posttoday

จับตามองโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

20 มิถุนายน 2565

ตลาดเงินยังคงมีความกังวลอย่างมาก ในประเด็นเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มย่ำแย่

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.80-35.70 ในสัปดาห์นี้ ภายหลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 แต่ตลาดยังคงมีความกังวลอย่างมาก ในประเด็นเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มย่ำแย่ โดยเฉพาะในตลาดบ้านที่สร้างคำถามต่อการดำเนินนโยบายของเฟดในระยะที่ผ่านมา และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะนี้ โดยในสัปดาห์นี้สหรัฐฯ จะมีการประกาศตัวเลขการขายบ้าน ซึ่งจะเปิดเผยเรื่องราวและสะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ด้านประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขส่งออก-นำเข้าในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นที่จับตามองอย่างมากจากประเด็นการส่งออกและการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหลักสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสะท้อนถึงเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นจากการนำเข้าพลังงาน นอกจากนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยยังเป็นที่จับตามองในระยะที่เงินบาทผันผวนหนัก และอ่อนค่าไปเหนือระดับ 35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 13 – 17 มิถุนายน 2022 เงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ผู้ว่าการ ธปท. มองทิศทางดอกเบี้ยไทยขึ้นกับบริบทไทยเป็นสำคัญ แต่การปรับขึ้นช้าไปอาจต้องปรับขึ้นมากขึ้นอีก และปฏิเสธการนัดประชุมฉุกเฉิน ทางด้านรัฐบาลไทยเป็นห่วงดอกเบี้ยขึ้นจะกระทบต่อการใช้จ่ายและเศรษฐกิจของประเทศ และประกาศเก็บภาษีจากบริษัทพลังงาน เพื่อนำมาอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเก็บได้เดือนละ 6-7 พันล้านบาท การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2022 ทั้งวีซ่านักท่องเที่ยวที่มีค่าธรรมเนียม 1,000 บาทต่อคน และวีซ่าหน้าด่านที่มีค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อคน นอกจากนี้เสนอขยายระยะเวลาพำนักของวีซ่าท่องเที่ยว จากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม -31 ธันวาคม 2565

เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 75bps ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.50-1.75% พร้อมเปิดเผยคาดการณ์มุมมองอัตราดอกเบี้ยของสมาชิกเฟดที่ 3.25%- 3.50% ในปี 2022 และ 3.75% ในปี 2023 โดยเฟดระบุถึงความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการดึงเงินเฟ้อให้กลับลงมาอยู่ที่ 2% นอกจากนี้ เฟดปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงเหลือ 1.7% จาก 2.8% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้เป็น 5.2% จาก 4.3% และคาดอัตราว่างงานในปีนี้สูงขึ้นเป็น 3.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.5% ในแถลงการณ์ โพเวลระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ย 75bps ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ยังเปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 50bps หรือ 75bps ในการประชุมครั้งหน้า พร้อมระบุยังไม่เห็นสัญญาณของเศรษฐกิจชะลอลง

อีซีบีนัดประชุมฉุกเฉินเพื่อพิจารณาความเสี่ยงจากพันธบัตรที่โดนเทขาย โดยมีการหารือเรื่องเครื่องมือใหม่เพื่อรับมือภาวะวิกฤต พร้อมระบุเตรียมเข้าช่วยหากตลาดผันผวนมากเกินไป ทั้งนี้ อีซีบีพิจารณาจะลงทุนต่อเนื่องในพันธบัตรโครงการ PEPP และจะดำเนินการแบบยืดหยุ่นโดยอาจลงทุนต่อเนื่องในประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอ อังกฤษวางแผนจะออกกฎหมายแทนที่ Northern Ireland Protocol ซึ่งสร้างความตึงเครียดกับยุโรป โดยอังกฤษต้องการแก้ข้อตกลงกับยุโรปเรื่องไอร์แลนด์เหนือ ทำให้ยุโรปออกมากล่าวหากอังกฤษละเมิดข้อตกลง Brexit อาจทำให้เกิดสงครามการค้าได้ และอียูเตรียมจะออกกฎหมายสองฉบับเพื่อตอบโต้

ธนาคารกลางจีนคงดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง 1 ปีที่ 2.85% และอัดฉีดเงิน 2 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบ ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนดีขึ้นหลังการเปิดเมือง โดยยอดค้าปลีกในเดือนพฤษภาคมลดลง 6.7%YoY ดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่ -11.1%YoY ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนขยายตัว 0.7%YoY ดีขึ้นจาก -2.9%YoY ในเดือนก่อนด้านภูมิรัฐศาสตร์ สีจิ้นผิงและปูตินพูดคุยทางโทรศัพท์ และสีจิ้นผิงกล่าวว่าจีนพร้อมสนับสนุนอธิปไตยและความมั่นคงของรัสเซีย พร้อมระบุว่าจีนจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในยูเครน ด้านรัสเซียสั่งบริษัทแก๊สพรอมปิดเครื่องส่งก๊าซอีก 1 เครื่อง ทำให้บริษัทแก๊ซพรอมส่งก๊าซเพียง 65% ของปริมาณก๊าซที่อียูเรียกร้องส่งผลให้ราคาก๊าซพุ่งขึ้น 20%

เงินบาทปิดตลาดที่ 35.23 ในวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ สืบเนื่องจากการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯในเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดใหม่ในรอบ 40ปีที่ 8.6% สร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าเฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 50 bps เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลออกมาก่อนการประชุมของเฟดและผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 15 ปี ที่ 3.45% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 11ปี ที่ 3.50% รวมไปถึงได้ reprice โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนจาก 50 bps เป็น 75 bps ซึ่งผลการประชุมได้ออกมาเป็นไปตามที่นักลงทุนได้คาดการณ์ไว้คือเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 75 bps ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.50-1.75% พร้อมกับเปิดเผยประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ชี้ให้เห็นว่าสมาชิกเฟดส่วนใหญ่คาดหวังอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2022 ที่ 3.25-3.50% และ 3.75% ในปี 2023 อย่างไรก็ตามดูเหมือนการตอบสนองของตลาดภายหลังการประชุมของเฟดจะเริ่มแสดงถึงความกังวลต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกรอบ ทำให้เห็นเม็ดเงินในช่วงท้ายของสัปดาห์ไหลกลับเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงมาอยู่แถวระดับ 3.25% หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลง 20 bps เทียบกับจุดสูงสุดของสัปดาห์

จับตามองโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นตามปัจจัยในต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนได้ reprice โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของกนง. มาอยู่ที่การประชุมในเดือนสิงหาคมนี้ ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยมีความชันลดลง ซึ่งเป็นการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะสั้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าระยะยาวเพื่อสอดรับกับความคาดหวังของการขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 13,448 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,420 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,874 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 9,154 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.09% 1.75% 2.15% 2.60% 2.84% และ 3.05% ตามลำดับ