posttoday

ถ้านายจ้างลุกขึ้นมาดึงลูกหนี้จากความไม่เป็นธรรม ที่หลงทำกันมานมนานจนคิดว่ามันคือความเป็นธรรม

27 มิถุนายน 2565

ผู้เขียนขอคารวะการยืนหยัดที่จะทำหน้าที่เพื่อให้ภารกิจการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนบรรลุเป้าหมาย แม้จะมีกระบวนการเตะตัดขาจากคนที่ได้ชื่อว่ามีการศึกษาสูงก็ตาม

คอลัมน์ เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ ตอนที่ 24/2565

มีใครบางคนเคยกล่าวไว้ตอนร่วมทำงานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา (ครู) ว่า เรามาร่วมการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ไม่ใช่หนี้เสีย เราเข้าใจเจ้าหนี้เสมอว่าท่านจะกินเจตลอดปีไม่ได้ เราเคยคิดว่าต้องมีคนกลางมาดูแล แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า คนที่เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดเกมส์นี้คือนายจ้าง เพราะการหักเงินเดือนของลูกจ้างของตนส่งให้เจ้าหนี้นั้นมันมีความหมาย มันคือกระบี่อิงฟ้า ดาบฆ่ามังกรที่จะพิทักษ์ความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ผมขอเสนอบทความที่ ดร.ขจร ธนะแพสย์ ได้นำเสนอแนวคิดที่ทรงพลังเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ดังนี้ครับ

มนุษย์มักจะทำอะไรเพียงเพราะที่ผ่านมาในอดีตเคยปฏิบัติมาเช่นนั้น หรือที่เรียกว่า “ทำเพราะเคยทำ” โดยอาจไม่ได้ตรวจสอบ ตั้งคำถาม หรือพิจารณาถึงเหตุและผลของการกระทำดังกล่าวว่าเป็นเพราะเหตุใด เหมาะสมดีแล้ว หรือ ควรปรับปรุงให้เหมาะสมดีขึ้นตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่หยุดนิ่ง

ทุก ๆ เดือนที่กระทรวงศึกษาธิการตัดเงินเดือนของครูเพื่อนำส่งให้เจ้าหนี้ก็เช่นกัน ที่ผ่านมาเมื่อเจ้าหนี้ส่งคำขอตัดเงินเดือนของครูมาให้ดำเนินการ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ทำตามใบสั่งที่ขอมา เพียงเพราะเคยทำ โดยไม่ได้ฉุกคิด หรือตั้งคำถาม ว่าทำไมจึงต้องทำ ไม่ทำได้ไหม สิ่งที่ทำอยู่ช่วยให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร หลังจากหักชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แล้วครูจะมีเงินเหลือพอใช้จ่ายดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีหรือไม่ ถ้ามีไม่พอแล้วครูจะทำอย่างไร ต้องไปกู้นอกระบบหรือไม่ นอกจากทำเพราะเคยทำแล้ว ปัญหาสำคัญอีกเรื่อง อยู่ที่การคิดว่างานแก้หนี้ “ไม่ใช่ธุระของนายจ้าง” นายจ้างไม่สามารถทำอะไรได้มากนอกจากจ่ายเงินเดือนเท่านั้น จึงทำให้มองข้ามศักยภาพที่ “กระทรวงศึกษาธิการ” ในฐานะนายจ้างที่จ่ายเงินเดือนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย สามารถที่จะช่วยครูให้หลุดวังวนของปัญหาหนี้สิน ทั้ง ๆ ที่หัวใจทั้งหมดของเรื่องนี้อยู่ที่การตัดจ่ายเงินเดือน และหนี้สินของครูแทบจะทั้งหมด คือ หนี้สวัสดิการตัดเงินเดือน

ในการแก้ปัญหาหนี้สินของครูครั้งนี้ หนึ่งในคำถามสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องขบคิด พินิจพิจารณาอย่างละเอียด คือ ทำไมกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องตัดเงินเดือนนำส่งให้เจ้าหนี้ทุกเดือน และเรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่คำตอบ คือ เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมาย แต่เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็น “นายจ้าง” ของครู กับ “เจ้าหนี้” ของครู ว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกตัดเงินเดือนนำส่งให้ “เจ้าหนี้” ทุกเดือนเนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสวัสดิการที่ครูหรือลูกจ้างของตนจะได้ประโยชน์

ในมุมของเจ้าหนี้ สาเหตุที่ยินดีมาทำข้อตกลงก็เพราะได้รับประโยชน์มากในเรื่องนี้ การที่นายจ้างยินดีจะช่วยเก็บหนี้ให้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเจ้าหนี้ เพราะจะช่วยให้เจ้าหนี้มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืนสูง ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระคืนมีน้อยมาก รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจต้องตามเก็บหนี้เอง (collection fee) ซึ่งอาจจะสูงถึง 3% ดังนั้นการที่นายจ้างอำนวยความสะดวกให้เจ้าหนี้ในเรื่องนี้จึงมีคุโณปการมากสำหรับเจ้าหนี้ทั้งในมิติที่ช่วยให้การปล่อยกู้มีความมั่นคง ราบรื่น และช่วยชดค่าใช่จ่ายได้มาก ที่ต้องยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพราะการที่ใครทำอะไรให้เราอยู่เป็นนิตย์ พอนาน ๆ เข้าก็ทำให้เราลืมและนึกว่าเป็นหน้าที่ของอีกฝ่าย และลืมนึกถึงบุญคุญจากการกระทำของเขาที่ช่วยอุปถัมภ์เราในเรื่องต่าง ๆ ดังสำนวนในภาษาฝรั่งที่ว่า take for granted

ถ้าลองพิจารณาถึงผลของข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและเจ้าหนี้ของครูโดยละเอียด จะพบว่ามีลักษณะที่ “เจ้าหนี้เป็นผู้ที่เรียกร้องใช้สิทธิแต่เพียงฝ่ายเดียว” เป็นส่วนใหญ่ ที่เจ้าหนี้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการช่วยอำนวยความสะดวกตัดเงินเดือนส่งให้ ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการในฐานะนายจ้างของครู ยังไม่ได้ใช้จุดแข็งและอำนาจต่อรองที่มีแสดงบทบาท “นายจ้างที่ดี” ที่จะช่วยครูที่มีอำนาจต่อรองน้อย ให้ได้รับข้อตกลงการกู้ยืมที่ดีและเป็นธรรมขึ้น และที่สำคัญยังไม่ได้ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูได้รับมีความผ่อนปรน อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับที่เป็นสินเชื่อสวัสดิการหักเงินหรือไม่ ครูได้รับมีลักษณะเป็นสวัสดิการที่แท้จริง กล่าวคือ มีอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน และช่วยให้ครูมีสวัสดิภาพในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่

แม้จะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูที่มาอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์นับวันกลับมีแนวโน้มที่จะแย่ลง ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องทบทวนพิจารณาว่ามีอะไรที่นายจ้างสามารถที่จะดำเนินการได้เพิ่มเติมเพื่อช่วยครูแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าทำอย่างไร สินเชื่อสวัสดิการตัดเงินเดือนจะเป็นสินเชื่อสวัสดิการที่แท้จริง กล่าวคือมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผ่อนปรน ดอกเบี้ยไม่สูงมากสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ต่ำ ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูจะต้องจ่ายลง

หนึ่งในเครื่องชี้สำคัญที่สะท้อนคุณภาพของสวัสดิการตัดเงินเดือนได้ดีที่สุด คือ “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้” ที่ครูต้องจ่ายในการกู้ยืม โดยหลักการแล้ว “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการหักเงินเดือน” (payroll credit) จะต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผ่อนปรนอยู่ในระดับต่ำไม่สูงมากสอดคล้องกับความเสี่ยงของสินเชื่อสวัสดิการตัดเงินเดือนที่มีโอกาสจะกลายเป็นหนี้เสียน้อยมาก Rule of thumb หรือ หลักคิดง่าย ๆ คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการตัดเงินเดือนจะต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผ่อนปรนกว่าอัตราการกู้ยืมในตลาดทั่วไป เพราะถ้าแพงกว่าอัตราทั่วไปในตลาดก็จะไม่มีเหตุที่นายจ้างจะต้องเข้าไปยุ่งวุ่นวายในการทำสวัสดิการ

ถ้ามองในภาพรวม นายจ้างแทบจะทุกแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการด้วยยังไม่ได้ทำหน้าที่ “นายจ้างที่ดี” ที่จะใช้สิทธิและอำนาจการต่อรอง รวมทั้งชี้เป้าอัตราดอกเบี้ยสวัสดิการที่เหมาะสมควรอยู่ที่กรอบประมาณเท่าไร แต่อย่างไรก็ดี การที่ปล่อยให้เจ้าหนี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามที่แต่ละแห่งเห็นสมควร จริง ๆ ไม่ต่างจากการตั้งโจทย์แบบปลายเปิดถามคนกลุ่มต่าง ๆ คำตอบที่ได้จึงอาจจะแตกต่างไปคนละทิศละทาง ตัวอย่างเช่น ถ้าพิจารณาข้อเท็จจริงลึกลงไปในรายละเอียดในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในกรณีการกู้ยืมของครู พบว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูได้รับต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 4-4.5% ต่อปี ขณะที่สูงสุดอยู่ที่ 11.5 % ต่อปี ยากที่จะปฏิเสธว่าสำหรับเจ้าหนี้บางกลุ่ม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เรียกเก็บจากครู ถือเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือนที่ต่ำมากที่ไม่เกิน 1-2% ซึ่งสร้างภาระให้กับครูต้องจ่ายดอกเบี้ยมากเกินสมควรไม่สมกับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับสินเชื่อสวัสดิการเลย นอกจากนี้ ถ้ามองไปที่กลุ่มอาชีพพบว่ามีปัญหาคล้ายกันแทบจะทั้งระบบที่อัตราดอกเบี้ยสวัสดิการหักเงินเดือนถูกกำหนดไว้สูงเกินความเสี่ยงมาก เชื่อหรือไม่ว่ามีสหกรณ์ออมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งคิดดอกเบี้ยเงินกู้สูง 18% ต่อปี

การที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของนายจ้าง อัตราดอกเบี้ยของเงินกู้สวัสดิการ ดัชนีที่สะท้อนคุณภาพของสวัสดิการที่นายจ้างมอบให้ลูกจ้าง ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการแพง ไม่สมเหตุสมผล เช่นสูงกว่าอัตราที่ครูจะสามารถหาได้เองในตลาด ก็ไม่มีเหตุที่นายจ้างจะต้องเข้ามาทำสวัสดิการส่วนนี้

ลองจินตนาการว่าท่านเป็นนายจ้างและเป็นเจ้าของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มีสถาบันการเงินหรือสหกรณ์ มานำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อสวัสดิการตัดเงินเดือนแก่ลูกน้องในบริษัทท่าน สิ่งที่นายจ้างที่ดีควรทำคืออะไร การใช้อำนาจที่ตนมีเกี่ยวกับการตัดเงินเดือนช่วยลูกจ้างต่อรองกับเจ้าหนี้ให้ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกและเป็นธรรม เช่น อาจจะกำหนดให้ต่ำกว่าอัตราที่หาได้ในตลาดทั่วไป 1-2% ต่อปี เป็นต้น

การประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการที่เหมาะสมของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ คือ การเข้ามาทำหน้าที่ “นายจ้างที่ดี” อย่างที่ควรจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการจะเข้ามาช่วยกำหนดกรอบกติกาช่วยดูในภาพรวมว่าครูจะได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผ่อนปรนและเป็นธรรมสอดคล้องกับความเสี่ยง ตัวอย่างเช่น ถ้ากระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการตัดเงินเดือนไว้ว่าจะต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของลูกค้าชั้นดี (MLR) เฉลี่ยของธนาคารขนาดใหญ่ที่สุด 5 แห่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5.30% ต่อปี ก็จะหมายความว่า กระทรวงศึกษาธิการจะอำนวยความสะดวกตัดเงินเดือนนำส่งให้เจ้าหนี้เฉพาะรายที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ไม่เกินกว่าอัตราดังกล่าวหรือ 5.30% ต่อปีเท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่านั้นถือว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงเกินกว่าที่จะเป็นสินเชื่อสวัสดิการ ซึ่งในกรณีดังกล่าวกระทรวงศึกษาธิการจะไม่อำนวยความสะดวกช่วยตัดเงินเดือนให้ เพราะไม่ใช่เรื่องการทำสวัสดิการ กระทรวงศึกษาธิการจะจ่ายเงินเดือนให้ครู และ เจ้าหนี้จะต้องไปจัดเก็บหนี้กับครูเองโดยตรงเอาเอง การประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสวัสดิการของกระทรวงศึกษาธิการถ้าจะมีการดำเนินการ “ไม่ได้ไปรอนสิทธิที่เจ้าหนี้และลูกหนี้จะกู้ยืมกันตามปกติวิสัย” แต่การดำเนินการในครั้งนี้จะช่วยให้การดำเนินการตัดเงินเดือนนำส่งให้เจ้าหนี้ของกระทรวงศึกษาธิการมีเหตุมีผลรองรับ รวมทั้งสามารถอธิบายได้เต็มภาคภูมิว่าได้ทำหน้าที่นายจ้างที่ดีแล้ว ไม่ใช่ยิ่งทำสวัสดิการลูกจ้างหรือครูยิ่งเดือดร้อนเหมือนที่ผ่านมา

ถ้ากระทรวงศึกษาธิการสามารถที่จะประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการหักเงินเดือนได้สำเร็จ เรื่องนี้จะถือเป็น milestone ที่สำคัญของการแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ ซึ่งจะมีผลทำให้ landscape การกู้ยืมของข้าราชการเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม กล่าวคือจะมีความเหมาะสม เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้นอย่างแน่นอน อีกทั้งจะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย เพราะจะเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานนายจ้างจะลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ควรทำ ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการเป็นนายจ้างที่ดีในประเทศไทย รวมทั้งจะเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานนายจ้างอื่นอย่างแน่นอน...

ผู้เขียนขอคารวะการยืนหยัดที่จะทำหน้าที่เพื่อให้ภารกิจการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนบรรลุเป้าหมาย แม้จะมีกระบวนการเตะตัดขาจากคนที่ได้ชื่อว่ามีการศึกษาสูงก็ตาม "หมากัด คนแกล้ง ล้วนเป็นบททดสอบความจริง ความดี ความงาม ของผู้เป็นบัณฑิตโดยแท้"