posttoday

'กรุงเทพ'ปรับกลยุทธ์ใหม่

29 กันยายน 2561

กรุงเทพประกันชีวิต หนุนเพิ่มศักยภาพตัวแทน ลดการพึ่งพาแบงก์ แอสชัวรันส์ พร้อมเปิดพอร์ตลงทุน 3 แสนล้าน แย้มสนใจลงทุนกองทุน TFF

กรุงเทพประกันชีวิต หนุนเพิ่มศักยภาพตัวแทน ลดการพึ่งพาแบงก์ แอสชัวรันส์ พร้อมเปิดพอร์ตลงทุน 3 แสนล้าน แย้มสนใจลงทุนกองทุน TFF

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) เปิดเผยว่า บริษัทได้วางกลยุทธ์ 3 ปี (2562-2564) เพื่อปรับสัดส่วนช่องทางขายใหม่ ให้มีความสมดุลมากขึ้น และไม่มีความเสี่ยงกับช่องทางใดช่องทางหนึ่งมากเกินไป โดยมุ่งสร้างความแข็งแรงให้กับทุกช่องทาง

"ตอนนี้เรามีช่องทางขายผ่านธนาคารหรือแบงก์แอสชัวรันส์อยู่ 70% ช่องทางตัวแทน 20% และช่องทางขายตรง ช่องทางออนไลน์ ช่องทางประกันกลุ่มอีก 10% แต่เมื่อถึงสิ้นปี 2564 เราจะลดสัดส่วนช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์เหลือ 40% และเพิ่มช่องทางตัวแทนเป็น 40% รวมถึงช่องทางอื่นๆ เป็น 20% ซึ่งผลกระทบจากช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ที่เคยเป็นพันธมิตรหลักของเรา ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอย่างมาก" ม.ล.จิรเศรษฐ  กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนอยู่ 1.6 หมื่นคน แต่มีตัวแทนที่สร้างยอดขาย ต่อเนื่องได้น้อยอยู่ ดังนั้น จึงเป็นโอกาส ที่ดีในการผลักดันให้ตัวแทนแต่ละคน สามารถสร้างยอดขายและพัฒนาตัวเองเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะผลักดันช่องทางออนไลน์ด้วย เพราะเป็นช่องทางที่ลูกค้าได้ประโยชน์มากที่สุด และเบี้ยก็ถูกกว่าช่องทางอื่นมาก ซึ่งบริษัทกรุงเทพประกันชีวิตเป็นบริษัทแรก ที่ขายประกันชีวิตออนไลน์ได้เต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินค้าจะเน้นขายแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิต และสุขภาพมากขึ้น ซึ่งในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมาเติบโตถึง 30% และแบบประกันประเภทคุ้มครองตลอดชีพก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ขณะเดียวกันก็ลดการขายแบบประกันสะสมทรัพย์ระยะสั้นถึงกลาง

นายเสนาะ ธรรมพิพัฒนกุล รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทยังคงเป้าการเติบโตของเบี้ยใหม่ไว้ที่ 10% โดยไม่รวมสินค้าออมทรัพย์ระยะสั้น แต่ในเดือน ต.ค.นี้ จะมีการทบทวนถึงแผนธุรกิจในปีนี้และแผนในปีหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทมีเงินลงทุนอยู่ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ 80% หุ้น 10% และอื่นๆ อีก 10% ตั้งเป้าผลตอบแทนอยู่ที่ 4.5% ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกทำได้สูงกว่าเป้าอยู่ที่ 4.6% โดยมีอัตราเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมายอยู่ที่ 240-250% จากเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 140%

ในขณะเดียวกันมีความสนใจ และได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) เนื่องจากเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับ 5% ต่อปี และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 7% ทำให้มีโอกาสจะเข้าไปถือไปลงทุน