posttoday

ประกันสุขภาพโตฉลุย10% เบี้ยยอด9เดือน วินาศภัยได้7.7พันล้าน

28 พฤศจิกายน 2561

เบี้ยสุขภาพวิ่งฉิวยอด 9 เดือนโตขึ้น 10% ลูกค้าระดับกลางลงล่างหาซื้อได้มากขึ้น ราคาถูกลง ส่งผลค่าเบี้ยต่อกรมธรรม์ลดเหลือ 8,900 บาท

เบี้ยสุขภาพวิ่งฉิวยอด 9 เดือนโตขึ้น 10% ลูกค้าระดับกลางลงล่างหาซื้อได้มากขึ้น ราคาถูกลง ส่งผลค่าเบี้ยต่อกรมธรรม์ลดเหลือ 8,900 บาท

นายปิติพงศ์ พิศาลบุตร ประธานคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.- ก.ย.) ธุรกิจประกันวินาศภัยสามารถทำเบี้ยรับรวมได้ 7,709 ล้านบาท เติบโต 10.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนกรมธรรม์ 866,706 ฉบับ และเบี้ยเฉลี่ยต่อกรมธรรม์อยู่ที่ 8,900 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเบี้ยเฉลี่ยต่อกรมธรรม์อยู่ที่ 12,020 บาท หรือคิดเป็น 26% โดยบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.บริษัท เอ็ทน่า ประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) 2.บริษัท ซิกน่า ประกันภัย 3.บริษัท กรุงเทพประกันภัย 4.บริษัท เมืองไทยประกันภัย และ 5.บริษัท ทิพยประกันภัย

"สาเหตุสำคัญที่ทำให้เบี้ยสุขภาพเฉลี่ยต่อกรมธรรม์ลดลง 26% เนื่องมาจากอัตราเบี้ยสุขภาพในปัจจุบันมีหลากหลาย และราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ทำให้กลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่างเข้าถึงประกันสุขภาพมากขึ้น เช่น แบบประกันภัย 7 และ 10 บาท ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็เน้นในเรื่องนี้ ที่ต้องการให้ภาคธุรกิจประกันขยายมายังตลาดลูกค้าระดับกลางและล่างมากขึ้น จากเดิมเบี้ยสุขภาพจะถูกมองว่าเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้สูง" นายปิติพงศ์ กล่าว

สำหรับธุรกิจแนวโน้มประกันสุขภาพในปีหน้า คาดว่ายังเติบโตต่อเนื่องในอัตราตัวเลขสองหลักเหมือนกับทุกปี เนื่องจากคนไทยยังมีการทำประกันสุขภาพในสัดส่วนที่น้อยอยู่ และค่ารักษาพยาบาลก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ขณะเดียวกันบริษัทประกันก็มีแบบประกันสุขภาพที่มีความหลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการและเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น การทำประกันสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่มีไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงเมื่อเจ็บป่วย

ทั้งนี้ ล่าสุดสมาคมยังได้ร่วมมือกับ สมาคมเฮลท์เทคไทย จัดงาน "TGIA HealthTech Forum 2018" ขึ้นมา เพื่อหาแนวทางและความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจประกันภัย และเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่อย่างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

"นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การนำระบบ เอไอมาใช้แทนเรื่องแฟ็กซ์ เคลม นอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจได้มากแล้ว ก็จะส่งผลต่อเบี้ยสุขภาพให้ลดลงตามไปด้วย และยังจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานด้านนี้ไม่เพียงพอ ก็ยังจับมือกับกลุ่มสตาร์ทอัพต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้าที่เป็นแบบเฉพาะเจาะจงและยังแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งแนวโน้มสินค้าสุขภาพจะเน้นด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้น" นายปิติพงศ์ กล่าว