posttoday

เงินเฟ้อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณผ่านจุดสูงสุดแล้ว?

09 พฤษภาคม 2565

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.80 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนเมษายนในช่วงคืนวันพุธนี้

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, ภาณี กิตติภัทรกุล สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.80 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนเมษายนในช่วงคืนวันพุธนี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะชะลอลงที่ 8.1%YoY จาก 8.5%YoY ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ความกังวลของตลาดต่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะชะลอลง และอาจกลายเป็นความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยแทน ภายหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกหดตัวผิดคาดในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้

ด้านเอเชีย ในสัปดาห์นี้จะมีการประกาศตัวเลขการค้าจีนในเดือนเมษายน ซึ่งจะสะท้อนความรุนแรงของภาวะคอขวดภาคอุปทานโลก หลังจากจีนประกาศปิดเมืองต่อเนื่อง โดยตลาดคาดการณ์การส่งออกของจีนลดลงเหลือเพียง 2.7%YoY ในเดือนเมษายน จาก 14.70%YoY ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่คาดการณ์การนำเข้าหดตัว 3.0%YoY

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 2-6 พฤษภาคม 2022 เงินบาทไทยผันผวนหนักในทิศทางอ่อนค่าท่ามกลางเงินทุนไหลออกตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเดือน มี.ค. เกินดุล 1.245 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งออกขยายตัวสูงถึง 18.9%YoY จากการส่งออกทองคำเป็นหลัก ในขณะที่การนำเข้าขยายตัว 16.7%YoY ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 5.165 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านดุลบริการและเงินโอนขาดดุล 3.920 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรวม ไตรมาสแรกดุลบัญชีเดินสะพัดไทยขาดดุล 1.611 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินเฟ้อไทยในเดือนเมษายนชะลอลงที่ 4.65%YoY จาก 5.73%YoY ในเดือนมีนาคม จากการชะลอลงของราคาน้ำมันและการช่วยเหลือจากภาครัฐ ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 2.0%YoY ด้านสบน.ยกเลิกการออกพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากตลาดพันธบัตรผันผวนมากจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอภาครัฐเพิ่มสิทธิ์เราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 อีก 1 ล้านสิทธิ์ พร้อมเสนอให้โรงแรมช่วยลดราคาห้องพัก 50% เป็นจำนวน 1 ล้านคืน

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย 50bps เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พร้อมประกาศปรับลดขนาดงบดุล 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เริ่มต้นในเดือนมิถุนายนนี้ โดยเริ่มจากการปรับลดพันธบัตร 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และตราสารหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ภายใน 3 เดือน และพาเวลส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในอีกหลายการประชุมข้างหน้า พร้อมระบุอาจขึ้นดอกเบี้ยเหนือระดับปกติที่ 2.5% ได้หากจำเป็น ในขณะที่ตลาดคาดโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 75bps ในการประชุมเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเป็น 75% ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 3.1% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018 และอัตราเงินกู้บ้านเพิ่มขึ้นเป็น 5.27% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการในเดือนเมษายน สำรวจโดยไอเอสเอ็มลดลงมาอยู่ที่ 57.1 ภาคการผลิตปรับลดลงเหลือ 55.4 จากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ภาวะคอขวดภาคอุปทานที่รุนแรงและคงอยู่ยาวนานมากยิ่งขึ้น ด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ การจ้างงานในเดือนเมษายนสำรวจโดยเอดีพีเพิ่มขึ้น 2.47 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 4.79 แสนตำแหน่ง ด้านดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐโต 0.9%MoM จากราคาพลังงานเป็นสำคัญ หากหักราคาอาหารและพลังงาน ดัชนีจะโตที่ 0.3% ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณถึงการผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

จีดีพียุโรปไตรมาส 1 โตที่ 0.2%QoQ และ 5.0%YoY จาก 0.3%QoQ และ 4.7%YoY ในไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว โดยตัวเลขสะท้อนจากการหดตัวของอิตาลี ภาวะซบเซาของฝรั่งเศส และการเติบโตที่อ่อนแอของสเปนและเยอรมัน มองไปข้างหน้า การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปขึ้นอยู่กับสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน และสถานการณ์การปิดเมืองของจีน ด้านเงินเฟ้อยุโรปโตที่ 7.5%YoY สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากราคาพลังงานเป็นหลัก

บีโออีขึ้นดอกเบี้ย 25bps เป็น 1.0% สูงที่สุดในรอบ 13 ปี พร้อมคาดการณ์เศรษฐกิจหดตัว 0.25% ในปี 2023 ในขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะ 10.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1982 ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่กรกฎาคม 2020 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียขึ้นดอกเบี้ย 25bps ไปอยู่ที่ 0.35% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทางด้านรัสเซีย ธนาคารกลางรัสเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอยู่ที่ 14% จาก 17% และประเมินว่าเศรษฐกิจรัสเซียอาจหดตัว 8%-10%

โอเปกพลัสยืนยันเพิ่มกำลังการผลิต 4.32 แสนบาร์เรลต่อวันตามแผนเดิม ทำให้ราคาน้ำมันพุ่ง 4% โดยโอเปกพลัสประเมินว่า อุปทานน้ำมันในปีนี้จะมากกว่าอุปสงค์ 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่คาด 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการปิดเมืองในจีน โดยก่อนหน้านี้โอเปกได้ปฏิเสธอียูในการหาน้ำมันอื่นเพื่อทดแทนน้ำมันจากรัสเซีย

เงินบาทปิดตลาดที่ 34.35 ในวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2022 ณ เวลา 17.00 น.