posttoday

ซื้อความเสี่ยงภัยข้าวนาปี ช่วยประหยัดงบรัฐ

05 มกราคม 2562

โครงการประกันภัยข้าวนาปี สามารถช่วยรัฐประหยัดงบในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการประกันภัยข้าวนาปี สามารถช่วยรัฐประหยัดงบในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

*************************

โดย...ฉัตรชัย ธนจินดาเลิศ

ในที่สุดโครงการประกันภัยข้าวนาปี ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 โดยไม่จำเป็นต้องรอความชัดเจนจากผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปหรือไม่

เมื่อล่าสุดปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการนโยบายข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 30 ล้านไร่ วงเงิน 1,740 ล้านบาท เหลือแต่เพียงให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติอย่างเป็นทางการอีกครั้งเท่านั้น ซึ่งก็คงไม่มีปัญหาอะไร

ทั้งนี้ จะให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม ภัยแล้ง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ ไฟไหม้ และช้างป่า รวมถึงภัยศัตรูพืชหรือโรค อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 85 บาท/ไร่ โดยเกษตรกรจ่าย 34 บาท/ไร่ รัฐบาลอุดหนุน 51 บาท/ไร่

ส่วนงบประมาณที่จะนำมาดำเนินโครงการนั้น ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริง รวมกับต้นทุนเงินในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำบวก 1 ในปีงบประมาณถัดไป ถือได้ว่าเป็นโครงการหลักของการประกันภัยพืชผลของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมและเห็นผลชัดเจนมากที่สุดในขณะนี้ก็ว่าได้

สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ขณะนี้โครงการใกล้จบแล้ว โดยมีพื้นที่รับประกัน 27.6 ล้านไร่ ปัจจุบันอัตราความเสียหายขึ้นไปแล้ว และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศภัยพิบัติและเร่งสำรวจความเสียหายอย่างรวดเร็ว

ทำให้ปัจจุบันประกันภัยข้าวนาปีมีการเรียกร้องค่าสินไหมทั้งหมดแล้ว 8 ครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่เริ่มโครงการมา เมื่อเดือน ส.ค. 2561 จ่ายไป 1.7 ล้านบาท ครั้งที่ 2 จ่าย 4.5 ล้านบาท ครั้งที่ 3 จ่ายอีก 34 ล้านบาท ครั้งที่ 4 จ่าย 25.9 ล้านบาท ครั้งที่ 5 จ่าย 87 ล้านบาท ครั้งที่ 6 จ่าย 178 ล้านบาท ครั้งที่ 7 จ่าย 232 ล้านบาท และครั้งที่ 8 จ่าย 713 ล้านบาท พุ่งขึ้นมาก รวมค่าสินไหมที่จ่ายไปแล้วประมาณ 1,574 ล้านบาท อัตราความเสียหายต่อเบี้ยประกันอยู่ที่ 73%

“ตอนนี้เวลาทำสินไหมก็มีความรวดเร็ว เพราะเรามีการเชื่อมข้อมูลกันระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส.ก็ไปเอาตัวเลขความเสียหายเข้ามาจับคู่กับทะเบียนของผู้เอาประกันภัย พอมีประกันภัยก็ทำการจ่ายสินไหมได้ โดยมีการเก็บข้อมูลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทำให้เราสามารถจ่ายสินไหมได้ภายใน 7 วัน จากที่กรมธรรม์กำหนดไว้ต้องจ่ายภายใน 15 วัน” จีรพันธ์ กล่าว

ซื้อความเสี่ยงภัยข้าวนาปี ช่วยประหยัดงบรัฐ

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ครม.จะอนุมัติได้ในเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งถือว่าเร็วกว่าทุกปี เนื่องจากต้องผ่านบอร์ด ธ.ก.ส.ด้วย เพราะ ธ.ก.ส.ต้องอุดหนุนงบประมาณด้วย โดยสัดส่วนการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยเหมือนเดิม คือ ธ.ก.ส. 40% และรัฐบาล 60% และหากไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. ชาวนาต้องจ่ายเบี้ยเอง 40%

ทางสมาคมอยากให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้โครงการต่อเนื่องทั้งโครงการประกันภัยข้าวและประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ ครม.ก็เพิ่งอนุมัติโครงการไป เพื่อจะได้ขับเคลื่อนต่อและให้ทันต่อปีการเพาะปลูกใหม่ที่จะมาถึง เพราะหากไม่สามารถดำเนินการได้ ก็เป็นห่วงว่าหากเป็นรัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถอนุมัติงบประมาณได้

ด้าน กี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ภาพรวมการรับประกันภัยข้าวนาปีในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่สมาคมเข้ามารับผิดชอบเป็นไปด้วยความราบรื่น สินไหมจ่ายอย่างรวดเร็ว และมีการร้องเรียนน้อยมาก ส่วนที่ร้องเรียนก็เพราะความเข้าใจผิดอย่างเพาะปลูก 20 ไร่ แต่ประกันแค่ 10 ไร่ แต่ก็สามารถเข้าใจกันได้

สำหรับภาพรวม 4-5 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับความเข้าใจของเกษตรกรก็ถือว่าเริ่มดีขึ้น เกษตรกรมีความเข้าใจมากขึ้น โดยในปี 2562 ก็จะมีความคุ้มครองส่วนเพิ่ม คือ ในส่วนความคุ้มครองจากรัฐบาลที่เยียวยา 1,113 บาท/ไร่ ที่จ่ายรอบแรก และบริษัทประกันภัยจ่ายส่วนเพิ่มอีก 1,260 บาท/ไร่

ส่วนชาวนาซื้อประกันเองก็จะเพิ่มความคุ้มครองอีก 240 บาท/ไร่ โดยรัฐบาลซื้อเหมาโหลไปแล้วจากลูกค้า ธ.ก.ส. ประมาณ 25-27 ล้านไร่ อีก 3 ล้านไร่ ก็หวังว่าชาวนาจะซื้อเพิ่มเองเป็นภาคสมัครใจซื้อ โดยสมาคมตั้งเป้าเปิดเพดานไว้ 5 ล้านไร่ ซึ่งในปี 2561 มีชาวนาที่ซื้อเองน้อยมากแค่ 3-4 แสนไร่ ส่วนค่าเบี้ยประกันภัยที่ชาวนาซื้อเองต้องจ่ายนั้น จะแปรผันไปตามพื้นที่ความเสี่ยง

ทั้งนี้ มีชาวนาได้รับประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทนไปแล้วทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2554 ถึงปัจจุบันกว่า 5,790 ล้านบาท จึงถือว่าโครงการประกันภัยข้าวนาปี สามารถช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ