posttoday

ค้านยกเลิกคำสั่ง "ห้ามยกเลิกประกันโควิด เจอ จ่าย จบ"

20 มกราคม 2565

เครือข่ายผู้บริโภคประสานเสียง "ค้านยกเลิกคำสั่ง ห้ามบริษัทประกันยกเลิกประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบ"

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเหมาเข่ง และหลังจากที่มีการออกคำสั่งดังกล่าวไปนั้น ปรากฏว่า บริษัทประกันภัยต่างๆ รวมทั้งสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ออกมาขานรับและพร้อมยืนยันจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยจนสิ้นสุดสัญญาประกันภัย

ต่อมาเมื่อช่วงปลายปี 2564 มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย ปรากฏว่าสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ทำหนังสืออุทธรณ์การออกคำสั่งที่ 38/2564 ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) เพื่อเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ได้

ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกรอบระยเวลาเพื่อเสนอความเห็นบอร์ด คปภ. พิจารณาต่อไป และเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสำนักงาน คปภ. จึงได้เชิญตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ประกอบด้วย นายกสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค และประธานมูลนิธิกลุ่มเส้นด้าย มาประชุมร่วมกันเพื่อระดมความเห็นและให้ข้อแนะนำว่าทิศทางการดำเนินการในเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร

นายอุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีความเห็นว่า การออกคำสั่งนายทะเบียนถูกต้อง ซึ่งบริษัทประกันภัยจะต้องมีการวางแผนรับความเสี่ยงอยู่แล้วก่อนออกผลิตภัณฑ์ โดยไม่สามารถอ้างได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิดมีผลต่อการบริหารความเสี่ยง ภายหลังที่มีการออกผลิตภัณฑ์แล้ว หากมีการยกเลิกคำสั่งจะกระทบกับผู้ทำประกันจำนวนมาก

นายคริส โปตระนันทน์ ประธานมูลนิธิกลุ่มเส้นด้าย มีความเห็นว่า กลุ่มเส้นด้ายได้มีการโพสต์ประเด็นการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ในเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มเส้นด้าย ซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 500,000 ราย และได้รับทราบความคิดเห็นจากประชาชน โดยพบว่าประมาณ 99.50 เปอร์เซ็นต์ ของประชาชนที่แสดงความเห็น ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้สำนักงาน คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว และมีหลายความเห็นตอบกลับมาว่า ตอนนี้มีความยากลำบากมากอยู่แล้ว การที่ประกันภัยเข้ามาช่วยเหลือก็สามารถเยียวยาความเสียหายในกรณีที่มีบุคคลในครอบครัวติดเชื้อโควิด ซึ่งถือเป็น Financial Loss เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อจะไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นจึงเห็นว่า สำนักงาน คปภ. ควรยืนตาม คำสั่งนายทะเบียนเดิม

นายวิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มีความเห็นว่า กรณีดังกล่าวบริษัทประกันภัยอ้างว่าจะฟ้องร้องสำนักงาน คปภ. หากไม่ยอมยกเลิกคำสั่งนายทะเบียน ในมุมกลับกันหากสำนักงาน คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ประชาชนก็จะฟ้องร้องสำนักงาน คปภ. เช่นกัน ดังนั้นหากบริษัทประกันภัยเห็นว่า บริษัทสามารถบอกเลิกสัญญาประกันภัยได้ ประชาชนก็อาจจะบอกเลิกสัญญาประกันภัยอื่นๆ ที่ทำกับบริษัทได้เช่นกัน เช่น กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หรือกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และอาจมีการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยดังกล่าว เนื่องจากมีปัญหาในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่สำนักงาน คปภ. จะยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้แทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค มีความเห็นว่า สนับสนุนให้สำนักงาน คปภ. ไม่ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว เพราะหากสำนักงาน คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว สำนักงาน คปภ. อาจถูกบริษัทประกันภัย 2 บริษัท ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ฟ้องร้อง เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในส่วนของทางเลือกในการคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัย เห็นว่า ควรเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถขอคืนเบี้ยประกันภัยได้ 5-10 เท่าของจำนวนเบี้ยประกันภัย เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคยอมรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวนดังกล่าว และดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้ และหากผู้บริโภคยอมรับเงื่อนไขข้อนี้ได้ก็จะเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

นางสาวกรกนก ใจแกล้ว ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค มีความเห็นว่า เห็นด้วยกับสำนักงาน คปภ. ที่ไม่ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว โดยขอเสนอแนวทางเพิ่มเติมที่จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ว่า กรณีนี้สำนักงาน คปภ. อาจจะมีมาตรการผ่อนปรนระยะเวลาที่บริษัทจะสามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่อาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยขยายระยะเวลาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้มากกว่าเดิม โดยให้บริษัทประกันภัยจัดทำรายงานเกี่ยวกับจำนวนผู้เอาประกันภัยที่ทำประกันภัยโควิด-19 ทั้งหมด นายพานิชย์ เจริญเผ่า นายกสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค มีความเห็นว่า ปัจจุบันระยะเวลาความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จะสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งหมดประมาณเดือนมิถุนายน 2565 ในส่วนประเด็นข้อกฎหมายเห็นว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการทำสัญญาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้มีการบังคับ บริษัทประกันภัยก็เป็นคู่สัญญาด้วย เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นความผิดของผู้บริโภคแต่อย่างใด จึงเห็นว่าสำนักงาน คปภ. เป็นผู้รักษาขั้นตอนของกฎหมาย หากสำนักงาน คปภ. กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะถูกประชาชนฟ้องร้องเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนดังนั้น สำนักงาน คปภ. ไม่ควรยกเลิกคำสั่งนายทะเบียน เนื่องจากการทำสัญญาประกันภัยเป็นความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ในปีแรกบริษัทประกันภัยมีรายได้จากการขายกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้จำนวนมาก จึงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

ค้านยกเลิกคำสั่ง "ห้ามยกเลิกประกันโควิด เจอ จ่าย จบ"

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยที่ประชุมทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่า หากยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 และยินยอมให้บริษัทประกันภัยสามารถยกเลิกกรมธรรม์ต่อผู้เอาประกันภัยทุกรายโดยที่ผู้เอาประกันภัยมิได้กระทำผิดในข้อสาระสำคัญย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จะส่งผลให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประกันภัย และทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย รวมไปถึงประชาชนก็อาจจะบอกเลิกสัญญาประกันภัยอื่นๆ ที่ทำกับบริษัทประกันภัยได้เช่นกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ที่ประชุมจึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ว่าควรยืนตามคำสั่งนายทะเบียนฯ

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีข้อแนะนำแนวทางหรือมาตรการต่างๆ แก้ไขปัญหา 4 มาตรการดังนี้

1. มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยอาจจะเป็นการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่บริษัทประกันภัยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทประกันภัยให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้

2. มาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยเมื่อมีกรณีที่ผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ ให้บริษัทประกันภัยสามารถผ่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยแต่ละรายได้

3. มาตรการผ่อนปรนระยะเวลาเพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถยืดหรือขยายระยะเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน ซึ่งเมื่อมีการขยายระยะเวลาดังกล่าวแล้ว หากบริษัทประกันภัยรายใดไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องมีการคิดดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มกรณีผิดนัด หรือเบี้ยปรับเชิงลงโทษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป

4. มาตรการยื่นข้อเสนอคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยในจำนวนที่เหมาะสม เช่น การคืนเบี้ยประกันภัยเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยหรือคืนเบี้ยประกันภัย จำนวน 5-10 เท่า ของเบี้ยประกันภัยเดิม

ทั้งนี้ จะได้นำข้อแนะนำที่ได้ ประมวลกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอความเห็นของสำนักงานฯ ประกอบการพิจารณาของบอร์ด คปภ. ต่อไป