posttoday

อลิอันซ์ฯเขย่าพอร์ตลงทุน

26 มิถุนายน 2556

อลิอันซ์ฯ ปรับพอร์ตลงทุน 1.14 แสนล้านบาท เดินหน้าทยอยขายทำกำไรต่อเนื่อง สลับเก็บหุ้นรอบใหม่

อลิอันซ์ฯ ปรับพอร์ตลงทุน 1.14 แสนล้านบาท เดินหน้าทยอยขายทำกำไรต่อเนื่อง สลับเก็บหุ้นรอบใหม่

นายอูลฟ์ แลงจ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงิน บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เปิดเผยว่า บริษัทมีการปรับพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากช่วงต้นปีที่อยู่ระดับ 2% ของสินทรัพย์ลงทุนทั้งหมด 1.14 แสนล้านบาท เหลือ 1.6% ในปัจจุบัน และยังคงมีการทยอยขายหุ้นที่มีกำไรออกมาก่อน สลับกับเลือกหุ้นพื้นฐานดีราคาถูกให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาวเข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่สรุปแล้วจะมียอดขายมากกว่าซื้อเข้า เพราะมองว่าตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนไปถึงปลายปีนี้ ประกอบกับมั่นใจว่าจะซื้อหุ้นได้ในราคาที่ดีกว่าปัจจุบัน จึงยังไม่ได้รีบที่จะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มมากนักในช่วงนี้ โดยรักษาสัดส่วนไว้ไม่เกิน 1.6%

ผู้ถือกรมธรรม์จะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดหุ้นไทย เพราะบริษัทมีการลงทุนเพียงส่วนน้อยและที่ขายออกมานั้นเป็นการทำกำไร โดยเกือบ 100% ของสินทรัพย์ลงทุน 1.14 แสนล้านบาท มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ระยะยาว คือ พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 68.2% หุ้นกู้ 21.4% ปล่อยกู้โดยมีกรมธรรม์ค้ำประกัน 4.8% และลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 3.2% ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี โดยปีที่ผ่านมามีการจ่ายปันผลให้|ผู้ถือกรมธรรม์ของบริษัทอยู่ที่ 4.1%

“หลังจากนักลงทุนต่างชาติมีการถอนเงินลงทุนออกไป ทำให้ผลตอบแทนตลาดพันธบัตรไทยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% จากต้นปีที่อยู่ระดับ 3.6% เราก็ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเราก็ไม่ได้รับผลกระทบเพราะเราลงทุนในสกุลเงินบาท”นายแลงจ์ กล่าว

นายแลงจ์ กล่าวว่า ผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ 4% ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 4% และคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปในระยะกลางถึงระยะยาว ฉะนั้นโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาหาผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลไทยยังมีอีก

ทั้งนี้ ถ้าอัตราดอกเบี้ยในยุโรปและสหรัฐยังต่ำ เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังไม่เปลี่ยน จึงยังเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนระยะยาว แม้อาจจะมีความกังวลจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ จะผลักดันให้หนี้สาธารณะของไทยปรับสูงขึ้น แต่ยังมีสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับหนี้สาธารณะของสหรัฐและในยุโรป

อย่างไรก็ตาม การลงทุนโครงการขนาดใหญ่จะทำให้สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น แต่การลงทุนระยะสั้นยังผันผวนต่อไป และยังไม่ชัดเจนว่าถึงตอนนี้เป็นระดับต่ำสุดหรือยัง ขณะที่การลงทุนในจีนเริ่มชะลอตัวลง ธนาคารมีการยืมเงินกันได้ยากขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยมีการปรับสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าสภาพคล่องในจีนลดลง ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนที่จีนมีมากขึ้น