posttoday

เงินเฟ้อ กับ การลงทุน

30 พฤษภาคม 2565

ยังคงต้องเฝ้าจับตา สภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นว่าจะคงอยู่นานเพียงใด และจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้หรือไม่

เมื่อได้ยินคำว่า “เงินเฟ้อ” นักลงทุนคงรู้สึกเป็นกังวล เนื่องจากมักจะถูกยกเป็นความเสี่ยงต่อสินทรัพย์ลงทุนชนิดต่าง ๆ ซึ่งความน่ากลัวของเงินเฟ้อนั้น คงหนีไม่พ้นการที่ทำให้ค่าของเงินที่มีอยู่ลดลง ส่งผลให้อำนาจการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ ลดลงไปด้วย ทั้งนี้ การเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อน จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวม เพราะจะเป็นปัจจัยกระตุ้นการลงทุน การจ้างงาน และทำให้รายได้ของประชาชนปรับเพิ่มขึ้น แต่หากเงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง ก็ย่อมจะไม่เป็นผลดีนัก เพราะจะทำให้ค่าของเงินลดลง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับประเภทของเงินเฟ้อกันก่อน

สาเหตุของเงินเฟ้อเกิดจากการที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มักเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่

1. ปัจจัยด้านอุปสงค์ (Demand pull) เกิดจากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคนมีเงินในมือมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น

2. ปัจจัยด้านอุปทาน (Cost push) เกิดจากต้นทุนต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรวมสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องปรับราคาขายสินค้าและบริการให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ เงินเฟ้อของไทยในเดือนเมษายน 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.65 ชะลอตัวลงจากมีนาคม 2565 ที่ระดับร้อยละ 5.73 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 4.71 ซึ่งยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร้อยละ 1-3 ต่อปีอยู่พอสมควร ทั้งนี้เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิต ต่างปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น หลังประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ มีการเปิดเมืองส่งผลให้มีความต้องการสินค้าและบริการที่สูงขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยิ่งเป็นแรงกดดันราคาพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าและการขนส่งให้ปรับตัวสูงขึ้น จึงกดดันอัตราเงินเฟ้อให้ยิ่งสูงขึ้นไปอีก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 และจะเริ่มลดลงในปี 2566 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 สำหรับปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงในระหว่างไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2565 มาจากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนที่จะค่อย ๆ ปรับตัวลดลง และเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปี 2566

สำหรับในด้านของการลงทุนนั้น คงหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้นนักลงทุนก็ควรที่จะมีการปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อรองรับผลกระทบจากเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน ตามหลักการแล้วในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อกำลังเร่งตัวขึ้น การลงทุนใน ทองคำ จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดีการลงทุนในหุ้นในช่วงที่เงินเฟ้อกำลังปรับตัวขึ้นนั้นอาจมีความผันผวนสูง แต่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่มีความน่าสนใจไม่น้อย อาจต้องพิจารณาคัดเลือกอุตสาหกรรมสำหรับลงทุนมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อ และการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ย เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มอุปโภคบริโภค และกลุ่มพลังงาน นอกจากนี้ อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่สามารถต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ดีคือ อสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากสามารถปรับราคาได้ตามเงินเฟ้อ โดยนักลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) แต่ด้วยเราพึ่งผ่านช่วงวิกฤต COVID-19 ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จึงอาจต้องพิจารณาคัดเลือกลงทุนในกลุ่มที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจาก COVID-19 เช่น กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้นั้น อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้มีการปรับตัวลง ซึ่งจะกระทบมากกับตราสารหนี้ระยะยาว ดังนั้น นักลงทุนควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาสั้นลง หรือเลือกที่จะลงทุนในตราสารหนี้ประเภท inflation linked bond หรือ Floating rate bond ซึ่งจะมีการปรับดอกเบี้ยจ่ายไปตามอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนั้น จะช่วยลดผลกระทบลงได้

สุดท้ายนี้ ยังคงต้องเฝ้าจับตา สภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นว่าจะคงอยู่นานเพียงใด และจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ในฐานะนักลงทุนคงสังเกตการณ์ เพื่อนำมาวางแผนรับมือและปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป