posttoday

เสนอร่างความคิดเพื่อการรับมือโควิด-19 เราควรระวังอะไรบ้าง?

10 พฤษภาคม 2565

เสนอร่างความคิดเพื่อการรับมือโควิด-19 (covid-19) ณ พ.ค. 65 และเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 – 2565 เราควรระวังอะไรบ้าง? + ส่วนประกอบร่างความคิด “ก่อน” เป็นร่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) www.econ.nida.ac.th; [email protected]; [email protected]

จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสลงโพสต์ทูเดย์หลายฉบับเกี่ยวกับ โควิด-19 กับ การพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ และได้พูดถึงสถานการณ์โรงเรียน ไปบ้างแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 และปี 2564 และประเทศเราได้มีการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจเป็นระยะ

โอกาสนี้ ก่อนอื่นขอกล่าวถึงข่าวดีที่ผลสรุปการจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal Health and Preparedness Review (UHPR) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-29 เมษายน 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) เลือกประเทศไทยให้เป็นประเทศต้นแบบลำดับที่ 3 ในการนำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า จากการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี และข้อเสนอแนะระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้นจากการจัดกิจกรรมฯ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกและทีมประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีการบริหารจัดการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโควิด 19 เป็นอย่างดี มีความยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ และเน้นการปฏิบัติได้จริง

นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกฉบับล่าสุดของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study) ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอันดับที่ 4 ที่น่าเดินทางเยือนมากที่สุดในโลก รองจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอินเดีย โดยเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกค้นหาข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ และหัวหิน

ในขณะที่สถานการณ์ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังคงมีสายพันธุ์ใหม่ ที่เราอาจจะยังต้องระวังและรับมือเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างราบรื่น

1. เสนอร่างความคิดเพื่อการรับมือโควิด-19 (covid-19) ณ พ.ค. 65

ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นี้ จะมีการเปิดเรียนแบบ On-Site เต็มรูปแบบ 100% ทุกระดับชั้น ของโรงเรียนสังกัด กทม. ตามการประชุมผู้บริหารสำนักการศึกษา และหัวหน้าฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขต และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด กทม. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ได้แจ้งแนวทางการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 โดยจะดำเนินการมาตรการความปลอดภัยของโรงเรียนในสังกัด กทม. อย่างเต็มที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวทางที่เตรียมการอย่างระมัดระวังดังกล่าว ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมาแนวทางการเปิดโรงเรียนที่ควรระวังนำเสนอแล้วในโพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 เรื่อง การเปิดโรงเรียนในสถานการณ์โควิด-19 (https://www.posttoday.com/finance-stock/columnist/628859)

ซึ่ง ณ ปัจจุบันปี 2565 ผ่านมาแล้ว 2 ปี น่าจะมีความพร้อมมากขึ้นแล้วไม่น่ากังวลในเรื่องความเข้าใจโรคที่มีมากขึ้นและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน เพียงแต่อาจจะต้องระมัดระวังในกรณีที่อาจจะมีการติดได้ในกลุ่มเด็ก และกรณีของโอไมครอนยังมีความพิเศษคือเด็กสามารถติดกันได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 65 ประเทศไทยเราเริ่มใช้มาตรการเดินทางเข้าประเทศ โดยไม่ต้องมีการเทสต์แอนด์โก ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ปรับวิธีการเข้าประเทศเป็น 2 รูปแบบ คือ สำหรับผู้ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์จะต้องลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาสเพื่อแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน ต้องมีวงเงินประกันจำนวน 1 หมื่นดอลลาร์ เมื่อเดินทางมาถึงไทยไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพียงแต่แนะนำให้ตรวจเอทีเคด้วยตัวเองระหว่างพำนัก ถ้าติดเชื้อให้เข้ารักษาตามที่มีประกัน ส่วนกรณีไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบเกณฑ์ สามารถยื่นหลักฐานตรวจ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางถึงประเทศไทย และลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาสก็สามารถเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยได้ มีวงเงินประกัน 1 หมื่นดอลลาร์ เช่นเดียวกับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ แต่กรณีไม่ได้ตรวจ RT-PCR มาก่อน ต้องกักตัวในสถานกักตัวใน AQ โดยตรวจ RT-PCR วันที่ 4-5 และแนะนำให้ตรวจเอทีเคด้วยตัวเองระหว่างพำนัก ขณะที่ผู้ที่เดินทางมาทางบก อนุญาตเดินทางเข้าประเทศเฉพาะจุดผ่านแดนถาวรเท่านั้น โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนครบเกณฑ์แล้ว สามารถแสดงหลักฐานและเข้าประเทศได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้วัคซีนไม่ครบ ให้กักตัวที่ SQ จำนวน 5 วัน

ในส่วนที่เรากำลังเปิดด้านท่องเที่ยวซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี เนื่องจากปัจจุบันเราได้มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน อย่างไรก็ตามในเรื่องของสายพันธุ์ย่อยใหม่ เช่น BA.5 คงจะต้องจับตามองเพิ่มเติมเนื่องจากกรณีของประเทศอิสราเอลซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จสูงในการฉีดวัคซีนไปจำนวนมากแล้วก็ยังมีการติดได้ หรือแม้แต่ในแอฟริกาซึ่งพบว่ามีจำนวนคนติดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากสายพันธุ์ย่อยนี้ที่เริ่มมีแล้วและพบว่ามีการหลบภูมิคุ้มกันได้ด้วย หากเราสามารถติดตามเพื่อให้แน่ใจว่าประเด็นปัญหาของการติดไม่รุนแรงและหายได้ และหากจะเป็นเช่นนั้นได้ก็น่าจะทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น

ในกรณีการฉีดวัคซีนที่มากกว่าเข็มกระตุ้นมากขึ้นไป ยังมีความเห็นหลากหลายจากในต่างประเทศที่พูดถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ ซึ่งอาจจะต้องฟังจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ต่อไป และหากมีความเป็นไปได้จริงเช่นนั้นในที่สุดอาจจะต้องชั่งน้ำหนัก ดังนั้น จึงพบว่ามีบางประเทศในยุโรป ไม่ได้มีการบังคับฉีดวัคซีนแล้ว เช่น เดนมาร์ก เป็นต้น

ณ สัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. 65 ขณะที่เขียนบทความนี้ มีความเป็นไปได้ว่าสำหรับกรณีประเทศไทย ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางบางส่วน อาจจะยังมีจำนวนคนเสียชีวิตสูงไปอีกระยะเวลาหนึ่ง อาจจะลองพิจารณาในส่วนนี้หากมีจำนวนสูงขึ้นอีก

ณ เวลานี้เท่านั้น ผู้เขียนขอนำเสนอแนวความคิดเห็นการแบ่งเป็น 3 สถานการณ์ (scenarios) ประมาณการรูปแบบการรับมือ (เฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกโอไมครอนเมื่อ พ.ค. 65 เท่านั้น) ดังแสดงในรูปที่ 1

scenario 1: ติดเป็นปรกติ

ในกรณีนี้หากปล่อยให้คนติดแบบเป็นปรกตินั้นหมายความว่าการตรวจน้อยมีการดูแลน้อยโดยมีสมมุติฐานว่าโรคไม่รุนแรง ไม่มีสายพันธุ์ใหม่พิเศษที่หลบภูมิวัคซีนยังคงใช้ได้และคนส่วนใหญ่สุขภาพแข็งแรงเช่นนี้อาจพอเป็นไปได้

อย่างไรก็ดียังคงมีข้อเสียได้แก่หากโรคโควิดมีการติดสินค้า เช่น อาหาร และต้องส่งออกไปยังประเทศที่มีความเข้มงวด เช่น ประเทศจีน เป็นต้น ขณะนี้ที่จีนยังคงความเข้มงวดให้โควิดเป็น 0 หรือ zero-covid strategy หรือหากจะมีประเทศเพิ่มอีกในอนาคตที่เข้มงวดมากขึ้น ก็จะมีปัญหาในเรื่องของการส่งออกของประเทศไทยเราได้

อีกประการหนึ่งคือ หากการรักษาน้อย อาจเกิดการละเลยของผู้ป่วย เช่น การป่วยหนักหรือการตายที่อาจจะมีจำนวนที่มากขึ้นหากไม่มีการดูแลตั้งแต่เริ่มต้น

(ยิ่งกรณีที่กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง กลุ่มสูงอายุและเด็กที่ไม่มีความรู้เพียงพอหรือแม้แต่คนที่อยู่ในเมืองแต่เกิดความละเลย ยิ่งไปกว่านั้นการตายที่ไม่ทราบว่าเป็นผู้ติดโควิดหรือไม่ ก็จะมีการดูแลไม่รัดกุมเพียงพอ และก็อาจจะมีการแพร่กระจายในกรณีนี้ได้อีกด้วย)

ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งคือหากมีการเข้ามาของสายพันธุ์ใหม่ ๆ หรือมีการกลายพันธุ์ใหม่เข้ามาด้วยปัจจัยเหล่านี้ เราอาจจะไม่สามารถควบคุมได้อย่างทันทีทันใดอาจจะทำให้เกิดการปล่อยระยะเวลาไปอีกระยะเวลาหนึ่ง

scenario 2: ป้องกันคนในประเทศ และกลุ่มเสี่ยง

กรณีที่ 2 ถ้าเราป้องกันคนในประเทศ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มสูงอายุ กลุ่มเด็ก และมีการฉีดวัคซีนอย่างระมัดระวังโดยที่พยายามพิจารณาลดผลข้างเคียงของวัคซีนควบคู่ไปด้วยให้มากที่สุดแก่ทุกกลุ่มและพยายามดูแลกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยที่ยังคงมาตรการการใส่หน้ากากและมีการเตือนอยู่สม่ำเสมอโดยเฉพาะกลุ่มที่สุขภาพเปราะบาง

ในขณะที่กลุ่มที่เป็นกลุ่มแข็งแรงก็อาจจะให้มีการค่อย ๆ ผ่อนปรนได้แต่จะต้องให้มีการตระหนักถึงการจะนำไปติดกับกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้อีก หรือกรณีผู้แข็งแรงมีความเป็นไปได้ในโอกาสการเป็นพาหะด้วย ซึ่งต้องพยายามให้เกิดความรับรู้เกิดความเข้าใจและอยู่ร่วมกับโรคซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้จะสามารถพิจารณาในมาตรการการจัดการใน Step ต่อไปที่จะนำเสนอในแผนภาพถัดไป

scenario 3: เคร่งครัดเข้มงวด

กรณีที่ 3 นี้เป็นกรณีที่เข้มงวดมากที่สุดซึ่งเราสามารถจะพิจารณาจากกรณีศึกษาของประเทศจีนได้ ในกรณีนี้จะมีการเสียสละหรือ sacrifice ด้านเศรษฐกิจซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศพิเศษ เนื่องจากเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่และยังสามารถส่งออกสินค้าไปทั่วโลก ดังนั้นการพิจารณาวิธีการนี้อาจจะไม่น่าสนใจเท่าที่ควรสำหรับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเล็กและไม่สามารถที่จะทำได้อย่างประเทศจีน

ข้อเสียของวิธีการนี้คือการรักษาพยาบาล การตรวจจะต้องมีอย่างเข้มงวดและสม่ำเสมอ ข้อดีคือสามารถลดคนเจ็บและคนตายได้ค่อนข้างดีที่สุดเมื่อเทียบในทั้ง 3 scenarios

Note ผู้เขียนมีความเห็นว่าสำหรับกรณีประเทศจีนหากสามารถคุมได้ในเวลาที่ไม่นานจนเกินไปรอบนี้ก็อาจจะสามารถ pick up หรือฟื้นตัวได้ในเวลาไม่นานนัก แต่มีข้อสังเกตว่าจะต้องพยายามไม่ให้ระบาดเนื่องจากประชาชนน่าจะอาศัยภูมิคุ้มกันจากทางวัคซีนเป็นหลัก

เสนอร่างความคิดเพื่อการรับมือโควิด-19 เราควรระวังอะไรบ้าง?

รูป ที่มา: อภิรดา ชิณประทีป สำหรับลงโพสต์ทูเดย์ฉบับ 10 พฤษภาคม 2565

รูปที่ 1 ความเห็นการแบ่งเป็น 3 สถานการณ์ (scenarios) ประมาณการรูปแบบการรับมือ (เฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกโอไมครอนเมื่อ พ.ค. 65 เท่านั้น)

นอกจากนั้นแล้วเนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงที่เรากำลังจะเปิดเรียนในวันที่ 17 พฤษภาคม ในขณะที่เราเพิ่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างค่อนข้างมีอิสระเสรีในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ในสถานการณ์เฉพาะช่วงนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอแนวความคิดในการจัดการแบ่งกลุ่มตามสถานการณ์เฉพาะช่วงนี้จึงแบ่งกลุ่มจังหวัดหรือ area เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน

ดังแสดงในรูปที่ 2 การแบ่งการดูแลรับมือโควิด-19 (covid-19) ณ พ.ค. 65 เป็น 3 กลุ่มจังหวัด เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีกลุ่มที่เราเป็นห่วงพิเศษ เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีโรงเรียนหรือเด็ก/ผู้สูงอายุ/กลุ่มเปราะบางจำนวนมาก VS จังหวัดที่มีโควิดระบาด VS จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก (เฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกโอไมครอนเมื่อ พ.ค. 65 เท่านั้น)

เสนอร่างความคิดเพื่อการรับมือโควิด-19 เราควรระวังอะไรบ้าง?

รูปที่ 2 การแบ่งการดูแลรับมือโควิด-19 (covid-19) ณ พ.ค. 65 เป็น 3 กลุ่มจังหวัด เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีกลุ่มที่เราเป็นห่วงพิเศษ เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีโรงเรียนหรือเด็ก/ผู้สูงอายุ/กลุ่มเปราะบางจำนวนมาก + จังหวัดที่มีโควิดระบาด + จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก (เฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกโอไมครอนเมื่อ พ.ค. 65 เท่านั้น)

แนวความคิดการแบ่งการดูแลรับมือโควิด-19 (covid-19) ณ พ.ค. 65 เป็น 3 กลุ่มจังหวัด เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีกลุ่มที่เราเป็นห่วงพิเศษ เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีโรงเรียนหรือเด็ก/ผู้สูงอายุ/กลุ่มเปราะบางจำนวนมาก + จังหวัดที่มีโควิดระบาด + จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก (เฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกโอไมครอนเมื่อ พ.ค. 65 เท่านั้น ดังนี้

• ? พื้นที่ A = จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก + จังหวัดที่มีโควิดระบาด

• ? พื้นที่ B = เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีกลุ่มที่เราเป็นห่วงพิเศษ + จังหวัดที่มีโควิดระบาด

• ? พื้นที่ C = เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีกลุ่มที่เราเป็นห่วงพิเศษ + จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก

• ? พื้นที่ Z = เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีกลุ่มที่เราเป็นห่วงพิเศษ + จังหวัดที่มีโควิดระบาด + จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก

ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญ(Priority) ในการดูแลที่อยากนำเสนอคือ

1. ? พื้นที่ Z

2. ? พื้นที่ B และ ? พื้นที่ A

3. ? พื้นที่ C

2. เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 – 2565 เราควรระวังอะไรบ้าง?

สำหรับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 หรือช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายนนี้ จริงๆ ในช่วงไตรมาสนี้เศรษฐกิจเริ่มดีน่าจะดีขึ้นบ้างแล้วตามที่เราคาดการณ์ไว้ (ลงโพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา https://www.posttoday.com/finance-stock/columnist/675048

“...ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงหรือจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรุนแรง รวมถึงผู้เสียชีวิต ภายในปลายไตรมาสหนึ่งและน่าจะเห็นเศรษฐกิจค่อยฟื้นขึ้นอีกภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ตามลำดับ...”“เรื่องสถานการณ์ระหว่างประเทศล่าสุด โอกาสระหว่างความตึงเครียดระหว่างยูเครน และรัสเซีย ถึงมีอยู่บ้าง แต่ส่วนตัวคิดว่า ทางสหรัฐยังไม่น่าจะเข้ามาเกี่ยวข้อง ณ สถานการณ์ระยะใกล้ ๆ นี้ ดังนั้นผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อมาน่าจะเป็นความผันผวนระยะสั้น (ณ สถานการณ์ ก.พ. 65)” ที่กล่าวไว้ในบทความฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พบว่าปัจจุบันยังถูกต้อง เนื่องจากถึง พ.ค. 65 ทางสหรัฐ ยังไม่เข้าไปเต็มตัว โดยเป็นการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเป็นหลัก)

ซึ่งตัวเลขน่าจะทราบไตรมาสหน้าเนื่องจากยังต้องรอการเก็บข้อมูล แต่สิ่งที่เราทราบได้โดยการสังเกตจากภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ การจับจ่ายใช้สอยที่เริ่มมีมากขึ้น การเดินทางต่าง ๆ มีมากขึ้น ตลอดจนการผลิต และการส่งออกก็มีแนวโน้มที่ดีสดใสมากขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ดีประเด็นปัญหาช่วงนี้ที่น่าจับตามองคือ เรื่องของเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจจากต่างประเทศ ซึ่งภายในประเทศเราจะมีเรื่องของระดับราคาสินค้าไม่ว่าจะเป็นระดับราคาสินค้าประเภทอุปโภคบริโภครวมไปจนถึงน้ำมันซึ่งมีผลมาจากปัจจัยจากต่างประเทศด้วย ได้แก่ สงครามของรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมาจากต่างประเทศ

สำหรับเรื่องของเงินเฟ้อ ปัญหาของประเทศไทยระยะสั้นที่เห็นชัดเจน ซึ่งทางออกหลังจากนี้ยังซับซ้อน ย่อมมีแรงกดดันทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน การผลิต การบริโภค การลงทุน ตลอดจนการนำเข้าส่งออก

สำหรับมาตรการทางเศรษฐกิจขณะนี้หลายอันเพียงการประวิงเวลา และควรหาวิธีการอื่นมาทดแทนในเวลาที่เหมาะสม

สำหรับเรื่องของสงครามของรัสเซีย-ยูเครน ณ พ.ค. 65 ที่เขียนบทความนี้ ทางออกตอนนี้มีความเป็นไปได้ว่าทางรัสเซียน่าจะหาทางลงจากสงคราม ทั้งนี้ในเรื่องการรบ อย่างไรก็ดีเรื่องการตอบโต้ทางเศรษฐกิจส่วนตัวผู้เขียนเชื่อ ณ ขณะนี้ว่า อาจยังมีต่อเนื่องไปได้อีกหลังสงครามอีกระยะหนึ่ง

ในขณะที่ฝั่งสหรัฐ และ EU จำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานสำรองก่อน การพิจารณาตอบโต้ (เนื่องจากปริมาณความต้องการค่อนข้างสูง ถ้าได้ความร่วมมือจากสมาชิกโอเปค ซึ่งจุดนี้ผู้เขียนเชื่อว่ายังเป็น bottle neck ซึ่งอาจไม่ง่ายในระยะสั้นนี้) อย่างไรก็ดีในระยะสั้นระดับราคาคงยังผันผวนแต่ในตลาดโลกมีโอกาสขึ้นได้แต่คงไม่ได้สูงมากในระยะอันใกล้นี้ ส่วนในระยะต่อไปต้องมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

ล่าสุด วันที่ 8 พ.ค. 65 ขณะเขียนบทความนี้ ทางซาอุดิอาระเบีย (Saudi Aramco ออกเอกสารราคา)ตกลงลดราคาน้ำมันดิบที่จะส่งมาทางเอเชียและยุโรปในเดือนมิถุนายน ถือเป็นข่าวดีที่เราจะได้ติดตามต่อไป

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยังไม่ได้มีการเพิ่มปริมาณการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ในฐานะพวกเรา คงต้องรอดูเรื่อง ราคาสินค้า และอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจน ผลกระทบอื่นๆ อย่างน้อยระยะสั้นนี้

ส่วนการขยายผลเรื่อง สงครามที่ใหญ่หลายฝ่าย ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า ณ ขณะนี้น่าจะคงยังไม่มาถึงในระยะนี้ถึงระยะปานกลาง

ในส่วนของการล็อกดาวน์ของประเทศจีนที่ยังคงนโยบายโควิดเป็นศูนย์จะทำให้เกิดการชะงักงันในเรื่องของการผลิตบางส่วนโดยเฉพาะส่วนที่จะเป็นวัตถุดิบสำคัญหรือกรณีสินค้าเทคโนโลยีหรือสินค้าที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม โดยที่สินค้าประเภทที่เป็น consumer หรืออุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็นมากนักส่วนนี้อาจจะชะลอเวลาได้บ้าง ยิ่งไปกว่านั้นการล็อกดาวน์ของประเทศจีนยังมีผลกระทบต่อในด้านของ demand หรืออุปสงค์ เช่น การเดินทางระหว่างประเทศหรือการท่องเที่ยวซึ่งนักท่องเที่ยวจีนคงจะต้องรอระยะเวลาอีกระยะเวลาหนึ่งจึงจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม รวมถึงความไม่สะดวกด้านด่านและมาตรการต่าง ๆ จากทางประเทศจีนเข้มงวดที่ส่งผลต่อสินค้าไทยเราส่งออกไปยังจีนด้วย

ในส่วนของการปรับตัวของภาคธุรกิจในตลาดโลก ถ้ายังคงแนวโน้มเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ว่า อาจทำให้เกิดการย้ายฐานผลิตในบางส่วนด้วย โดยที่การย้ายฐานผลิตที่อาจจะเน้นไปสู่ประเทศที่เป็นประเทศปลายทางมากขึ้นยกตัวอย่าง เช่น บางอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันพยายามที่จะย้ายกลับในประเทศอเมริกาบ้างแล้ว หรืออาจกลับไปบริษัทแม่กรณีสัญชาติญี่ปุ่นบางยี่ห้อและบางประเภทสินค้า เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้อาจจะตรงกับสาระสำคัญของทฤษฎีการค้าในเรื่องของการกีดกันทางการค้าสมัยใหม่ (Protectionism หรือ new trade theory) ที่เราเรียนกันในวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (อภิรดา ชิณประทีป.2563 เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศและการประยุกต์ใช้ : โลกทศวรรษ 2020 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์)

สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้าเรื่องสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียมีผลกระทบในหลากหลายส่วนนอกเหนือไปจากเรื่องของน้ำมันที่อาจจะมีความผันผวนแล้วนั้นก็ยังมีเรื่องของวัตถุดิบบางประเภทด้วยที่ในกรณีที่เป็นสินค้าสำคัญของทั้งสองประเทศนี้ที่อาจจะดูในรายละเอียดต่อไปได้ ดังนั้นสินค้าประเภทเหล่านี้ก็จะมีผลทำให้เกิดระดับราคาที่สูงขึ้น ซึ่งในระหว่างนี้สำหรับประเทศไทยสามารถพยายามหาสินค้าทดแทนหรือพยามผลิตสินค้าถ้าเราสามารถที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าต่าง ๆ เหล่านี้เองได้ก็จะดีมาก

ในส่วนของการผลิตของในประเทศไทย ณ เวลานี้น่าจะมีการพิจารณาในเรื่องของราคาสินค้าเกษตรช่วงนี้น่าจะได้รับอานิสงส์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาสินค้าในตลาดโลกที่เริ่มสูงขึ้นซึ่งถ้าเราเป็นผู้ผลิตก็จะได้รับอานิสงส์ส่วนนี้ รวมกับเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่ช่วงนี้ยังอ่อนค่าอยู่ อย่างไรก็ดีเมื่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ประเทศไทยน่าจะหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องขยับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วยทั้งทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และตามข้อเท็จจริง และประเทศไทยยังพึ่งพิงการส่งออกและการนำเข้าสินค้าหลายประเภท รวมถึงหนี้ต่างประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย จึงมีหลายแรงกดดันหลายทิศทาง ให้กำลังใจในการเตรียมพร้อมเผื่อไว้ด้วย

3. ที่มาร่างความคิด “ก่อน” เป็นร่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)

ท่านที่สนใจสามารถติดตามรับฟังได้ทาง#ECONNIDA #ECONNIDAPODCAST #คือเรื่องมันเป็นแบบนี้EP.24 โควิด-19 ความเป็นมาแซนด์บอกซ์ และสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลานี้https://fb.watch/cTK8Vjpo4Z/ https://www.youtube.com/watch?v=xoxv8KSTt_4

สุดท้ายนี้โดยหวังว่าบทความนี้จะส่งผ่านแง่คิดบางประการในโอกาสนี้ และทุกท่านผู้อ่านและครอบครัวปลอดภัย มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เชื่อว่าสถานการณ์กำลังค่อย ๆ ดีขึ้นค่ะ

(หมายเหตุ: ตลอดระยะเวลาการระบาดโควิดแต่ละระลอกตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นการทำงานด้วยความภาคภูมิใจร่วมกับทุกท่านทุกคนที่ได้ทุ่มเทมีส่วนช่วยสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ ทั้งนี้โดยส่วนตัวไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ งานสุดท้ายเสร็จสิ้นกลางปี 63 ผู้เขียนจึงมีอิสระทางวิชาการอย่างแท้จริงในการให้ความเห็นทุกมาตรการและทุกความเห็นรวมถึงในบทความนี้ หากมีความดีขอให้กับทุกท่านทุกคนที่มีส่วนร่วม ทั้งนี้ความเห็นและบทวิเคราะห์ต่าง ๆ เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยงานที่กล่าวถึงในบทความ หากมีข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยนสามารถแนะนำได้ที่ email: [email protected] ขอบคุณยิ่ง)