posttoday

คาดปี60 เบี้ยประกันชีวิตรับรวม6 แสนล้านบาท

23 กุมภาพันธ์ 2560

สมาคมประกันชีวิตคาดว่าปี 2560 เบี้ยประกันรับรวมประมาณ 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%

สมาคมประกันชีวิตคาดว่าปี 2560 เบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% 

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย คาดว่า ปี 2560 ธุรกิจประกันชีวิตไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6% คิดเป็นเบี้ยรับรวม 6 แสนล้านบาท ทั้งนี้มาจากหลายปัจจัยประกอบด้วย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 ว่าจะขยายตัว 3.0 – 4.0% จากเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น สนับสนุนให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวเร่งขึ้น การลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ตามความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม อย่างไรก็ดี ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ยังเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยส่งเสริมจากภาครัฐ ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงหรือการออกกฎระเบียบต่างๆให้รองรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ได้กฎระเบียบที่มีความยืดหยุ่นเอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิตไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น “Digital Insurance” 2. ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มเป้าหมาย (Customer Segment)3.การส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ ถือว่ายังคงเป็นแรงดึงดูดใจสำคัญในการทำให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการทำประกันชีวิตมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัจจัยส่งเสริมจากภาคธุรกิจ ประกอบด้วย 1การแข่งขันกันของบริษัทประกันชีวิต เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายต่อเนื่อง การพัฒนาการให้บริการที่มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศในทุกๆด้านด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงาน การพัฒนาและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้นครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการพัฒนาการประชาสัมพันธ์ทุกสื่อเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างทั่วถึง

2 การส่งเสริมและสนับสนุนให้ความรู้ด้านการประกันชีวิตแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ที่เน้นการเข้าถึงประชาชนได้สะดวกและรวดเร็ว

3 การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลาย นอกเหนือจากการจำหน่ายผ่านตัวแทนฯ พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการให้บริการให้ทันสมัย สะดวกสบาย และสร้างความประทับใจในการใช้บริการ เพื่อรองรับ Life Style ของลูกค้าแต่ละราย เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มพฤติกรรมลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้น เพราะปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สาธารณสุข รวมทั้งปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป

4 การพัฒนาระบบการทำธุรกรรมประกันชีวิตผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Life Insurance) ให้ครอบคลุมในทุกขั้นตอนของการประกันชีวิต ตั้งแต่กระบวนการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิต จนถึงกระบวนการบริการหลังการขาย เพื่อลดขั้นตอนและความยุ่งยากในกระบวนการขาย และตอบโจทย์สังคมในยุคดิจิทัล

5 การขยายฐานการลงทุนในประเทศกลุ่มอาเซียน เพื่อรองรับการเปิด AEC และนอกอาเซียน ทั้งอาเซียน+3 และอาเซียน+6 ในรูปแบบสำนักงานผู้แทนร่วมทุน (Joint Venture) การเปิดสาขา (Branch)

6 การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน (Investment Link Product) เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่มองหาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิตและยังได้ผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เสนอขายผลิตภัณฑ์ Investment Link Product ให้มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์อย่างลึกซึ้ง

นางนุสรา กล่าวว่า ด้านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในปี 2560 นั้น เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่ายังจะคงอยู่ในระดับต่ำ หรืออาจจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปีหน้า บริษัทประกันชีวิตหลายบริษัทจึงเน้นขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบคุ้มครอง และผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน (Investment Link Product) มากขึ้น ประกอบกับปัจจุบัน ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการทำประกันชีวิต การวางแผนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น การมองหาการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่ให้ความคุ้มครองที่คุ้มค่าและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสามัญทั่วไป และตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการวางแผนชีวิตในวัยเกษียณกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงความตื่นตัวและกังวลกับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทประกันชีวิตหลายบริษัทมีนโยบายเน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีระยะการจ่ายเบี้ยประกันภัยที่ยาวขึ้น และปรับลดการขายผลิตภัณฑ์แบบชำระเบี้ยประกันภัยครั้งเดียวลง

สำหรับ ในยุคสังคมดิจิทัล บริษัทประกันชีวิตหลายบริษัทได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน มีความเข้าใจง่าย ที่จะออกมาจำหน่ายผ่านช่องทางดิจิทัลและเคาน์เตอร์เซอร์วิสเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนอง Life Style ของลูกค้าในปัจจุบัน

จากผลของการแข่งขันของบริษัทสมาชิกในการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย การขยายช่องทางการจัดจำหน่าย รวมไปถึงสิทธิผลประโยชน์ทางภาษีที่ผู้เอาประกันชีวิตจะได้รับต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในปี 2560

นางนุสรา กล่าวว่า สำหรับธุรกิจประกันชีวิตไทยในปี 2559 มีเบี้ยประกันชีวิตรวมทั้งสิ้น 5.68 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ จำนวน 1.61 แสนล้านบาท ติดลบ 5.8% และเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป 4.06 แสนล้านบาท ซึ่งมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต 84%