posttoday

ธุรกิจประกันปี’59 ความเสี่ยงยังรุมเร้า

05 มกราคม 2559

ปี 2558 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยอย่างหนักอีกปีหนึ่ง

โดย...วารุณี อินวันนา

ปี 2558 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยอย่างหนักอีกปีหนึ่ง ทำให้ประชาชนเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านการทำประกันลง ส่งผลให้ธุรกิจประกันกลายเป็นอีกธุรกิจที่เติบโตต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยคาดว่าจะมีเบี้ยประกันวินาศภัยรับรวมขยายตัวได้เพียง 2% คิดเป็นเบี้ยประมาณ 2.09 แสนล้านบาท ขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตยังมีแนวโน้มที่ดีกว่า มีอัตราเติบโตสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี โดยคาดว่าเบี้ยประกันรับรวมจะขยายตัว 7% หรือมีเบี้ยรับรวม 5.4 แสนล้านบาท

สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัย ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้ประชาชนซื้อประกันภัยในวงเงินความคุ้มครองที่ต่ำลง เช่น จากที่เคยซื้อประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ก็หันมาซื้อประกันภัยประเภท 3 พลัส ที่คุ้มครองกรณีรถชนรถ ซึ่งเบี้ยถูกลงเกือบ 3 เท่า โดยประกันรถยนต์ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุด มีการแข่งขันสูง เพราะแม้ค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงงาน ค่าอะไหล่ และต้นทุนดำเนินงานจะสูงขึ้น แต่ทุกบริษัทต้องรักษาการเติบโตของธุรกิจไว้ ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ทำให้มีการแข่งขันด้านราคาอย่างหนัก

การแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยขนาดเล็กขยายธุรกิจเกินกำลังเงินทุน จนทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องใช้มาตรการสั่งห้ามขายประกันชั่วคราว จนกว่าจะแก้ไขฐานะเงินกองทุนเสร็จสิ้น ทั้งการดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด การจัดหาเงินทุน เช่น การเพิ่มทุนให้เพียงพอต่อภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด

ด้านธุรกิจประกันชีวิต แม้จะยังคงมีเบี้ยรับเพิ่มในอัตราสูงกว่าการเติบโตของจีดีพี แต่ธุรกิจประกันชีวิตก็ต้องเผชิญกับปัญหาความเชื่อมั่นลดลง จากการขายประกันผ่านธนาคารที่เดินเกมรุกมากเกินไป ทำให้พนักงานต่างเร่งทำยอดขายโดยไม่ระมัดระวังความถูกต้องของข้อมูลที่ให้กับลูกค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย จนปีที่ผ่านมาสัดส่วนเบี้ยประกันชีวิตผ่านช่องทางธนาคารมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 43.95% ของเบี้ยรับรวม ทั้งที่เริ่มทำตลาดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง สัดส่วนดังกล่าวใกล้เคียงกับช่องทางการขายผ่านตัวแทนที่มีมากว่า 60 ปี ซึ่งอยู่ที่ 49.33% ของเบี้ยรับรวม

ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาการขายประกันผู้สูงอายุ ที่เนื้อหาโฆษณาคลุมเครือจนประชาชนเข้าใจผิด และเมื่อซื้อแล้วไม่สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ตามที่เข้าใจ ก่อให้เกิดเรื่องราวร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบจำนวนมาก

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.คนใหม่ ต้องขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควบคุมดูแลให้พนักงานธนาคารขายอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นประกันชีวิต เน้นเรื่องความคุ้มครอง มากกว่าเสนอผลตอบแทน ขณะที่เรื่องโฆษณาคลุมเครือ คปภ.ต้องเรียกระดมบริษัทประกันชีวิตทั้งหมดมาหารือและปรับเปลี่ยนแก้ไขข้อความโฆษณาให้มีความชัดเจนเรื่องข้อยกเว้นต่างๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิด และต้องทำแบบกรมธรรม์ประกันสูงอายุที่แตกต่างออกไป เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ถูกต้อง

สำหรับปี 2559 นี้ คปภ.คาดว่าธุรกิจประกันของไทยยังเติบโตชะลอตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา กำลังซื้อของคนไทยที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น และอาจจะมีปัญหาหนักขึ้นจากภัยแล้งที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตด้านการเกษตรลดลงกระทบต่อรายได้เกษตรกรและกำลังซื้อ

ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจประกันภัยทั้งระบบจะมีเบี้ยรับรวม 8.10 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.85% แยกเป็นเบี้ยประกันชีวิต 5.94 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% สอดคล้องกับตัวเลขของสมาคมประกันชีวิตไทย และเบี้ยประกันวินาศภัย 2.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% ต่ำกว่าที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดว่าเบี้ยจะเติบโต 3.5% โดยมีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 2.16 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ธุรกิจประกันยังต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของสากล และปัญหาขนาดของบริษัทประกันเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย ซึ่งเป็นความเสี่ยงภัยในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยปีนี้ คปภ.ได้กำหนดให้เกณฑ์กำกับดูแล ระยะที่ 2 ที่บริษัทประกันต้องดำเนินการ ในการรักษาระดับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย หรือ RBC โดยจะทำการทดสอบอีกครั้งถึงความเพียงพอและความสามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ดีขึ้น ซึ่งจะนำมาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง 5 ปี ที่ต้องมีระดับความเชื่อมั่นที่ยอมรับได้ การตั้งสำรองความเสี่ยงในสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงขึ้น

รวมถึงการตั้งสำรองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสำรองความเสี่ยงด้านมหันตภัยในธุรกิจประกันวินาศภัย และการตั้งสำรองความเสี่ยงจากการดำเนินงาน การตั้งสำรองความเสี่ยงจากการยกเลิกกรมธรรม์ในธุรกิจประกันชีวิต เพื่อรองรับกรณีที่หากเศรษฐกิจยังชะลอตัว อาจทำให้ประชาชนหันมายกเลิกกรมธรรม์เพื่อขอเงินคืนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน อาจจะได้เห็นการเพิ่มทุน หรือการควบรวมของบริษัทประกันขนาดเล็ก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และรองรับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดย คปภ.พยายามเข้าไปดูแล เช่น การเจรจาต่อรองให้นักลงทุนต่างประเทศที่สนใจเข้ามาซื้อกิจการบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ให้ซื้อบริษัทอื่นๆ ด้วยอย่างน้อย 2-3 บริษัทในครั้งเดียว

นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ของ คปภ.แล้ว ธุรกิจประกันปีนี้ยังต้องเผชิญกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์สากล เช่น กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยอาศัยช่องทางประกันภัย ประกันชีวิต หรือเฟตเอฟ ที่ก่อนหน้านี้ได้ให้เวลาธุรกิจประกันปรับตัวจนถึงปีนี้ การปฏิบัติตามแนวทางการกำกับดูแลของสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (IAIS) ที่จะเพิ่มความเข้มงวดด้านกำกับด้านการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจใหม่ การกำกับดูแลความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยี การก่อการร้ายข้ามชาติ

อย่างไรก็ตาม ตลาดประกันภัยไทยในสายตาของต่างชาติยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้อีก โดยธุรกิจประกันชีวิตในไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโต โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การที่รัฐบาลให้สิทธิลดหย่อนภาษี รวมทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายที่ดีขึ้น มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น เช่นเดียวกัน ธุรกิจประกันวินาศภัยที่ยังเติบโตได้จากภัยที่เกิดขึ้นรอบตัว ทั้งภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น และภัยธรรมชาติ

แต่ถึงที่สุดแล้ว การแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากภายในและภายนอกในยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจประกันภัยก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม สร้างเงินกองทุนที่แข็งแกร่งให้ได้ เพราะมีเพียงบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่ดีเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้