posttoday

คปภ. โชว์ปิดบริษัทประกัน เจอจ่ายไม่จบ เป็นผลงานเด่นปี 64

02 มกราคม 2565

คปภ. โชว์ปิดบริษัทประกัน เจอจ่ายไม่จบ เป็นผลงานเด่นปี 64 เตือนประกันรับมือความเสี่ยงรอบด้าน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปี 2564 เป็นปีแห่งความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เศรษฐกิจถดถอย ความเสี่ยงใหม่ที่รุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง อีกทั้งยังคงขยายต่อเนื่องไปในปี 2565 ธุรกิจประกันภัย ก็ได้รับผลกระทบในหลายมิติเช่นกัน

เห็นได้จากการขยายตัวเพียงเล็กน้อยของเบี้ยประกันภัย ทั้งธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย รวมทั้งกรณีการถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ขณะที่การทดสอบภาวะวิกฤตล่าสุด ยังคงไม่พบความเสี่ยงในเชิงระบบประกันภัยในภาพรวม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบประกันภัยไทยยังมีความแข็งแรงในเชิงระบบ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ออกมาตรการต่าง ๆ อาทิ การผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย ทั้งการขยายระยะเวลาและการให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัย การปรับปรุงและส่งเสริมการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยให้มีความคุ้มครองที่สอดคล้องกับภาวะความเสี่ยงและความต้องการของประชาชน การขยายความคุ้มครองกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลใน Hospitel การดูแลรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation และ Community Isolation การออกหลักเกณฑ์การเสนอขายประกันภัยแบบ Digital Face to Face การปรับแนวทางและกระบวนการ เพื่อให้สามารถติดตามและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจประกันภัยอย่างใกล้ชิดและรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังจุดเปราะบางที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจประกันภัย และการกำหนด Supervisory package มาตรการผ่อนผันสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในระดับที่สูง

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า ธุรกิจประกันภัยไทยยังจะต้องเผชิญความท้าท้ายและปัจจัยความเสี่ยงจากภายนอกที่มีนัยยะต่อธุรกิจประกันภัยที่ต้องเฝ้าระวัง ติดตามอย่างใกล้ชิดและปรับตัวให้เท่าทันอีกหลายปัจจัยหลัก คือ

1) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและคงที่ รวมถึงการหดตัวของเศรษฐกิจไทยและหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อผลประกอบการและกำลัง ซื้อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2) ปัจจัยด้านสังคม ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของไทยก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3) ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัยมากที่สุดอีกปัจจัยหนึ่ง เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในอนาคต บริษัททุกแห่งต้องมีการปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาใช้

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า ธุรกิจประกันภัยไตรมาสสาม (มกราคม-กันยายน 2564) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 631,826 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 5.30 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับจากธุรกิจประกันชีวิต 439,056 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับสูงสุด ได้แก่ ประกันชีวิตประเภทสามัญ 270,072 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.31 รองลงมาเป็นประเภทกลุ่ม 30,952 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.28 และประกันชีวิตประเภทควบการลงทุน (Unit Linked และ Universal Life) 34,714 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 88.33 นอกจากนี้ ยังมีเบี้ยประกันภัยรับจากสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ 68,297 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.97 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่มีเบี้ยประกันภัยรับของธุรกิจประกันวินาศภัย 192,770 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ ประกันภัยรถ 104,416 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.94 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากประกันภัยรถภาคสมัครใจ 92,552 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.46 และภาคบังคับ 13,864 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.40 รองลงมา คือ ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 73,641 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.49 ตามด้วยประกันอัคคีภัย 7,935 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.87 และประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 4,777 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 22.51

ทั้งนี้ มีอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยต่อประชากรอยู่ที่ร้อยละ 39.47 โดยมีเบี้ยประกันภัยรวมต่อจำนวนประชากร 13,128 บาท จากเบี้ยประกันชีวิตต่อจำนวนประชากร 9,212 บาท และเบี้ยประกันวินาศภัยต่อจำนวนประชากร 3,906 บาท ในส่วนสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันภัยรวมทั้งสิ้น 4,215,376 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต 3,876,369 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.68 และสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย 339,007 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.43 นอกจากนี้ ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ร้อยละ 333.78 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และธุรกิจประกันวินาศภัยมี CAR ร้อยละ 246.86 ปรับตัวลดลงร้อยละ 59.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ยังสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด