posttoday

การลงทุนเพื่อปกป้องเงินเฟ้อ

13 มิถุนายน 2565

การบริหารพอร์ตช่วงที่เงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนควรที่จะกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนให้เติบโตได้ในระยะยาว

สวัสดีครับเพื่อน ๆ นักลงทุน เงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญในปีนี้ ที่กดดันทำให้ตลาดการลงทุนตั้งแต่ต้นปีผันผวนมากทีเดียวครับ เพราะเงินเฟ้อที่สูงส่งผลกระทบต่อการบริโภคและอำนาจการจับจ่ายของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นี้ และเป็นตัวเร่งให้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดการบริโภคและลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดทุนไม่ค่อยชอบกันครับ

ประเด็นเงินเฟ้อ เริ่มมีเค้าลางมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจาก Covid-19 การเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมาเป็นปกติ บวกกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจจากหลาย ๆ ประเทศ อย่างการแจกคูปอง แจกเช็ค เพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นการเร่งความต้องการสินค้าให้มากยิ่งขึ้น ช่วงแรกธนาคารกลางสหรัฐฯ มองว่าจะเป็นเรื่องชั่วคราว หากผู้ผลิตสินค้ากลับมาเพิ่มกำลังการผลิตจะลดปัญหานี้ไปได้ แต่ก็มาเจอ 2 เรื่องลบ คือ 1. สงครามรัสเซีย ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าอย่าง ก๊าซธรรมชาติ, น้ำมัน และวัตถุดิบอาหารสำคัญอย่างแป้งสาลี และ 2. การที่ทางการจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าสำคัญให้กับหลาย ๆ ประเทศ ประกาศมาตรการปิดประเทศ เพื่อดำเนินการตามมาตรการ Zero Covid ทำให้การผลิตและการเดินทางขนส่งยากลำบาก คราวนี้เลยมาทั้ง 2 ทางเลย คือ ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ฝั่ง Supply ขาดแคลนและต้นทุนเพิ่มสูง จึงทำให้ราคาสินค้าและน้ำมันปรับสูงขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

แนวโน้มด้าน Supply เริ่มมีข่าวดีจากที่ทางการจีนผ่อนคลาย Lock Down ลงในหลาย ๆ เมือง อย่างเมืองเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง แต่ประเด็นสงครามยังคงยืดเยื้อ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ราคาน้ำมันยังยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยบ้านเราเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกันในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ราคาสินค้าพุ่งสูงถึง 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี รวมถึงน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงสุดเช่นกัน ซึ่งเราก็เริ่มเห็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ปรับขึ้นแรงจนเราตกใจว่า ทำไมขึ้นมาเร็วจัง

ในด้านการลงทุนเงินเฟ้อเป็นสิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบครับ เพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงมักจะตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนสินค้า, ต้นทุนการผลิต และต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการทำกำไรของบริษัทได้ และเมื่ออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจนจูงใจนักลงทุนเม็ดเงินอาจไหลกลับมาที่ตราสารหนี้ได้ จากก่อนหน้าที่อัตราดอกเบี้ยต่ำไม่จูงใจเงินออกจากพันธบัตร ตราสารหนี้ มาที่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทน ซึ่งจากนี้ไปก็มีโอกาสไหลกลับไปที่ตราสารหนี้ถ้าอัตราผลตอบแทนสูงขึ้นเป็นที่น่าพอใจ

แล้วอย่างนี้หุ้นจะไม่ดีหรือเปล่า หลายคนตั้งคำถามในด้านการลงทุน ซึ่งเราคงต้องมีการปรับการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยช่วงที่เงินเฟ้อมาและดอกเบี้ยขาขึ้นก็คงต้องเลือกหุ้นที่แข็งแกร่ง, มีกระแสเงินสดดี, มีหนี้น้อย สามารถส่งต่อต้นทุนไปที่ผู้บริโภคได้ ที่สำคัญ Valuation หรือมูลค่าหุ้นควรจะไม่สูงมากนัก หรือที่เรียกกันว่า หุ้นคุณค่า และในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูงหนุนให้สินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ ซึ่งเป็นส่วนประกอบให้กับสินค้าปลายน้ำประเภทอื่น ๆ จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์สามารถปรับราคาขายขึ้นตามตลาดโลกได้ โดยในบ้านเราหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินค้า โภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังงานน้ำมัน, กลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบสินค้าเกษตร ก็มีจำนวนไม่น้อยและได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น นอกจากจะเลือกหุ้นเป็นรายตัวแล้วยังมีกองทุนที่ลงทุนเกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น กองทุนหุ้นบริษัทกลุ่มน้ำมัน, กองทุนที่ลงทุนให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ แต่ด้วยกองทุนประเภทนี้มีความผันผวนสูงนักลงทุนอาจลงทุนเพียงส่วนหนึ่งของพอร์ต เพื่อกระจายความเสี่ยง การลงทุน

กองทุนอสังหาริมทรัพย์ REIT Infrastructure โดยทั่วไปจะให้ผลดีตามเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เนื่องจากองทุนเหล่านี้มักมีรายได้ในรูปแบบค่าเช่าที่ค่อนข้างแน่นอน และจ่ายเงินปันผลค่อนข้างสูง เมื่อเงินเฟ้อมาราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าเช่าก็มักจะขึ้นได้ตาม แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กองทุนอสังหาริมทรัพย์หลายตัวได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ทำให้รายได้ค่าเช่าที่ลดลง จ่ายเงินปันผลได้น้อยลง เช่นเดียวกันกับราคาที่ปรับตัวมา ซึ่งหากการเปิดเมืองทำให้กิจการต่าง ๆ ทั้งออฟฟิศ, ห้างสรรพสินค้า, ศูนย์แสดงสินค้า และโรงแรม มีอัตราการใช้ที่มากขึ้นรายได้เข้าเงินปันผลก็มีโอกาสปรับขึ้นทำให้กองทุนกลุ่มนี้ได้รับความน่าสนใจเพิ่มขึ้น

อีกสินทรัพย์หนึ่งที่มีความน่าสนใจ คือ ตราสารหนี้ประเภทดอกเบี้ยแปรผันตามเงินเฟ้อ หรือ Inflation Link Bond ซึ่งในปัจจุบันมีพันธบัตรประเภทนี้อยู่ในตลาดเพียงรุ่นเดียว คือ ILB283A ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากเงินต้นและดอกเบี้ยจะได้รับเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยจะอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งเหมาะมากกับสภาวะทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่สูง โดยการซื้อพันธบัตรรุ่นนี้โดยตรงอาจลำบากและใช้เงินลงทุนสูง แต่ก็มีกองทุนตราสารหนี้บางกองทุนที่เข้าลงทุนตราสารหนี้ประเภทนี้โดยเฉพาะ ทำให้นักลงทุนใช้เงินลงทุนไม่มาก อีกทั้งมีสภาพคล่องดีสามารถซื้อขายเพิ่มเติมได้เป็นรายวัน ได้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และเป็นสินทรัพย์ที่ปกป้องเงินเฟ้อให้กับเราได้

ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางส่วนหนึ่งในการบริหารพอร์ตช่วงที่เงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้นครับ แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรที่จะกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม และศึกษาหาข้อมูลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนให้เติบโตได้ในระยะยาว โดยเราได้มีออกบทวิเคราะห์เพื่อการลงทุนในกองทุนรวมชื่อ “BLS Top Funds” ที่คัดกองทุนที่โดดเด่น เหมาะสมตามสถานการณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้นักลงทุนคัดเลือกและกระจายการลงทุน ผ่านกองทุนประเภทต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมครับ