posttoday

ทำไมบริษัทประกันจึงต้องปรับเพิ่มเบี้ยประกัน

29 สิงหาคม 2561

บริษัทประกันหลายบริษัทกำลังเตรียมจะปรับเพิ่มค่าเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับเด็ก เป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่?

โดย..ศิวัฒน์ สิงหสุตกร

ช่วงที่ผ่านมา หากใครตามข่าวสารในแวดวงการเงิน หรือประกันภัยมาบ้าง อาจจะเคยผ่านตามาว่า บริษัทประกันหลายบริษัทกำลังเตรียมจะปรับเพิ่มค่าเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับเด็ก ขณะที่บางบริษัทก็กำลังพิจารณางดขายประกันสุขภาพสำหรับเด็กบางแผน ในบางช่วงอายุด้วยเช่นกัน จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า การที่บริษัทประกันปรับเพิ่มค่าเบี้ยประกัน หรืองดขายแบบประกันต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่? หรือกำลังเอาเปรียบผู้ทำประกันอยู่หรือเปล่า?

ก่อนอื่นเราควรจะต้องเข้าใจก่อนว่า การทำประกันให้อยู่บนพื้นฐานของหลักการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” นั่นก็แปลว่า คนที่มีความเสี่ยงน้อย จำเป็นต้องแชร์ความเสี่ยงร่วมกับคนที่มีความเสี่ยงสูง โดยทุกคนอาจจะจ่ายเบี้ยเท่าๆ กัน (หรือคนที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะจ่ายเบี้ยสูงกว่า) แต่ประเด็นก็คือ มันก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่า คนที่มีความเสี่ยงน้อย จะมีโอกาสเคลมประกัน น้อยกว่าคนที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ค่าเบี้ยประกันมาตรฐาน ยังคงเป็นค่าเฉลี่ยกลางๆ จากสถิติที่ผ่านมาของคนส่วนใหญ่ ซึ่งอาจทำให้คนที่ทำประกันมาเป็นเวลานาน แต่ไม่เคยต้องเคลมเลย รู้สึกว่า ไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่ ที่ตัวเองต้องมาเสียค่าเบี้ยประกันตามความเสี่ยงเฉลี่ย ทั้งที่ตัวเองน่าจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงควรจ่ายเบี้ยที่ถูกกว่า

แต่อย่างในเคสประกันสุขภาพสำหรับเด็กที่อายุ 1 เดือนจนถึง 5 ขวบ ตามค่าสถิติถือเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยสูง (เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก RSV หรือมือเท้าปากเปื่อย) ทำให้ค่าเบี้ยประกันค่อนข้างสูง ซึ่งก็สอดคล้องกับพฤติกรรมและโอกาสของการเบิกเคลมของผู้ที่ทำประกันให้ลูกๆ ในปัจจุบันที่มีอัตราการเจ็บป่วยและเบิกเคลมสูงมาก พร้อมๆ กัน หลายๆ เคส ส่งผลให้บริษัทประกันต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น

ทีนี้ ถ้าอัตราการเคลมค่ารักษามีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา ก็จะทำให้อัตราค่าเบี้ยประกัน (ที่ถูกคำนวณมาจากค่าสถิติที่ผ่านมาในอดีต) ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงในปัจจุบัน ทำให้บริษัทประกันต้องเผชิญกับการรับความเสี่ยงของลูกค้าที่สูงขึ้น โอกาสการเคลมมากขึ้น และที่สำคัญก็คือ ค่ารักษาพยาบาลที่ทางโรงพยาบาลต่างๆ คิด ก็แพงขึ้นเรื่อยๆ (โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราทบต้น 7-8% ต่อปี) บริษัทประกันจึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราเบี้ยประกันสำหรับเด็กใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในปัจจุบันมากขึ้น (ไม่ได้ปรับเฉพาะรายบุคคล)

ทั้งนี้ทั้งนั้น การพิจารณาปรับโครงสร้างเบี้ยประกันของแต่ละบริษัทนั้นก็อาจจะแตกต่างกัน ตามต้นทุนค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัทที่ต้องแบกรับ ซึ่งขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ (รวมถึงอัตราค่าคอมมิชชั่นที่จ่ายให้กับตัวแทน) จำนวนลูกค้า หรือการเติบโตของยอดขายเบี้ยประกันที่ผ่านมา ถ้าบริษัทไหนต้องรับภาระเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่สูง เช่น มีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก หรือมีวงเงินความคุ้มครองที่ให้ลูกค้าสูงกว่าบริษัทอื่น ก็อาจจะมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มเบี้ยขึ้นสูงกว่า บริษัทที่รับภาระน้อยกว่า หรืออาจจะต้องยกเลิกความคุ้มครองในบางช่วงอายุไปเลยก็ได้ ถ้าพิจารณาแล้วพบว่า ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสูงมาก (ไม่คุ้มที่จะรับความเสี่ยงด้วยค่าเบี้ยประกันที่คิดในปัจจุบัน หรือไม่อย่างนั้นอาจจะต้องเพิ่มเบี้ยประกันจนแพงมากเกินไป จนแทบไม่ต่างอะไรจากการที่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง) เช่นที่ผ่านมา ก็มีบริษัทหนึ่งที่ยกเลิกการรับประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีไปเลย (ไม่ขายแล้ว) ขณะที่อีกบริษัทหนึ่ง ก็ยกเลิก แผนประกันสุขภาพสำหรับเด็กแผนต่ำสุดไป แต่ยังขายแผนที่ความคุ้มครองสูงอยู่ (ไม่ปรับเพิ่มเบี้ย แต่ใช้วิธีบังคับให้ลูกค้าต้องจ่ายค่าเบี้ยสูงขึ้นด้วยการทำแผนที่ความคุ้มครองสูงขึ้นแทน)

จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้บริษัทประกันต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการขาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเบี้ย หรือการยกเลิกแผนประกันบางแผน ก็เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ไม่อย่างนั้น หากธุรกิจแบกรับความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ธุรกิจก็อาจจะไปไม่รอด ครั้นจะให้รัฐบาลไปควบคุมการคิดค่าใช้จ่ายหรือค่ารักษากับทางโรงพยาบาลเอกชน ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะค่ารักษาที่สูงขึ้นก็เป็นเพราะต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อๆ กันมา จำพวกค่ายา ค่าเครื่องมือแพทย์ที่ต้องนำเข้า หรือค่าอุปกรณ์ต่างๆ ตามกลไกตลาดแบบทุนนิยม และเป็นธุรกิจที่ลูกค้า “ยอมจ่าย” แม้ราคาจะแพง เพราะเรื่องสุขภาพคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของค่าเบี้ยประกันที่แพงขึ้น ก็ควรจะอยู่ภายใต้ความเหมาะสมและ “ความเป็นธรรม” ของทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริษัทประกันเอง ที่แม้จำเป็นต้องเพิ่มเบี้ย ก็ควรเพิ่มตามความจำเป็นขั้นต่ำจริงๆ กับเฉพาะลูกค้าใหม่ ไม่เพิ่มสูงกว่าความจำเป็นเพื่อฉวยโอกาสหากำไรเพิ่ม หรือไปปรับเบี้ยกับลูกค้าเดิมที่ทำมาก่อนอยู่แล้ว ฝ่ายลูกค้า หรือ ผู้ทำประกันเอง ก็ควรเคลมประกันตามอาการ และความซื่อสัตย์ ไม่ฉวยโอกาสจากการที่ถือว่ามีประกันคุ้มครองอยู่แล้ว ก็ใช้สิทธินอนโรงพยาบาล ให้เบิกเคลมอย่างเต็มที่จนเกินความจำเป็น หรือ ฝ่ายโรงพยาบาลเองก็ควรคิดค่ารักษาตามสมควร ไม่ฉวยโอกาสที่ถือว่าลูกค้ามีบริษัทประกันมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้แทน เลยคิดค่ารักษาอย่างเต็มที่จนสูงเกินความเหมาะสม เพื่อให้เราทุกคนได้มีโอกาสทำประกันได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืนที่สุดครับ