posttoday

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “การกีดกันต่อเพศทางเลือก” ในประเทศไทย

28 มิถุนายน 2565

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “การกีดกันต่อเพศทางเลือก” ในประเทศไทย (Economics of LGBTQ+ Discrimination in Thailand)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

เดือนมิถุนายนนี้เป็นเดือนที่มีความสำคัญและถือได้ว่าเป็นเดือนแห่งสัญลักษณ์ของกลุ่มเพศทางเลือกทั้งโลก เพราะเป็นเดือนที่เรียกว่า “Pride Month” โดยในช่วงเดือนนี้เราจะได้เห็นพื้นที่ต่าง ๆ ประดับประดาด้วยธงสีรุ้ง รวมไปถึงการเปลี่ยนรูป Profile ตามสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ให้เป็นสีรุ้งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเท่าเทียมสิทธิ์ทางเพศ ดังนั้นจึงถือได้ว่า Pride Month เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับชาว LGBTQ+ หรือ 5 กลุ่มเพศทางเลือก อาทิ Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer และอื่น ๆ

จะว่าไปแล้ว การสร้างความเสมอภาคต่อเพศทางเลือกได้มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ในยุคปี 1970 ที่กลุ่ม LGBTQ+ ยังไม่ได้ยอมรับทางสังคมและไม่มีการยอมรับทางกฎหมาย โดยกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันจะถูกตัดสินว่ามีความผิดทางกฎหมายในทันที ซึ่งในช่วงเวลานั้นความรักของชาว LGBTQ+ จึงจำเป็นต้องถูกปิดเป็นความลับ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในต่างประเทศในปี 2000 ที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่าง Bill Clinton ออกมาประกาศให้เดือนมิถุนายนถือเป็นเดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน (Gay & Lesbian Pride Month) และในปี 2009 ประธานาธิบดีอย่าง Barack Obama ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) จนกระทั่งได้มีการออกแบบธงสีรุ้งขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้กับความหลากหลายทางเพศนี้

ในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศเริ่มผลักดันกฎหมายให้การแต่งงานกันของคู่รักเพศเดียวกันสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้มีการทำสำเร็จไปแล้วในหลายประเทศ โดยเริ่มกันที่ทวีปยุโรปที่เรียกว่าเป็นทวีปแรก ๆ ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมโดยมีทั้งหมด 17 ประเทศ (นอร์เวย์, สวีเดน, เยอรมนี, สเปน, ออสเตรีย, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, เบลเยียม, ฟินแลนด์, ไอร์แลนด์, ไอซ์แลนด์, มอลตา, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, ลักเซมเบิร์ก, เดนมาร์ก) ในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้อีก 10 ประเทศ (สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, คอสตาริกา, เม็กซิโก, บราซิล, อาร์เจนตินา,โคลอมเบีย, ชิลี, เอกวาดอร์, อุรุกวัย) ในขณะที่ในทวีปเอเชียได้มีประเทศที่มีการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วเพียงประเทศเดียวเท่านั้น (ตามข้อมูลล่าสุดที่เขียนบทความนี้) ซึ่งก็คือประเทศไต้หวัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า วิวัฒนาการของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ อย่างการออกกฎหมายในเรื่องของการสมรสเท่าเทียมของกลุ่มประเทศเอเชียเรานั้นยังล้าหลังกว่าประเทศในกลุ่มยุโรปเป็นอย่างมาก

ในกรณีของประเทศไทยเอง ได้เริ่มจากการออก ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตในปี พ.ศ.2556 แต่ พ.ร.บ. นี้ยังคงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะสิทธิ์ที่ได้รับจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะน้อยกว่าในกรณีของการสมรสเท่าเทียม เช่น การกำหนดถ้อยคำที่แยกออกมาเป็น “คู่ชีวิต” (ไม่ใช่คำว่าคู่สมรส) ทำให้คู่ชีวิตขาดโอกาส ในการเข้าถึงสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่รัฐได้กำหนดไว้ให้คู่สมรส เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรสตามประมวลรัษฎากร

คำถามง่าย ๆ ต่อมาก็คือ เพราะเหตุใด วิวัฒนาการของการให้ความเท่าเทียมกันกับเพศทางเลือกถึงเป็นไปอย่างล่าช้าหรือเป็นไปได้ยากมาก ๆ ในประเทศใดประเทศหนึ่ง คำตอบก็มีเพียงหนึ่งเดียวนั่นก็คือ “สังคมยังคงมีการกีดกันต่อเพศทางเลือก” นี้ไม่มากก็น้อย และยังขึ้นอยู่กับทัศนคติ (ทางลบ) (Homonegativity) ที่คนในสังคมนั้น ๆ มีต่อเพศทางเลือก

งานศึกษาวิจัยที่ออกมาได้ค้นพบว่า จะมีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับของการยอมรับ (หรือกีดกัน) เพศทางเลือกนี้ เช่นงานศึกษาพบว่า ระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะส่งผลต่อการยอมรับต่อเพศทางเลือกที่แตกต่างกัน โดยประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่าก็จะมีระดับของการเปิดกว้างและยอมรับต่อเพศทางเลือกที่สูงกว่าประเทศที่มีระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจต่ำ ในขณะที่งานวิจัยยังพบว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และศาสนาเองก็จะส่งผลต่อการยอมรับ (หรือกีดกัน) เพศทางเลือกที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน โดยงานศึกษาพบว่า เพศชายจะมีระดับของการกีดกันต่อเพศทางเลือกมากกว่าเพศหญิง, คนที่มีอายุมากจะมีโอกาสที่จะกีดกันเพศทางเลือกมากกว่าคนที่มีอายุน้อย, คนที่มีการศึกษาต่ำจะมีโอกาสของการกีดกันต่อเพศทางเลือกมากกว่าคนที่มีการศึกษาสูง, คนที่มีรายได้น้อยมีโอกาสที่จะกีดกันเพศทางเลือกมากกว่าคนที่มีรายได้มาก, ในขณะที่คนที่แต่งงานแล้วหรือหย่าร้างจะมีโอกาสที่จะกีดกันเพศทางเลือกมากกว่าคนที่มีสถานะโสดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Shackelford and Besser, 2007)

อย่างไรก็ดี จากการใช้ข้อมูลเปรียบเทียบกันหลากหลายประเทศ (Cross-Country Study) ปัจจัยทาง “ด้านศาสนา” ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่จะส่งผลต่อระดับของการกีดกันต่อเพศทางเลือกมากที่สุด โดยงานศึกษาของ Jäckle, and Wenzelburger (2014) ได้ทำการศึกษาใน 79 ประเทศในการหาปัจจัยด้านระดับความเชื่อทางศาสนาต่อระดับของการกีดกันต่อเพศทางเลือก โดยพบว่าถ้าคน ๆ นั้น ยิ่งมีระดับความเชื่อทางศาสนามากเท่าไร คน ๆ นั้นก็จะมีระดับของการกีดกันต่อเพศทางเลือกมากเท่านั้น โดยผลการศึกษาพบว่า ศาสนาที่มีระดับของการกีดกันจากมากไปน้อยได้แก่ มุสลิม, ฮินดู, คริสต์, ยิว และน้อยที่สุดจะเป็นศาสนาพุทธ หรือสามารถกล่าวได้ว่า ประเทศที่นับถือศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าเป็นอย่างสูงดูจะมีระดับของการกีดกันที่สูงกว่าประเทศที่ไม่ได้เชื่อในพระเจ้า (เช่น ศาสนาพุทธ) โดยอาจจะเนื่องจากว่า การมีเพศสภาพอื่นนอกเหนือจากหญิงหรือชาย ดูจะขัดกับหลักความเชื่อของพระเจ้าก็เป็นได้

แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าศาสนาพุทธดูน่าจะมีระดับของการกีดกันต่อเพศทางเลือกต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับศาสนาอื่น ๆ ก็ตาม แต่ผลออกมาก็เห็นได้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปเอเชียที่นับถือศาสนาพุทธเองก็ดูจะยังไม่ได้เปิดยอมรับเพศทางเลือกสักเท่าใดนัก จึงนำมาสู่งานศึกษาชิ้นล่าสุดของผมที่ทำการศึกษาเพื่อวัดระดับของการกีดกันต่อเพศทางเลือก (LGBTQ+ Discrimination) โดยใช้ข้อมูลของประเทศไทยมาใช้ในการศึกษา โดยงานวิจัยชิ้นนี้ทำร่วมกับคุณกฤชกนก ศรีเมือง โดยนำข้อมูลการสำรวจประชาชนไทยที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป จำนวน 27,885 คน จากการสำรวจสังคมและวัฒนธรรมของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาทำการวิเคราะห์เพื่อหาความน่าจะเป็นของการ "กีดกันหรือการมีความรู้สึกทางลบ" ต่อเพศทางเลือกในกลุ่ม LGBT ในประเทศไทย (Srimuang and Pholphirul, 2022) โดยจากการประมาณการด้วยแบบจำลองพบว่า

1. ปัจจัยทางด้านอายุจะส่งผลของการกีดกันสูงที่สุด โดยถ้าอายุมากขึ้นก็จะมีแนวโน้มของการกีดกันสูงกว่ากลุ่มเยาวชน โดยกลุ่ม Silent Generation ที่มีอายุ 73 ปีขึ้นไปจะมีแนวโน้มที่จะกีดกันเพศทางเลือกมากกว่ากลุ่ม Gen C ถึงร้อยละ 30 โดยอายุที่เริ่มจะมีระดับของการกีดกันสูงมากขึ้นมากก็คืออายุประมาณ 54 ปีขึ้นไป (กลุ่ม Baby Boomer)

2. ปัจจัยทางด้านศาสนายังคงมีบทบาทของการกีดกันมากขึ้น โดยคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธจะมีแนวโน้มของการกีดกันต่อเพศทางเลือกมากกว่าคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธถึงร้อยละ 26-29

3. งานศึกษายังพบว่า การเชื่อในหลักคำสอนทางพุทธศาสนา เช่น การให้อภัย การมีความสุขในการช่วยเหลือผู้อื่น หรือการเห็นแก่คนอื่นจะส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการกีดกันต่อเพศทางเลือกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

4. นอกจากนี้ยังพบว่า ระดับของการกีดกันยังแตกต่างตามแต่ละกลุ่ม โดยกลุ่ม Gay (ร้อยละ 49.1) กับ Lesbian (ร้อยละ 47.2) จะมีระดับของการถูกกีดกันสูงกว่ากลุ่มอื่น (สูงกว่ากลุ่มแปลงเพศ กลุ่มกระเทย และทอม)

5. ปัจจัยอื่น ๆ ก็ส่งผลต่อระดับของการกีดกันต่อกลุ่มเพศทางเลือกด้วยเช่นกัน (แต่ต่ำกว่าปัจจัยข้างต้น) เช่น ผู้ชายจะกีดกันมากกว่าผู้หญิงประมาณร้อยละ 1.6-2.5, คนไม่มีการศึกษาจะกีดกันมากกว่าคนจบมหาวิทยาลัยประมาณร้อยละ 8, คนที่แต่งงานแล้วจะกีดกันมากกว่าคนโสดประมาณร้อยละ 2.6-3.7 และคนภาคใต้จะมีแนวโน้มของการกีดกันมากกว่าภาคอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ทั้งนี้ งานวิจัยมีการเก็บข้อมูลเฉพาะกลุ่ม กระเทย ทอม เกย์ และเลสเบี้ยนเท่านั้น จึงไม่สามารถวิเคราะห์สำหรับเพศสภาพอื่น ๆ นอกจากนี้ได้

แต่อย่างไรก็ดี ถ้านำผลการศึกษานี้ไปใช้ในการวิเคราะห์หาว่า เพราะเหตุกลุ่มเพศทางเลือก LGBTQ+ นั้นถึงยังคงมีการกัดกันในประเทศไทย และส่งผลต่อ “ความยากเย็น” ในการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้นก็เพราะว่า ผู้ที่ทำหน้าที่อนุมัติให้เกิดกฎหมายเหล่านั้นอาจจะอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีระดับของการกีดกันสูงอยู่แล้วก็เป็นได้ (เช่น จากเพศชายที่อายุมากและไม่ค่อยมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น) ทั้งนี้ โดยส่วนตัวผมขอเป็นกำลังใจให้กฎหมายการสมรสเท่าเทียมสามารถคลอดออกมาได้เพื่อที่จะเป็นการสร้างความเท่าเทียมสิทธิ์ทางเพศของประเทศไทยเราต่อไปครับ สู้ ๆ ครับ

ป.ล. ผู้สนใจงานวิจัยของผมสามารถ download ได้จาก https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/00918369.2021.2018876?journalCode=wjhm20

อ้างอิงJäckle, S. & Wenzelburger, G. (2014). Religion, Religiosity, and the Attitudes Toward Homosexuality—A Multilevel Analysis of 79 Countries. Journal of Homosexuality, 62(2), 207–241. Shackelford, T. & Besser, A. (2007). Predicting Attitudes toward Homosexuality: Insights from Personality Psychology. Individual Differences Research, 5(2), 106–114.Srimuang, K. and Pholphirul, P. (2022) Measuring LGBT Discrimination in a Buddhist Country, Journal of Homosexuality, DOI: 10.1080/00918369.2021.2018876