posttoday

กรุงเทพประกันภัย เบี้ยประกันไตรมาสแรกเพิ่ม25.3%

03 มิถุนายน 2563

BKI ทำเบี้ยไตรมาสแรกฉลุยเติบโต 25.3% มุ่งบรรลุเป้าทั้งปี 22,800 ล้านบาท

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI คาดว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ในไตรมาสสองมีแนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมายแต่การเติบโตอาจแผ่วลงจากการได้รับผลกระทบของสถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เล็งเห็นว่า ยังมีปัจจัยบวกหลายประการที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจ แม้ปัจจุบันธุรกิจประสบกับความท้าทายทั้งจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจน การส่งออกหดตัว ยอดขายรถยนต์ใหม่ที่ชะลอตัวอย่างมาก และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์และการดำเนินธุรกิจทั่วโลก ซึ่งปัจจัยบวกที่จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจประกันวินาศภัย ได้แก่

• การที่ผู้บริโภคตระหนักมากขึ้นถึงความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เห็นได้จากตัวเลขผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยไวรัส COVID-19 มีจำนวนมาก (ข้อมูล: คปภ. ณ 17 เมษายน เท่ากับ 8.15 ล้านกรมธรรม์) ซึ่งกลุ่มนี้จะกลายเป็นฐานลูกค้าที่มีศักยภาพในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพประเภทอื่นๆ ต่อไป

• แนวโน้มของอัตราค่าสินไหมทดแทนของประกันสุขภาพที่จะลดลงจากการใช้ชีวิตแบบ New Normal เช่น การสวมหน้ากากอนามัย, การล้างมือเป็นประจำ, Social Distancing รวมทั้งการเข้มงวดด้านมาตรฐานความสะอาดและอนามัยในสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้การเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางเดินหายใจต่างๆ ลดน้อยลง เช่นเดียวกับความกังวลในเรื่องการระบาดของ COVID-19 ทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หรือรักษาตัวเองเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย

• มาตรการผ่อนคลายของสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้บริษัทประกันภัยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น การอนุญาตให้จำหน่ายประกันภัยระยะสั้นเป็นรายวัน รายเดือนหรือรายไตรมาส, การอนุญาตให้สามารถผ่อนชำระเบี้ยประกันภัยรถยนต์ได้กับบริษัทประกันภัยโดยตรง, การให้จัดส่งกรมธรรม์แบบ e-Policy ให้ลูกค้าได้ นอกจากนี้ การเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไปอีก 1 ปี ทำให้ช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการลงไปได้อีกระดับหนึ่ง

• โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของภาครัฐที่มีแผนจะเปิดประมูลและเซ็นสัญญาก่อสร้างในปีนี้ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินการต่อไปตามแผนที่ตั้งไว้

• อัตราเบี้ยประกันภัยต่อในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นจากความเสียหายของมหันตภัยในปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราเบี้ยประกันภัย IAR ในปีนี้ไม่สามารถตัดราคาเพื่อการแข่งขันได้เหมือนที่ผ่านมา

• การท่องเที่ยว ตัวขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยการท่องเที่ยวภายในประเทศจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 3 และจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ภายในเดือนตุลาคม (ที่มา: ททท.)

สำหรับกรุงเทพประกันภัยยังคงคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเบี้ยประกันภัยที่ตั้งไว้ 22,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8% โดยมีแผนและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่รองรับโอกาสและความท้าทายข้างต้น ดังนี้

• การรักษาอัตราการต่ออายุและขยายฐานลูกค้ารายย่อย ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีอัตราการต่ออายุกรมธรรม์มากกว่า 90%

• การรับประกันภัยงานภาครัฐ ซึ่งยังมีแนวโน้มที่ดี โดยคาดจะได้เบี้ยจากเมกะโปรเจกต์ ผนวกกับเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านบาท

• การเล็งเห็นโอกาสของตลาดประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ที่ลูกค้าตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น บริษัทฯ จึงได้พัฒนาออกผลิตภัณฑ์กรมธรรม์ประกันสุขภาพให้ความคุ้มครองครอบคลุมถึงประกันภัย COVID-19 (ประกันภัย 3 โรคกวนใจเพิ่มภัยโควิด) และได้นำบริการ Telemedicine เข้ามาให้บริการลูกค้าในปัจจุบัน และพร้อมจะขยายการให้บริการในรูปแบบใหม่เพิ่มเติมในเร็วๆ นี้

• การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความคุ้มครองที่เหมาะสมกับพฤติกรรมและกำลังซื้อของลูกค้าในสภาวการณ์เช่นนี้ เช่น การออกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3+ ราคาประหยัด คุ้มครองระยะสั้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์การระบาด COVID-19 รวมทั้งการขานรับนโยบายของสำนักงาน คปภ.ในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถผ่อนชำระเบี้ยได้สูงสุดถึง 180 วัน การขยายความคุ้มครองให้ลูกค้าที่แจ้งหยุดใช้รถชั่วคราว

• การขยายงานในตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตจากการขยายการลงทุนของนักลงทุนไทย โดยคาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับต่อเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านบาท

นอกจากนี้แล้ว บริษัทฯ ยังได้เพิ่มการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในการยกระดับคุณภาพการให้บริการ พร้อมรองรับ New Normal Lifestyle ด้วยการปรับเปลี่ยน Core Business System (CBS) ขยายการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Robotic Process Automation: RPA) มาปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้งด้านรับประกันภัยและสินไหมทดแทนเพื่อให้ลูกค้าและคู่ค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้นแล้ว บริษัทฯ ยังได้ตั้งเป้าเป็น Data Driven Organization โดยการปรับปรุงระบบ Enterprise Data Warehouse ของบริษัทฯ เพื่อใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ สนับสนุนการทำงานและการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ