posttoday

โลกเปลี่ยนแปลง วางแผนเกษียณต้องเปลี่ยนไป

24 พฤษภาคม 2565

ลองนึกภาพว่าเรามีอายุขัยยืนยาวได้ใกล้เคียง 100 ปี รูปแบบการใช้ชีวิตและการวางแผนการเงินจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ?

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2505 หรือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่เพียงแค่ 57 ปีเท่านั้น คนในยุคนั้นเมื่อทำงานเก็บเงินมาจนถึงวัยเกษียณ โดยเฉลี่ยก็จะเสียชีวิตหลังจากที่เกษียณอายุได้ไม่นานและส่งต่อความมั่งคั่งที่สะสมมาให้กับลูกหลาน โดยไม่มีความจำเป็นต้องวางแผนการเงินเพื่อชีวิตในช่วงหลังเกษียณแต่อย่างใด

ตัดภาพมาในปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2565 อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 78 ปีแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา คนไทยโดยเฉลี่ยมีอายุยืนขึ้นถึง 21 ปี เทรนด์ดังกล่าวไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะหากเรามองไปในอนาคต ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า คนไทยในยุคถัดไปอย่างเช่น กลุ่ม Gen Alpha (คนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป) มีโอกาสที่จะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นไปได้ถึง 100 ปี สิ่งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างประชากรของไทยไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับในอดีตและเป็น Megatrend ที่ดูเหมือนว่า จะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้

มองอย่างผิวเผินการมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับคนในยุคถัดไป ไล่ตั้งแต่ คนกลุ่ม Gen Y (เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2524 - 2539) ไปจนถึงกลุ่ม Gen Alpha ที่จะเติบโตขึ้นมากลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต แต่แท้ที่จริงแล้วพวกเขากำลังต้องเติบโตขึ้นมาเจอกับโจทย์ที่ยากขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับคนยุคก่อน เพราะหากทุกคนลองนึกภาพว่าเรามีอายุขัยยืนยาวได้ใกล้เคียง 100 ปี รูปแบบการใช้ชีวิตและการวางแผนการเงินจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ? ยกตัวอย่างเช่น เราจะมีช่วงชีวิต “ก่อนเกษียณ” ซึ่งเป็นวัยที่มีรายได้จากการทำงานประจำเพียงแค่ประมาณ 33 ปี (เริ่มทำงานอายุ 22 ปีและเกษียณอายุ 55 ปี) แต่อาจจะมีช่วงชีวิต “หลังเกษียณ” ซึ่งเป็นช่วงที่เราไม่มีรายได้จากการทำงานประจำ ยาวนานได้มากถึง 45 ปี และนั่นเท่ากับว่า คนในยุคใหม่อาจจะมีช่วงชีวิตที่ต้อง “ใช้เงิน” ยาวนานกว่าช่วงชีวิตที่ “หาเงิน” ได้เป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับคนในยุคก่อน

ทุกวันนี้นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น (Innovative Healthcare) แม้จะทำให้คนยุคใหม่สามารถหายขาดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง คุณภาพการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นนี้ก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยงานวิจัยจาก Willis Towers Watson บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทย (Medical Inflation) โดยเฉลี่ยช่วงปี พ.ศ. 2563 - 2565 อยู่ในระดับที่สูงถึง 9.8% ต่อปี ถ้าหากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินไป ก็เท่ากับว่า ทุกๆ 7 ปีคนไทยจะต้องเจอกับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว และสำหรับคนในวัยเกษียณ ที่ค่ารักษาพยาบาลถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า Medical Inflation คือเงินเฟ้อที่น่ากลัวที่สุดสำหรับคนวัยเกษียณเลยทีเดียว

ดังนั้น การมีอายุขัยที่ยืนยาวอาจจะไม่ได้หมายถึงชีวิตที่มีความสุขเสมอไป หากปราศจากซึ่งการวางแผนทางการเงินที่มีคุณภาพ เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คนไทยยุคใหม่จะต้องตระหนัก เตรียมตัวรับมือและเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เรามีเงินเพียงพอใช้ไปตลอดช่วงชีวิตหลังเกษียณ เราเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ สามารถรับมือได้โดยจะต้องเริ่มต้นจากการปรับวิธีคิดและเปลี่ยนรูปแบบการวางแผนทางการเงินไปสู่ คอนเซ็ปต์ “Megatrends Retirement Planning” ซึ่งเป็นรูปแบบการวางแผนการเงินที่สอดรับไปกับ Megatrends ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โดยแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ

ด้านที่หนึ่ง คือ แผนการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) ที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนจากแบบดั้งเดิม (Conventional Asset Allocation) ที่อาจไม่ตอบโจทย์เทรนด์ในอนาคต เช่น การจัดพอร์ตการลงทุนตามอายุ การจำกัดพอร์ตการลงทุนอยู่เพียงแค่หุ้นหรือตราสารหนี้ในประเทศไทย มาเป็นการลงทุนแบบ “Megatrend Investment” ที่เน้นการลงทุนหุ้นในอุตสาหกรรมหรือประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงในระยะยาว โดยมีเป้าหมายเพื่อ “เพิ่มผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีให้สูงขึ้น” ยกตัวอย่างเช่น หุ้นในอุตสาหกรรม Technology ที่สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้สูงถึงประมาณ 18% ต่อปี หรือ หุ้นในอุตสาหกรรม Healthcare ที่สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงถึงราว 13% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน

การลงทุนแบบ Megatrend Investment นั้น จะต้องทำควบคู่ไปกับการ “เพิ่มระยะเวลาการลงทุน” ให้ยาวนานขึ้น เนื่องจากคนยุคใหม่อาจจะมีช่วงชีวิตหลังเกษียณที่ยาวนานกว่าคนยุคก่อนมาก ดังนั้น การจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงวัยหลังเกษียณ จึงไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่เพียงแค่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนต่ำตามที่แนวคิดการลงทุนดั้งเดิมได้ระบุไว้ เพราะนอกจากจะทำให้เสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนไปหลายสิบปีในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับก็ยังไม่คุ้มค่าความเสี่ยงของตลาดในทุกวันนี้ที่มีความผันผวนสูงมาก และที่สำคัญผลตอบแทนเหล่านั้นก็ไม่สามารถเอาชนะการเพิ่มขึ้นของ Medical Inflation ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของคนวัยเกษียณได้อีกด้วย ดังนั้น เราเชื่อว่าการเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนมาเป็นแบบ Megatrend Investment จะเพิ่มโอกาสในการ “สร้างความมั่งคั่ง” ให้กับนักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการลงทุนในรูปแบบดั้งเดิม

การวางแผนอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การวางแผนปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) ที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับ Megatrend ของการที่คนไทยมีความต้องการอยากมีบุตรน้อยลง อยู่คนเดียวมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการวางแผนประกันแบบดั้งเดิม ที่มักจะมุ่งเน้น “ส่งต่อเงินก้อน” ให้กับลูกหลาน ไปเป็นการวางแผนประกันรูปแบบใหม่ที่เน้น “สร้างกระแสเงินสดรับที่สม่ำเสมอ” ให้กับตัวเองในวัยหลังเกษียณ โดยเลือกกรมธรรม์ประกันบำนาญที่ให้ผลประโยชน์ขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) ที่สูง แทนที่จะเป็นกรมธรรม์ที่เน้นการให้ผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิต (Death Benefit) สูง

ขณะเดียวกัน ประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง (Health Protection) จะต้องเข้ามีบทบาทสำคัญในการวางแผนการเงินมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการปิดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นทุกปีและเปิดโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูง ซึ่งการวางแผน Health Protection ที่ดี จะส่งผลให้เราสามารถ “รักษาความมั่งคั่ง” ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลายาวนานไว้ได้ ตลอดจนสามารถนำเงินก้อนนี้ไปใช้จ่ายในช่วงชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสุขสบายกับกิจกรรมอย่างการท่องเที่ยว การชอปปิง แทนที่จะเป็นการควักกระเป๋านำเงินก้อนนี้ไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยถึงเวลาแล้วที่คนไทยยุคใหม่จะต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนรูปแบบการวางแผนทางการเงินให้เป็นแบบ “Megatrends Retirement Planning” เพื่อสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคงให้กับตัวเองและชีวิตในวัยหลังเกษียณที่มีคุณภาพ