posttoday

คปภ.หนุนประกันควบกิจการ

16 มกราคม 2556

บริษัทประกันภัย เฮ ครม. อนุมัติร่างภาษีส่งเสริมการควบรวมกิจการของสถาบันการเงิน

บริษัทประกันภัย เฮ ครม. อนุมัติร่างภาษีส่งเสริมการควบรวมกิจการของสถาบันการเงิน

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ….และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ ... ) พ.ศ... เพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการประเด็นเงินสำรองของสถาบันการเงินและกิจการประกันภัย โดยมีสาระสำคัญ  ของร่างพระราชกฤษฎีกา ดังนี้

1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการที่ต้องจดทะเบียนเลิก สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินสำรองซึ่งได้กันไว้ตามมาตรา 65 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น สำรองจากเบี้ยประกันภัย ค่าเผื่อหนี้สูญ หรือหนี้สงสัยจะสูญ และต้องนำมารวมเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามมาตรา 74 (2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กำหนดให้รายจ่ายของบริษัทใหม่ที่ควบเข้ากันหรือผู้โอนกิจการจากการโอนกิจการทั้งหมด เป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่ได้กันไว้ ตามมาตรา 65 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร ของบริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการที่ต้องจดทะเบียนเลิกเป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (20)

ทั้งนี้ เดิมบริษัทที่เป็นสถาบันการเงินหรือที่ประกอบกิจการประกันภัย ที่มีการควบรวมกัน ถือว่าบริษัทเดิมเลิกกิจการ จะต้องนำเงินสำรองมารวมกันเพื่อมาคำนวณเสียภาษีทันที ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคในการควบรวมกิจการและทำให้สถาบันการเงินและกิจการประกันภัยที่จะควบรวมกิจการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งขาดความเข้มแข็งทางการเงิน

สำนักงาน คปภ. จึงร่วมกับ สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผลักดันผ่านคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย และกรมสรรพากร ให้มีการแก้ไขกฎหมายให้บริษัทประกันภัยที่มีการควบรวมกิจการหรือโอนกิจการเข้าด้วยกันไม่ต้องนำเงินสำรองมาคำนวณภาษีทันทีที่มีการควบรวมกิจการ

นายประเวช กล่าวว่า การสนับสนุนให้มีการควบรวมกิจการหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน จะทำให้ธุรกิจประกันภัยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการลดต้นทุนและลดขั้นตอนในการดำเนินการควบรวมกิจการ โดยจากนี้ไปจะเห็นบริษัทประกันภัยมีการควบรวมกันมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับบริษัทประกันภัย รวมถึงเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับธุรกิจประกันภัยไทยมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะดำเนินการตรวจรับร่างกฎหมายดังกล่าว และดำเนินการต่อไป