posttoday

เป็นเศรษฐี...ดีอย่างนี้นี่เอง(ตอน 1)

04 มีนาคม 2557

สารภาพตามตรงว่า ตื่นเต้นกับจำนวนเงิน 11 ล้านล้านบาทที่คนทั้งประเทศฝากอยู่กับธนาคารพาณิชย์ไทยมากๆ เพราะถ้าคนไทยมีเงินฝากมากมายมหาศาลขนาดนี้ก็แปลว่า จริงๆ แล้วคนไทยก็จัดอยู่ในขั้นมีอันจะกินอยู่เหมือนกัน

สารภาพตามตรงว่า ตื่นเต้นกับจำนวนเงิน 11 ล้านล้านบาทที่คนทั้งประเทศฝากอยู่กับธนาคารพาณิชย์ไทยมากๆ เพราะถ้าคนไทยมีเงินฝากมากมายมหาศาลขนาดนี้ก็แปลว่า จริงๆ แล้วคนไทยก็จัดอยู่ในขั้นมีอันจะกินอยู่เหมือนกัน

เป็นเศรษฐี...ดีอย่างนี้นี่เอง(ตอน 1)

 

และเมื่อล้วงลึกลงไปถึงจำนวนเงินฝากแต่ละบัญชี ยิ่งทำให้ตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก เพราะมีอยู่ 7.72 ล้านบัญชี ที่มีเงินฝากทิ้งไว้ในธนาคารทั้งฝากออมทรัพย์และฝากประจำมากกว่า 1 แสนบาท

แต่คนที่มีเงินฝาก 1 แสนบาท ยังไม่ได้เรียกว่า “เศรษฐี”

เพราะตามคำนิยามของ Capgemini และ RBC Wealth Management ที่ใช้ในรายงานเรื่อง World Wealth Report ระบุว่า คนที่จะขึ้นชื่อว่า เศรษฐี หรือผู้มีสินทรัพย์สูง (High Net Worth Individuals : HNWI) จะต้องมีสินทรัพย์ในครอบครองตั้งแต่เงินฝาก หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่นๆ รวมกันมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

คิดเป็นเงินบาทคร่าวๆ ก็ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

นอกจากนี้ Capgemini และ RBC Wealth Management ยังแบ่งเศรษฐีออกเป็น 3 ระดับความมั่งคั่ง

กลุ่มแรก เรียกว่า millionaires next door มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 1-5 ล้านเหรียญสหรัฐ

กลุ่มสอง เรียกว่า midtier millionaires มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5-30 ล้านเหรียญสหรัฐ

กลุ่มที่สาม เรียกว่า UltraHNWIs มีสินทรัพย์มากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ

ชื่อเรียกระดับเศรษฐีทั้งสามกลุ่มนี้ ใครจะแปลอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ขอแปลแบบบ้านๆ ว่า เศรษฐีมหาเศรษฐี และอภิมหาเศรษฐี

ในรายงาน 2013 World Wealth Report ระบุว่า มีคนไทย 7.3 หมื่นคน สามารถเรียกตัวเองว่า “เศรษฐี” เพราะมีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคนกลุ่มนี้มีสินทรัพย์รวมกัน 3.55 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

เฉลี่ยแล้วเศรษฐีคนไทยมีสินทรัพย์ในมือคนละไม่มากไม่น้อย แค่ 145 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำไปเทียบกับเศรษฐีในเอเชีย ก็ต้องบอกว่า ยังอยู่ในลำดับท้ายๆ เท่านั้น เพราะเศรษฐีญี่ปุ่นมีมากถึง 1.9 ล้านคน มีสินทรัพย์รวมกัน 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

 

เป็นเศรษฐี...ดีอย่างนี้นี่เอง(ตอน 1)

ขณะที่เศรษฐีจีนมีไม่น้อย 6.43 แสนคน มูลค่าสินทรัพย์รวม 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

แต่สำหรับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นแค่เศรษฐี มหาเศรษฐี หรือจะถึงขั้นอภิมหาเศรษฐี ก็ดีทั้งนั้น เพราะนอกจากจะจับจ่ายใช้สอยสบายมือแล้ว ยังมี “สิทธิพิเศษ” จากการใช้บริการของธนาคารอีก ต่างหาก

เพราะทุกวันนี้แทบทุกธนาคารจะต้องมีบริการพิเศษสำหรับคนพิเศษเช่นคุณ (แต่จะพิเศษขนาดไหน ต้องขอให้อดใจรอสัปดาห์หน้า)

บริการสุดพิเศษที่ว่านี้ก็คือ บริการธนบดีธนกิจ หรือ Private Banking หรือ Wealth Management

แต่ก่อนจะได้สิทธิพิเศษก็ต้องเป็นบุคคลพิเศษให้เข้าตามเงื่อนไขที่แต่ละธนาคารกำหนด ซึ่งโดยมากจะวัดจากจำนวนเงินฝากในบัญชี โดยบางธนาคารอาจจะกำหนดให้มีเงินฝากไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทบ้าง 10 ล้านบาทบ้าง

นอกจากนี้ หลายธนาคารไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่เงินฝากในบัญชีเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตครอบคลุมสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ โดยรวมกันเรียกว่า “สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ”

ตัวอย่างเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ให้บริการ Private Banking สำหรับลูกค้าที่มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการกับธนาคารตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป

สำหรับสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ตามคำนิยามของธนาคารกรุงไทยจะประกอบด้วย 5 ข้อต่อไปนี้ รวมกันมากกว่า 1 ล้านบาท

- เงินฝากประจำ

- ตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารกรุงไทย

- กองทุนรวมของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (ยกเว้นกองทุนรวมตลาดเงิน)

- หุ้นกู้ของธนาคารกรุงไทย

- เบี้ยประกันชีวิตของบริษัท กรุงไทยแอกซ่า เฉพาะที่จำหน่ายผ่านธนาคาร

ขณะที่ “บัวหลวงเอ็กซ์คลูซีฟ” ของธนาคารกรุงเทพ มีเงื่อนไขการเป็นสมาชิกไว้ชัดเจนว่าจะต้องใช้บริการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ คือ

1.มีเงินฝาก (ไม่นับรวมบัญชีกระแสรายวัน) ตั๋วแลกเงิน หรือเงินลงทุนในกองทุนรวมเฉลี่ยตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป ติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

2.มีวงเงินกู้สินเชื่อบ้านและมียอดผ่อนชำระคงเหลือตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป

3.ทำประกันชีวิต โดยชำระเบี้ยประกันตั้งแต่ 5 แสนบาทต่อปีขึ้นไป (ยกเว้นการชำระเบี้ยประกันแบบ 1 ปี)

เพราะฉะนั้นถ้าใครใจร้อน อยากรู้ว่าสิทธิพิเศษสำหรับคนพิเศษที่ธนาคารจัดหาไว้ให้ลูกค้า Private Banking จะน่าตื่นเต้นเร้าใจแค่ไหน ก็ไม่ยาก แค่รีบไปแสดงตัวที่ธนาคาร แล้วจะรู้ว่า เป็นเศรษฐี มัน ดีจริงๆ