posttoday

คปภ.ปรับแผนเป็นองค์กรดิจิทัลเต็มสูบ

08 สิงหาคม 2562

คปภ. ยกเครื่องเป็นดิจิทัลเต็มตัว ขับเคลื่อนประกันภัยไทย รับมือเศรษฐกิจยุคใหม่

คปภ. ยกเครื่องเป็นดิจิทัลเต็มตัว ขับเคลื่อนประกันภัยไทย รับมือเศรษฐกิจยุคใหม่

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัย ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559 – 2563) จึงจำเป็นต้องแปลงแผน (Transform) สู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ มีนโยบายเชิงรุก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจประกันภัย

นอกจากนี้ ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อธุรกิจประกันภัย โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อน และต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อนำพาอุตสาหกรรมประกันภัยสู่มิติการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 (2564-2568) จะต้องสอดรับกับแผนฉบับที่ 3 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ประเด็นปัญหาและประเมินศักยภาพของธุรกิจประกันภัยโดยเน้นใน 3 ประเด็นหลักๆ

ประเด็นแรก การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมและพัฒนาในทุกภาคส่วนของ โดยเริ่มตั้งแต่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัย ตัวกลางประกันภัย ทั้งนี้เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ
ประเด็นที่สอง การสร้างความสมดุล โดยมุ่งเน้นการกำกับที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยภายใต้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี กฎระเบียบข้อบังคับ กระแสเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันได้และดำเนินธุรกิจอย่างคล่องตัว

ประเด็นที่สาม การสนับสนุนการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี ด้วยการสนับสนุนการจัดทำข้อมูลกลางของอุตสาหกรรมประกันภัยและนำเทคโนโลยีต่างๆมาปรับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค สภาพเศรษฐกิจ สังคม กฎระเบียบข้อบังคับและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งลดความเสี่ยงและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

นายสุทธิพล กล่าวว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประกันภัยไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายมิติอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทำให้เป็นตัวเร่งและเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวเร่งให้สำนักงาน คปภ.จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงรากฐานสำคัญขององค์กรเพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า