posttoday

จับทิศโบนัส-เงินเดือนปีหน้าปัจจัยลบการเมืองกระทบไม่มาก

11 ธันวาคม 2556

ท่ามกลางกระแสการเมืองอันดุเดือด เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มกังวลกันแล้วว่าทิศทางเศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะเศรษฐกิจมีผลต่อชีวิตทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ออก โดยเฉพาะพนักงานกินเงินเดือนทั้งหลาย ที่อาจกำลังลุ้นระทึกว่าปีหน้าจะมีโอกาสปรับเงินเดือนขึ้นเท่าไหร่ และโบนัสปลายปีนี้จะเป็นเช่นไร

ท่ามกลางกระแสการเมืองอันดุเดือด เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มกังวลกันแล้วว่าทิศทางเศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะเศรษฐกิจมีผลต่อชีวิตทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ออก โดยเฉพาะพนักงานกินเงินเดือนทั้งหลาย ที่อาจกำลังลุ้นระทึกว่าปีหน้าจะมีโอกาสปรับเงินเดือนขึ้นเท่าไหร่ และโบนัสปลายปีนี้จะเป็นเช่นไร

อัจฉรีย์ เลิศสกุลบรรลือ ที่ปรึกษา บริษัท เฮย์กรุ๊ป เปิดเผยว่า การปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยของบริษัทไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 57% เฮย์กรุ๊ปมองว่า ปีหน้าการปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรมอยู่ที่ 6% ส่วนการจ่ายโบนัสสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2 เดือน โดยที่เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองปลายปีคงมีผลทำให้แต่ละบริษัทปรับขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสลดจากเป้าหมายไม่มาก อาจมีผลเฉพาะบริษัทที่ได้รับผลกระทบเหตุการณ์การเมืองโดยตรง เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยวหรือธุรกิจการบิน

จากการประเมินแนวโน้มขึ้นเงินเดือนปีหน้าแยกรายอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่ปรับขึ้นสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ 7.08% รองลงมา กลุ่มสาธารณูปโภค (พลังงาน ไฟฟ้า) 6.91% กลุ่มเคมีภัณฑ์ 6.64% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 6.41% และกลุ่มประกัน 6.1% ส่วนแนวโน้มการจ่ายโบนัสปีนี้ อุตสาหกรรมที่ครองอันดับจ่ายสูงสุด คือ กลุ่มสาธารณูปโภค 4.73 เดือน อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ 3.91 เดือน อุตสาหกรรมการผลิต 3.66 เดือน สินค้าอุปโภคบริโภค 3.32 เดือน และเคมีภัณฑ์ 3.23 เดือน

ขณะที่ ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค ไทยและเวียดนาม กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนปีหน้าไม่น่าเกิน 5% ส่วนแต่ละอุตสาหกรรมปรับมากหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยขึ้นอยู่กับความต้องการคนของบริษัท เมื่อเทียบกับคนที่มีความสามารถด้านนั้นในตลาด หากมีความต้องการคนมาก แต่คนที่มีความสามารถด้านนั้นในตลาดมีน้อย ก็มีแนวโน้มปรับขึ้นเงินเดือนสูง เช่น กลุ่มวิศวกร ยานยนต์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) มีแนวโน้มขึ้นเงินเดือนต่างจากกรอบที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นเงินเดือน บริษัทควรพิจารณาปัจจัยโครงสร้างบุคลากรความสามารถสูงที่เป็นอนาคตของบริษัทด้วย กลุ่มนี้อาจมีทิศทางการขึ้นเงินเดือนไม่อยู่ในกรอบเดียวกับค่าเฉลี่ย อาจสูงกว่า หากบริษัทอยากรักษาคนกลุ่มนี้ไว้อยู่กับบริษัทนานๆ

“หลายปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดในไทย เช่น ความไม่สงบในบ้านเมือง และน้ำท่วมใหญ่ ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน แต่ไทยมีศักยภาพปรับตัวสูง กลับสู่ภาวะปกติเร็ว การเกิดสถานการณ์วุ่นวายการเมืองช่วงนี้อาจทำให้นักลงทุนชะลอตัดสินใจลงทุน 36 เดือน รอดูสถานการณ์ พอเหตุการณ์สงบจะเร่งการลงทุนอย่างมาก” ธิดารัตน์ กล่าว

ธิดารัตน์ กล่าวว่า บริษัทได้ทำคู่มือเงินเดือนของไทยปีหน้า โดยรวบรวมข้อมูลแนวโน้มเงินเดือนเป็นรายอุตสาหกรรมไว้ ให้ผู้ประกอบการและผู้หางานใช้เป็นเครื่องมือประกอบการพิจารณาเงินเดือน ขณะเดียวกันอเด็คโก้จะเก็บสถิติผู้ที่เข้ามาดูคู่มือเงินเดือนด้วยว่าสนใจข้อมูลตำแหน่งงานใดมากที่สุด จากข้อมูลเบื้องต้น เงินเดือนขั้นต่ำระดับปริญญาตรี ของเกือบทุกอุตสาหกรรมถูกปรับขึ้นไปอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทแล้ว แต่อาจมีบางอุตสาหกรรมที่เงินเดือนขั้นต่ำยังไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท ขณะที่กลุ่มที่มีความถนัดทางภาษาจะมีเงินเดือนขั้นต่ำสูงกว่าค่าเฉลี่ย เริ่มต้น 1.8 หมื่นบาท

ด้านบริษัท ทาวเวอร์ส วัทสัน ได้สำรวจทิศทางปรับขึ้นเงินเดือนทั้งไทยและประเทศอื่น พบว่าบริษัทไทยตั้งงบประมาณขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 6% ส่วนประเทศในภูมิภาค ได้แก่ บรูไน 3.4% กัมพูชา 6.5% อินโดนีเซีย 9% ลาว 8.5% มาเลเซีย 5.7% ฟิลิปปินส์ 6.9% สิงคโปร์ 4.5% และเวียดนาม 11.5%

นอกจากนี้ ยังมีสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) ได้สำรวจค่าตอบแทน สวัสดิการ และผลประโยชน์ปี 2557 โดยระบุว่า แนวโน้มการจ่ายโบนัสปีนี้เฉลี่ยทุกอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3 เดือน นับรวมทั้งค่าตอบแทนที่เป็นอัตราคงที่และแปรผัน อุตสาหกรรมที่น่าจะจ่ายโบนัสสูงสุด 5 อันดับ คือ กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ 5.2 เดือน รองลงมาคือ เคมีภัณฑ์และน้ำมันเชื้อเพลิง 3.6 เดือน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 3.2 เดือน วัสดุก่อสร้าง 2.8 เดือน และอาหารและเครื่องดื่ม 2.6 เดือน

สำหรับภาพรวมการปรับขึ้นเงินเดือนปีนี้อยู่ที่ 6% กลุ่มที่ปรับขึ้นเงินเดือนสูงสุด 5 อันดับ คือ อาหารและเครื่องดื่ม 6.8% สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 6.3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 6.1% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 6% และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 5.9%

ทั้งนี้ บริษัทต่างๆ ควรวางเป้าหมายระดับค่าจ้างและผลตอบแทนให้สามารถรักษาบุคลากรไว้กับองค์กรให้ได้ โดยระดับค่าจ้างต้องสอดคล้องกับระดับความสามารถและอัตราการว่าจ้างในตลาดแรงงาน นอกจากนี้ต้องวางแผนปรับค่าจ้างให้พนักงาน โดยเฉพาะผู้มีความสามารถสูง ให้ไปสู่เป้าหมายระดับค่าจ้างและผลตอบแทนในเวลาที่กำหนด กรณีที่ค่าจ้างถูกปรับขึ้นจนสูงมากแล้ว เพื่อไม่ให้เพิ่มต้นทุนมากเกินไป บริษัทอาจหันไปให้ผลตอบแทนแบบยืดหยุ่น สอดคล้องกับผลประกอบการมากขึ้นแทน

ในปีหน้าหากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวหนักขึ้นจนกระทบการดำเนินงานบริษัทจะมีผลต่อการขึ้นเงินเดือนและโบนัส สิ่งที่ทำได้คือ ทำใจ แต่ถ้าเป็นคนมีความสามารถโดดเด่นก็ยังคงได้เปรียบกว่าคนทั่วไป