posttoday

ผู้รับประโยชน์ประกันชีวิตกับผู้รับทรัพย์มรดก

04 กุมภาพันธ์ 2559

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

กฎหมายภาษีมรดกเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว มหาเศรษฐีหลายท่านคงจะหาทางวางแผนการโอนทรัพย์มรดกกันแล้ว ว่ากันว่า ภาษีมรดกบังคับใช้ คนที่ได้ประโยชน์มี 3 กลุ่มหลักๆ คือ นักกฎหมาย นักวางแผนการเงิน และสุดท้ายก็คือ ตัวแทนประกันชีวิต

สำหรับนักกฎหมายและนักวางแผนการเงิน เราคงเข้าใจไม่ยากว่าทำไมถึงเป็นคนที่ได้ประโยชน์ แต่กับตัวแทนประกันชีวิต อาจสงสัยว่าทำไมถึงได้ประโยชน์
เหตุผลก็เพราะ มรดกคือทรัพย์สินของผู้ตาย ทรัพย์สินนั้นจึงต้องเป็นของผู้ตายอยู่ แล้วในเวลาที่ถึงแก่ความตาย เมื่อความตายเป็นเหตุให้ผู้ตายสิ้นสภาพบุคคลนับแต่ตายแล้วเป็นต้นไป ผู้ตายก็ไม่อาจมีสิทธิหรือหน้าที่ได้  ดังนั้นทรัพย์สินที่ได้มาเพราะความตาย หรือหลังจากนั้นไปก็ไม่อาจนับได้ว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย

ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะเหตุที่บุคคลถึงแก่ความตายก็ไม่เป็นมรดก ดอกผลของทรัพย์มรดกที่เกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตาย ไม่เป็นมรดกตัวอย่างเช่น เงินบำนาญตกทอดซึ่งทางราชการจ่ายให้ในกรณีที่ข้าราชการถึงแก่ความตาย เงินทุนสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลืองานศพและอุปการะบุตรของสมาชิกที่ถึงแก่ความตาย เงินทดแทนที่นายจ้างจ่ายให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อลูกจ้างถึงแก่ความตาย เป็นต้น

ส่วนเงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยตายบริษัทที่รับประกันก็จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ที่ผู้เอาประกันระบุไว้สืบเนื่องจากความตายของผู้ตาย เงินที่ได้จากประกันชีวิตนี้จึงมิใช่มรดก เพราะเหตุผลนี้ ผมถึงบอกครับว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากภาษีมรดกอีกคน คือ ตัวแทนประกันชีวิต เพราะสามารถนำเสนอประกันชีวิตสำหรับการวางแผนภาษีมรดกได้นั่นเองครับ

แต่แม้ประกันชีวิตจะไม่ใช่มรดก และผู้ที่จะได้รับเงินประกันชีวิตเมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย คือ ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุในกรมธรรม์ ไม่ใช่ทายาทก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังสำหรับการใช้ประกันชีวิตสำหรับการวางแผนภาษีมรดกหลายกรณี อาทิ เช่น

1.  กรณีผู้เอาประกันไม่ได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ หากต่อมาผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจำนวนเงินเอาประกันภัยจะตกแก่กองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งหากมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้กับทายาทและเข้าเงื่อนไขของการที่ต้องเสียภาษีมรดก ทายาทก็ต้องเสียภาษีมรดกครับ ดังนั้น หากจะวางแผนภาษีมรดกด้วยประกันชีวิต ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์ครับ

2. กรณีผู้รับประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ให้ผู้รับประกันภัยทราบ แต่หากไม่มีการแจ้ง ผลจะเป็น ดังนี้

1) กรณีระบุผู้รับประโยชน์คนเดียว จะถือเสมือนว่า เป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่ได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์หากต่อมาผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจำนวนเงินเอาประกันภัยจะตกแก่กองมรดกของผู้เอาประกันภัย กรณีนี้ก็จะเหมือนกับข้อ 1 ครับ ดังนั้นหากผู้รับประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้เอาประกัน ผู้เอาประกันชีวิตควรรีบแจ้งบริษัทประกันชีวิตเพื่อเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์เป็นคนใหม่ครับ หรืออีกวิธีคือ ระบุผู้รับประโยชน์หลายคน

2) กรณีระบุผู้รับประโยชน์หลายคน หากผู้รับประโยชน์คนหนึ่งได้ตายก่อนผู้เอาประกันภัยจำนวนเงินเอาประกันภัยในส่วนของผู้รับประโยชน์คนที่ตายก่อนจะตกผู้รับประโยชน์ที่เหลือ และหากผู้รับประโยชน์ที่เหลือมีมากกว่าหนึ่งคน ผู้รับประโยชน์ที่เหลือจะได้รับจานวนเงินเอาประกันภัยในส่วนของผู้รับประโยชน์คนที่ตายก่อนเป็นส่วนๆเท่าๆกัน จะเห็นนะครับว่าวิธีนี้ต่อให้ผู้รับประโยชน์ตายก่อนผู้เอาประกัน เงินประกันชีวิตก็จะไม่ตกแก่กองมรดก นอกจากกรณีเดียว คือ ผู้รับประโยชน์ตายก่อนผู้เอาประกันหมดทุกคนและผู้เอาประกันไม่ได้แจ้งบริษัทประกันชีวิตเพื่อเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์เป็นคนใหม่ อันนี้ก็คงช่วยอะไรไม่ได้แล้วครับ