posttoday

เมื่อได้สนทนากับผู้รู้เรื่องการศึกษาจึงได้พบว่า ทำไมมันเป็นแบบนี้

10 พฤษภาคม 2565

การจะยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพของตนเองไปให้ได้ไกลที่สุดคือ การฟัง การเรียนที่จะฟัง "นักรบแห่งการฟังจะชนะสงคราม นักรบ PowerPoint จะชนะได้แค่การศึก"

คอลัมน์ เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ ตอนที่ 19/2565

เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายจากวิทยากร ผู้รู้ ผู้ที่ทำการศึกษาและเป็นผู้ที่มีความห่วงใยในเรื่องการพัฒนาคน พัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ให้คนไทยได้ใช้ขีดความสามารถตามศักยภาพที่ตนเองมี ไปให้ไกลที่สุด โดยเฉพาะการยกระดับหรือการเลื่อนชั้น เลื่อนฐานะทางสังคม อย่างน้อยก็ต้องมีสัมมาอาชีพ มีรายได้ที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเองและครอบครัว มีโอกาสในการมีทรัพย์สินเป็นของตนเอง มีโอกาสที่จะได้รับการดูแลจากภาครัฐที่เสมอภาค ไม่มากไม่น้อยกว่าใครคนอื่น ที่สำคัญคือมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ทัดหน้า เทียมตา และท้ายที่สุดต้องไม่ถูกใครเขาดูหมิ่นดูแคลนหากเขาคนไทยคนนั้นประสงค์ที่จะใช้ชีวิต เรียบง่าย ตามธรรมชาติ ตามบ้านนอกคอกนา ท่านวิทยากรท่านนี้เป็นคนหนุ่มที่เรียนเก่ง ทำงานเก่ง และถือเป็นความหวังมาก ๆ ของสังคมไทย เหตุเพราะท่านยึดมั่นในพุทธศาสนาและแสดงออกในหน้าที่การงานแบบตรงไปตรงมามากคนหนึ่งของสังคมเศรษฐกิจไทย

ในความคิดของผู้เขียน (ซึ่งอาจมีคนไม่เห็นด้วย) ผู้เขียนมองสังคมไทยผ่านอายุใกล้เกษียณอาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคมแห่งการเปรียบเทียบตัวอย่างเช่น

เกิดมาก็ถูกเปรียบเทียบน้ำหนัก ผิวพรรณ ผมดกมากน้อย ต่อมาก็ถูกเปรียบเทียบเรื่องพัฒนาการว่าใครพูดได้ก่อน ยิ้มได้ก่อน เคลื่อนไหวได้ดีกว่า

ต่อมาคือการเปรียบเทียบเรื่องการศึกษาว่าใครเรียนได้ดี เรียนได้เก่ง ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองได้ดีกว่ากัน ที่สำคัญคือเอามาตรวัด ไม้บรรทัดวัดจากมาตรฐานเดียว (One size fit all) ในเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนแทบทุกหนแห่ง โดยจะมีครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ เครือญาติทางโลกทางธรรม หรือคนที่ชอบชี้แนะ คอยจี้คอยบี้ คอยตอกย้ำว่า เรียนอะไรดีกว่าอะไร ปริญญาไหนสูงส่งกว่าที่ไหน ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผลก็คือ เราได้มนุษย์ที่ผ่านการอบรมบ่มเพาะแบบมนุษย์โรงงานอุตสาหกรรม ไหลเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบทุนนิยม ระบบการค้าเสรี แบบทุนนั้นเป็นใหญ่ ซึ่งมันยากมากในเวลานี้ขณะที่โลกเปลี่ยน แต่คนไม่ปรับ

ต่อเนื่องไปถึงช่วงชีวิตการทำงานก็จะพบว่า รายได้ที่หาได้ มันเริ่มและแทบจะไม่สัมพันธ์กับเนื้องาน ไม่สัมพันธ์ในความสัมฤทธิผลที่เกิดจากการทำงาน ตัวอย่างง่ายสุดคือ ปริญญาตรีเริ่มที่ 15,000 บาทต่อเดือน มันมาจากไหน 500 บาทต่อวันใช่หรือไม่ ดังนั้นเมื่อโควิด-19 มาในยามที่โลกรวนทั้งอากาศทั้งสิ่งแวดล้อม พร้อมกับโลกมันเปิดและเปลี่ยน ระบบของเราจึงเจอกับ Income Shock และการดำรงชีวิตแบบตกหลุมอากาศ บางท่านหกล้มบนภูเขาหนี้ บางท่านตกลงไปในบ่อหนี้ บางท่านยังเอาหนี้มาเติมหนี้ บางท่านตะเกียตตะกายขึ้นมาจากบ่อหนี้ที่สูงชัน บางท่านได้มือของสถาบันการเงินดึงขึ้นมาช่วย บางท่านได้โครงการภาครัฐดันตัวยกขึ้นมาได้

เมื่อมาถึงจุดนี้ ทำให้ผู้เขียนเห็นซึ้งถึงสัจธรรมว่า การจะยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพของตนเองไปให้ได้ไกลที่สุดคือ การฟัง การเรียนที่จะฟัง เพราะเมื่อเราฟังเราจะได้อะไรเข้ามาในชีวิต กรองมัน ถ้าดีก็เอามาปรุงปัญญาผ่านการคิดอย่างมีเหตุและผล ถ้าไม่ดีก็ทิ้งไปอย่างมีสติ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าดีว่าเหมาะก็เก็บเอาไว้ในใจก่อนแบบเอาของใส่ตระกร้าแต่ยังไม่กดซื้อและโอนเงิน

หากแต่ว่าตัวเรานั้นเริ่มด้วยการพูดก่อน เราก็จะได้ยินเสียงตัวเอง ได้ฟังแต่ความคิดเรา ซึ่งหลายกรณีมันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความทึบแสงของปัญญา การชอบพูดไม่ใช่ความผิด แต่การพูดแบบคิดไม่ได้ ไปไม่เป็นประโยชน์ มันจะก่อให้เกิดแต่ปัญหา ยิ่งถ้าเป็นคนที่ได้รับมอบหมายให้คิด เพื่อไปสร้าง ให้เกิดสิ่งซึ่งกระทบกับคนอื่นในสังคม

วิชาการฟังจะสำคัญที่สุด "นักรบแห่งการฟังจะชนะสงคราม นักรบ PowerPoint จะชนะได้แค่การศึก" เพราะเมื่อมีคนรู้จริง รู้ลึก มาตรวจการบ้านที่เสนอ ก็จะพบว่าหลายครั้งทำไปจะไม่เกิดผล แต่ที่เลวร้ายคือทำไปสมการจะกลับข้างทำให้เสียหาย โดยเฉพาะกระบวนการเอาความสามัคคีมาเป็นตัวตั้งในการสร้างแนวความคิดร่วม กล่าวคือต้องคิดให้เหมือนกันมากที่สุด โต้แย้งกันให้น้อย ยึดความเกรงใจเป็นที่ตั้ง คิดแต่ว่าถ้าเถียงกันคือไม่สามัคคี ต้องร่วมใจให้เหมือนเป็นหนึ่ง ทั้งที่มีวัฒนธรรมแฝงในองค์กรที่ตนและคณะสังกัดว่า "อันความสามัคคีนั้นดีอยู่ แต่ต้องให้ตัวเราเป็นหัวหน้า" อันนี้หายนะมามากมาย ยิ่งเป็นช่วงของการแย่งชิงฐานะตำแหน่งเพื่อเลื่อนไหล ยุทธศาสตร์เตะตัดขา เข่าเจาะยาง ชกลำตัว อัดใต้เข็มขัดศอกฟันหน้า หาเรื่องร้อง อาการจะเด่นชัดมาก ๆ จนยากจะใช้เหตุความสามัคคีมากลบบัง เวลามองออกไปมันจึงอเนจอนาถใจเป็นยิ่งนัก

กลับมาที่การศึกษา ผู้เขียนได้อ่านข่าวว่าสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิต (Academic Credit Bank) หลากหลายรูปแบบตั้งปี 2563 ขณะนี้มีความก้าวหน้าไปมาก เช่น การรับนักเรียน/นักศึกษาเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตเกิดขึ้นจริงใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มากกว่า 20 สาขาวิชา และสะสมข้ามมหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง 36 วิทยาเขต และสถาบันอาชีวศึกษาก็มีการปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพและเริ่มระบบธนาคารหน่วยกิตแล้ว การเชื่อมโยงธนาคารหน่วยกิตทั้งระบบจะเร่งให้เกิดระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศ ซึ่งจะเกิดได้นั้นจะต้องได้รับการยอมรับในมาตรฐาน มีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบดูแลโดยตรงและมีความเป็นกลางเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานเทียบโอนต่าง ๆ และสาธารณชน อย่างไรก็ตาม สกศ. จะดำเนินงานให้มีธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติที่ดำรงความเป็นหน่วยงานกลาง ในลักษณะเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้เกิดการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นในระบบธนาคารหน่วยกิต ซึ่งจะช่วยให้เกิดระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศได้

ผู้เขียนคิดต่อว่า ถ้าคนไทยคนหนึ่งอยากเรียนวิชานี้จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และสามารถข้ามไปเรียนอีกสาขาวิชาจากมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง สะสมไป ทำงานไป แล้วตอนจบก็ได้ปริญญาที่เขาคนนั้นออกแบบชีวิตการเรียนด้วยตนเอง บนความเชื่อว่าเขาจะมีศักยภาพสูงสุด ความไม่มีประสิทธิภาพของบางสาขาวิชาจะถูกความกดดันให้ลบเลือนหายไปในสายลมใช่หรือไม่ ลองฟังและคิดตาม

จุดนี้คือสิ่งที่ผู้เขียนของคิดดัง ๆให้ท่านผู้อ่านได้รับฟังและเพ่งพิจารณาว่า มันพอจะเป็นทางออกจากกับดักทางปัญญา กับดักทางสัมมาอาชีพของคนในยุคหลังโควิด-19 ได้หรือไม่ครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม