posttoday

คปภ.ดันพรบ.ประกันพืชผลหวังดูแลเกษตรไทยโดยตรง

04 ตุลาคม 2561

คปภ.เล็งจัดทำร่าง พ.ร.บ.โครงการประกันภัยพืชผล หวังดูแลเกษตรกรไทยโดยตรง

คปภ.เล็งจัดทำร่าง พ.ร.บ.โครงการประกันภัยพืชผล หวังดูแลเกษตรกรไทยโดยตรง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.โครงการประกันภัยพืชผล ขึ้นมาเพื่อใช้กำกับดูแลการประกันสินค้าเกษตรกรทั่วประเทศโดยตรง เนื่องจากปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีเพียงแค่นำแนวทางการประกันภัยจากต่างประเทศมาปรับใช้เท่านั้น

“จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำกฎหมายออกมา เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชาชนเกี่ยวข้องหลายล้านครัวเรือนเห็นได้จากมีการรับประกันภัยนาข้าวที่มีเข้าร่วมกว่าปีละ 26-27 ล้านไร่ เกือบ 2 ล้านครัวเรือน และตอนนี้ก็กำลังขยายไปสู่ประกันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลำไยด้วย” นายสุทธิพล กล่าว

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการกำหนดรายละเอียดของการกำกับดูแล เพื่อต้องการผลักดันการประกันภัยพืชผลให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจเป็นประธาน และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคณะอนุกรรมการรายจังหวัดมาดูแลโดยตรง มีการกำหนดรายละเอียดเนื้อหากฎหมายการประกันภัยให้เหมาะกับพื้นที่เกษตรไทย

ทั้งนี้ ที่สำคัญจะทำให้โครงการประกันภัยข้าว เกิดขึ้นเป็นโครงการถาวรทุกๆ ปี ไม่ใช่เป็นการทำตามนโยบายแบบปีต่อปีเหมือนปัจจุบัน ซึ่งวิธีนี้การนำระบบประกันเข้ามาจะช่วยลดความเสี่ยงในการเพาะปลูก โดย คปภ.จะมีการจัดจ้างหน่วยงานนอกเข้ามาช่วยศึกษายกร่าง พ.ร.บ.ในปี 2562 หลังจากที่ผ่านมาได้มีการเสนอแนวทางให้สภาปฏิรูปฯ พิจารณาผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว

นายสุทธิพล กล่าวว่า คปภ.ยังจะมีการพิจารณาปรับปรุงระบบการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยปรับหลักเกณฑ์การเรียกค่าสินไหม จากปัจจุบันที่ต้องใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติก่อน บริษัทจึงจ่ายเคลมค่าเสียหายได้ แต่ต่อไปจะใช้หลักพิจารณาทางวิทยาศาสตร์เหมือนประเทศอื่นทั่วโลกแทน เช่น การใช้ดัชนีสภาพอากาศ ดัชนีน้ำฝนมาประกอบการพิจารณา ซึ่งจะช่วยให้การจ่ายค่าสินไหมได้ตรงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมากขึ้น

สำหรับการประกันภัยนาข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ล่าสุด ณ วันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปี 1.91 ล้านราย พื้นที่นาข้าว 27.6 ล้านไร่ แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.87 ล้านราย พื้นที่นาข้าว 26.9 ล้านไร่ และกลุ่มเกษตรกรทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. 47,056 ราย พื้นที่นาข้าว 6.9 แสนไร่ ซึ่งโดยภาพรวมของการทำประกันภัยข้าวนาปีในปีนี้ แม้จะยังไม่รวมข้อมูลจากภาคใต้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก โดยมีพื้นที่ที่ทำประกันภัยข้าวนาปีสูงกว่าปี 2560 เป็นจำนวน  2.58%