posttoday

ประกันปั้น "อี-เคลม" จ่ายสินไหมอุบัติเหตุและสุขภาพ

01 มิถุนายน 2558

ความรวดเร็วทำให้ ผู้ประสบภัย ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลดอาการบาดเจ็บหนัก ลดอัตราการตาย

โดย...วารุณี อินวันนา

บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้พัฒนาระบบการจ่ายสินไหมทดแทนอัตโนมัติ หรือ อี-เคลม (e-Claim System) มาตั้งแต่ปี  2550   ให้กับผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อไม่ให้ประชาชนสำรองจ่าย และให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที  พัฒนาการขั้นต่อไป คือ การพัฒนาให้ อี-เคลม รองรับผู้ป่วย ที่ทำประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ

นพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางฯ กล่าวว่า ขณะนี้ บริษทประกันวินาศภัย และ บริษัทประกันชีวิต ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อนำระบบนี้ไปดูแลลูกค้าที่ทำประกันดังกล่าว เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องสำรองจ่าย จะช่วยลดความกังวล และภาระของลูกค้าได้ รวมทั้ง ยังลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 นี้

ทั้งนี้  อี-เคลม จะเป็นระบบให้บริการสินไหมทดแทนแห่งอนาคต เพราะต่อไปบริษัทประกันวินาศภัย และ บริษทประกันชีวิต จะนำ อี-เคลม มาบริการการจ่ายสินไหมประกันภัยทุกประเภท เพราะสะดวกต่อประชาชน ยังสะดวกต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงาน ประหยัดกระดาษ ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลดลง

ปัจจุบัน อี-เคลม ให้บริการเฉพาะผู้ประสบภัยจากรถ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดให้รถทุกคันในประเทศต้องทำประกันพ.ร.บ.  และการประกันภัยไมโครอินชัวรันส์  หรือประกันภัยราคาถูก เช่น ประกันภัย 200   โดยระบบ อี-เคลม จะเชื่อมระหว่าง โรงพยาบาลกับบริษัทประกันภัย เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ในการตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ทำให้ประชาชนไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น 5 หมื่นบาท หากต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเมื่อประสบอุบัติเหตุจากรถ

ในขั้นตอนการเคลม ทางโรงพยาบาล เมื่อรับผู้บาดเจ็บเข้ามา จะสอบถามสาเหตุของอุบัติเหตุ หากเกิดจากรถ จะบันทึกชื่อลูกค้า และทะเบียนรถ ตรวจสอบความคุ้มครอง ให้การรักษา และบันทึกค่ารักษา ส่งเอกสารแจ้งหนี้/วางบิล ไปยังบริษัทกลางฯ เพื่อจ่ายค่ารักษา และทางโรงพยาบาลออกใบเสร็จรับเงินให้ ใช้เวลา 7 วัน จากเดิมที่ใช้เวลาร่วม 15 วัน และในอนาคตจะลดระยะเวลาในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ภายใน 2 วัน

"ความรวดเร็วนี้ ทำให้ ผู้ประสบภัย ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลดอาการบาดเจ็บหนัก ลดอัตราการตาย และฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ ทำให้ทางโรงพยาบาลมีเตียงว่างในการรับผู้ประสบภัยรายใหม่ รวมทั้งเก็บเงินได้อย่างรวดเร็ว"นพดล กล่าว

ขณะที่ บริษัทประกันภัย ลดขั้นตอนในการทำงาน ปิดช่องโหว่การทุจริต หรือ การรั่วไหล ของค่าใช้จ่ายในการทำเคลม การที่ผู้ประสบภัยได้รับการรักษาทันท่วงที ทำให้หายเร็ว ส่งผลให้ค่ารักษาไม่สูง

ปัจจุบัน มีบริษัทประกันภัยเข้าสู่ระบบอี-เคลม ของบริษัทกลางฯ  37 บริษัท มีส่วนแบ่งการตลาดประกันภัยพ.ร.บ.ประมาณ 90%   ของประกันพ.ร.บ.ทั้งหมด ส่วนโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เชื่อมระบบอี-เคลม 2,076 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ดูแลประชาชนได้ทุกพื้นที่ รวมถึง ร่วมมือกับหน่วยกู้ชีพ กู้ภัย 1,762 แห่ง ในการนำระบบอี-เคลม มาใช้เป็นเครื่อมือในการรับแจ้งอุบัติเหตุจากรถเพิ่มเติมจากการตรวจสอบสิทธิทางกฎหมาย

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ  สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยังได้นำระบบอี-เคลม ให้ทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เชื่อมระบบด้วย เพื่อให้ สปสช. สามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินและระบบข้อมูลต่างๆ (Clearing House) ในระบบการประกันสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น แก้ปัญหา การจ่ายค่ารักษาพยาบาลซ้ำซ้อน

นพดล ย้ำว่า ระบบ อี-เคลม ทำให้บริษัทประกันภัย สามารถควบคุมต้นทุนค่ารักษาพยาบาล จากการลดขั้นตอนการทำงาน การดูแลผู้ป่วยให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการเพิ่มเบี้ยประกันพ.ร.บ. ตรงข้ามมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรถเก๋ง ลดจาก  1,200 บาทต่อปี เหลือ 642  บาทต่อปี

นับว่า สวนทางกับค่ารักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 10% และยังได้เพิ่มความคุ้มครองให้กับประชาชนสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเร็วๆ นี้ก็จะมีการเพิ่มความคุ้มครองตามพ.ร.บ.ขึ้นอีก โดยค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มจาก 5 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท และกรณีเสียชีวิต พิการถาวร จะเพิ่มจาก 2 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท