให้เร็วขึ้นอีกสัก 10-15 นาที เพื่อให้มีเวลาดูแลเสื้อผ้าหน้าผมให้พร้อมก่อนออกจากบ้าน

2.พัฒนาทักษะด้านต่างๆ

อาจจะเป็นทักษะเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานประจำ เพราะแม้ว่าเราจะสามารถเรียนรู้การทำงานจากประสบการณ์ในแต่ละวัน แต่ทุกวันนี้โลกหมุนเร็วขึ้น มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นคนที่หยุดอยู่กับที่ก็เท่ากับกำลังถอยหลังแล้ว

ทักษะอีกประเภทหนึ่งที่ควรจะพัฒนา คือ ทักษะที่ทำให้เราเดินตามความฝัน ซึ่งอาจจะเริ่มจากการทำเป็นงานอดิเรก และค่อยๆ พัฒนาจนเป็นอาชีพเสริม และไม่แน่ว่าทักษะที่เรียนรู้เพิ่มนี้จะกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้แซงหน้างานประจำ

นอกจากนี้ อย่าลืมเรียนรู้ทักษะด้านการเงิน การลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เงินงอกเงยขึ้นมาด้วย

3.พัฒนาสุขภาพ

ไม่ว่าจะการออกกำลังกาย การดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย สุขภาพในช่องปาก การทำดีทอกซ์ และการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

เชื่อได้เลยว่า การพัฒนาทั้ง 3 ด้านนี้ ใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้วว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เริ่มต้นสักที ประภาสจึงแนะนำการพัฒนาอีกด้านหนึ่ง คือ

4.พัฒนาความคิดและจิตใจ รวมถึงการปฏิบัติธรรม

“กระบวนการคิดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าคนเราจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนเดิม จะต้องเริ่มมาจากความคิดที่ไม่เหมือนเดิม แต่ความคิดเป็นสิ่งที่เป็นอัตโนมัติเกิดขึ้นเร็วมากจนเราแทบจะไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกที่จะพัฒนาศักยภาพทางความคิด” ประภาส กล่าว

แต่ไม่ว่าจะลงทุนเพื่อพัฒนาตัวเองในด้านไหนก็ตาม เจ.ดี. รูธ บรรณาธิการเว็บไซต์ GetRichSlow.com แนะนำว่า ควรจะเลือกโฟกัสไปที่การพัฒนาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ทุ่มเทจริงจังมากกว่าที่จะเรียนแบบสะเปะสะปะ เพราะเขาบอกว่าความพยายามที่จะเรียนรู้หลายๆ ด้านพร้อมกันมันจะเป็นหายนะ เพราะในที่สุดก็ไม่มีการพัฒนาอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ รูธยังแนะนำอีกว่า อะไรที่คิดว่าเรียนแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ อย่าไปเสียเงินเรียน เพราะในที่สุดมันจะเป็นการลงทุนที่ไร้ค่า

เช่นเดียวกับที่ ลี กาชิง แนะนำ คือ “คุณจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต และรู้ว่าอะไรที่มีค่าพอที่จะเข้าไปลงทุน”

เพราะการลงทุนเพื่อพัฒนาตัวเองก็เหมือนกับการลงทุนด้านอื่นๆ คือ มีความเสี่ยงที่อาจจะขาดทุน โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่มีต้นทุนสูงมากๆ

พัฒนาตัวเอง... พัฒนาอย่างไร

น่าจะเป็นโชคดีของพวกเราที่เกิดมาในยุคที่แหล่งความรู้มีอยู่ทุกซอกมุม เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่า หากต้องการจะพัฒนาตัวเอง จะต้องทำอย่างไร

หนังสือ คือ จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด เพราะในปัจจุบันมีหนังสือที่เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองจำนวนมากในหลากหลายประเภท เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาหนังสือดีๆ สักเล่มที่เราพร้อมจะยอมควักกระเป๋าลงทุนหามาอ่าน

นอกจากหนังสือเป็นเล่มๆ แล้ว ข้อมูลความรู้ในโลกออนไลน์ก็มีมากมายให้เราเลือกอ่านเลือกดู และที่พิเศษ คือ ความรู้ส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์เป็นของฟรี เพราะฉะนั้นที่ต้องลงทุนก็เพียงแค่ค่าอินเทอร์เน็ตกับเวลาที่เราจะจมอยู่ในโลกออนไลน์เท่านั้น

แต่การอ่านเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้อรรถรสเท่ากับการได้เข้าไปนั่งฟังสัมมนา การเข้าคอร์สอบรม การเข้าร่วมเวิร์กช็อปในด้านต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสน

ประภาส กล่าวว่า หลักสูตรเพื่อการพัฒนากระบวนการความคิดนี้มีค่อนข้างมากในปัจจุบัน ทั้งหลักสูตรที่มาจากต่างประเทศ และโค้ชในประเทศไทย ซึ่งหากเป็นหลักสูตรจากต่างประเทศอาจจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ในหลักหมื่นบาทต่อหลักสูตร

ขณะที่ ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Stock2morrow (นอกจากจะเป็นสำนักพิมพ์หนังสือด้านการลงทุนและการพัฒนาตัวเองแล้ว ยังเปิดคอร์สอบรมด้านการลงทุนและการพัฒนาตัวเอง ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะอยู่ในหลักพัน) แนะนำว่า การเข้าร่วมสัมมนาที่มีค่าใช้จ่ายสูงๆ ผู้เรียนจะต้องพิจารณาให้ดี

“คอร์สแพงๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป โดยมากแล้วค่าใช้จ่ายในการจัดงานสัมมนาจะอยู่ที่ 2,500-3,000 บาทต่อวัน รวมอาหารกลางวัน และอาหารว่างช่วงพักรอบเช้าและบ่าย แต่หากการสัมมนาที่คิดค่าใช้จ่ายเป็นหมื่นเป็นแสนต่อวัน ก็ต้องไปดูว่า สิ่งที่ได้จากการเรียนมีค่ามากกว่าแสนหรือไม่ ถ้าสิ่งที่ได้มากกว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนก็น่าสนใจ” ปิยพันธ์ กล่าว

นอกจากนี้ ปิยพันธ์ บอกว่า “การเรียนเป็นแค่จุดเริ่มต้นในการเข้าสังคมใหม่ๆ”

สังคมใหม่ที่เกิดมาจากการเข้าสัมมนาต่างๆ นี้ จะเป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจสิ่งเดียวกัน และหากรวมกลุ่มกันไว้อย่างเหนียวแน่นจะยังช่วยเป็นแรงผลักดันให้เราเดินหน้าไปถึงความสำเร็จที่ตั้งใจไว้ได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอ่านหนังสือเป็นร้อยๆ เล่ม เข้าสัมมนาเป็นสิบๆ ครั้ง แต่ก็อาจจะไม่ได้ทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้เสมอไป ถ้าไม่เกิดการลงมือทำ

“คนส่วนใหญ่จะติดอยู่ใน Comfort Zone ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สบาย แต่การพัฒนาตัวเองจะต้องพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สบาย เพราะถ้าเรารู้ทุกอย่าง แต่ไม่เคยลงมือทำ ผลมันก็จะไม่เกิดขึ้น และการกระทำของเรายังอยู่แค่ในพื้นที่สบายของเรา หรือว่าขยายพื้นที่ออกไปในสิ่งที่ไม่เคยทำ ทำในสิ่งใหม่ เพราะถ้าเราทำอะไรแบบเดิมๆ ผลลัพธ์ก็ออกมาเหมือนเดิม” ประภาส กล่าว

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากมีชีวิตไม่เหมือนเดิม ต้องลงมือทำในสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม