posttoday

เงินเฟ้อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณผ่านจุดสูงสุดแล้ว?

16 พฤษภาคม 2565

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.20-35.00 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือจีดีพีไทยและจีดีพีญี่ปุ่นสำหรับไตรมาสที่ 1

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...ภาณี กิตติภัทรกุล, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.20-35.00 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือจีดีพีไทยและจีดีพีญี่ปุ่นสำหรับไตรมาสที่ 1 จีดีพีไทยจะประกาศในวันอังคาร โดยล่าสุดไตรมาสที่แล้วไทยโตที่ 1.9%YoY และ 1.8%QoQ และตลาดยังคงคาดไทยโตต่อเนื่อง ด้านญี่ปุ่นจะประกาศจีดีพีในวันพุธ ซึ่งตลาดคาดจีดีพีจะโตติดลบจากไตรมาสก่อนจากการที่โควิด-19 ระบาดหนักในช่วงไตรมาส 1

นอกจากนี้ อังกฤษจะประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเมษายน โดยล่าสุด เงินเฟ้อเดือนมีนาคมโตที่ 7.0%YoY ธนาคารกลางอังกฤษคาดปีนี้เงินเฟ้ออาจโตถึง 10% และเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ด้านออสเตรเลียจะเผยรายงานจากการประชุมนโยบายเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ธนาคารกลางได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2010

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2022 เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ท่ามกลางเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทย ด้าน ธปท. ระบุการเคลื่อนไหวของเงินบาทเป็นไปตามกลไลตลาดและสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคาดนักท่องเที่ยวเข้าไทยปีนี้เพียง 2 ล้านคน และมองว่าเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวได้ช้า โดยแรงหนุนสำคัญยังคงเป็นการส่งออก โดยในช่วง 4 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยกว่า 7 แสนคน นอกจากนี้ ยังเตรียมลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร คงดีเซลที่ 32 บาท/ลิตรถึง 15 พ.ค. พร้อมอนุมัติงบช่วยลดค่าไฟฟ้า

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ท่ามกลางความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจหลังโพเวลยอมรับว่าการจัดการกับเงินเฟ้ออาจก่อให้เกิดความเสียหาย พร้อมระบุสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในอีกสองครั้งการประชุมข้างหน้า ด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนชะลอลงที่ 8.3%YoY จาก 8.5%YoY ในมีนาคม แต่ยังคงสูงกว่าคาดการณ์ที่ 8.1%YoY ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือนมีนาคม พร้อมระบุตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง แม้การขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงกว่าคาดการณ์ ในขณะที่ภาวะคอขวดภาคอุปทานยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์

รัสเซียลดการส่งออกก๊าซไปเยอรมัน 3% ประกอบกับก๊าซที่ส่งผ่านยูเครนถูกปิดกั้น ทำให้ราคาก๊าซในยุโรปพุ่ง 11% และแม้จะมีการแบนรัสเซีย แต่รายได้จากน้ำมันของรัสเซียยังคงเพิ่มขึ้นราว 50% ในขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญแรงกดดันหนัก ทำให้สมาชิกอีซีบีสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมเพิ่มมากขึ้น ด้านค่าเงินยุโรปอ่อนค่าต่อเนื่องสู่ระดับอ่อนที่สุดนับตั้งแต่มกราคม 2017 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนที่สุดนับตั้งแต่ 2016 เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ในขณะที่ฟรังก์สวิสอ่อนค่าทดสอบกรอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2019 นอกจากนี้ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ยังประกาศสนับสนุนการเข้าร่วมนาโต้ ในขณะที่สหรัฐฯ ระบุพร้อมสนับสนุนฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมนาโต้

ด้านเศรษฐกิจอังกฤษขยายตัว 0.8%QoQ ในไตรมาสแรกของปี ชะลอลงจากคาดการณ์ที่ 1.0%QoQ และไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.3%QoQ จากความท้าทายเรื่องเงินเฟ้อและปัญหาสืบเนื่องจาก Brexit ในขณะที่ราคาก๊าซอังกฤษในตลาดล่วงหน้าพุ่งสูงถึง 41% จากการตัดก๊าซของรัสเซีย ด้านบีโออี เดฟ แรมสเดน ยังคงแสดงท่าทีสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ

ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน อี้ กัง ส่งสัญญาณเตรียมลดดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลจีนมีแนวโน้มยึดมั่นกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์อีกยาวนาน หลังเตือนองค์การอนามัยโลกที่วิจารณ์นโยบายของจีน พร้อมประกาศขอให้ประชาชนในปักกิ่ง 12 มณฑล ลดการเดินทาง และจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศ ในขณะที่การส่งออกนำเข้าของจีนถูกกระทบจากการปิดเมือง โตเพียง 3.9%YoY ในเดือนเมษายน ในขณะที่การนำเข้าหดตัว ทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าต่อเนื่องสู่ระดับอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่กันยายน 2020 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

เงินบาทปิดตลาดที่ 34.78 ในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2022 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดของสัปดาห์แถวบริเวณ 3.20% ลงมาซื้อขายที่ 2.90% โดยประเด็นที่ถูกพูดถึงคือเรื่องความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยคุณโพเวลยอมรับว่าการจัดการกับเงินเฟ้ออาจก่อให้เกิดความเสียหาย พร้อมระบุสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ครั้งข้างหน้า สอดคล้องกับสมาชิกเฟดหลายๆท่านที่ออกมาให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน และเมื่อพิจารณาจากตัวเลข Fed Fund Future สำหรับการประชุมครั้งหน้าในเดือนมิถุนายน นักลงทุนให้โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 75bps มากขึ้น 73% ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนอยู่ที่ 8.3% ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ชะลอลงจาก 8.5% แต่ต้องยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่มาก เมื่อภาพตลาดในระยะสั้นยังคงถูกกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่ภาพในระยะยาวตลาดเริ่มกังวลต่อการเกิดสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจึงทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวโดยมีความชันลดลง (Flattening) โดย spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2ปีกับ 10ปี (UST 2-10Y Spread) ปรับตัวแคบลงมาอยู่แถวบริเวณ +31 bps จาก +44 bps ในช่วงต้นสัปดาห์

เงินเฟ้อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณผ่านจุดสูงสุดแล้ว?

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถูกกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายๆประเทศ ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เริ่มกลับมาคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นเป็นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 1,756 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 2,430 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 87 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 4,099 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.73% 1.75% 2.20% 2.68% 3.09% และ 3.39% ตามลำดับ