posttoday

เตรียมพร้อมการลงทุนเมื่อ Real Yield เป็นบวก

03 พฤษภาคม 2565

แนวโน้มของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริง (Real Yield) ที่ติดลบเริ่มเปลี่ยนกลับเป็นบวกซึ่งหมายความว่า ผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลเริ่มกลับมาสูงกว่าระดับเงินเฟ้อคาดการณ์

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกหันมาดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น เพื่อควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย หนึ่งในสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาของสภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเริ่มทยอยสิ้นสุดลง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ แนวโน้มของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริง (Real Yield) ที่ติดลบเริ่มเปลี่ยนกลับเป็นบวกซึ่งหมายความว่า ผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลเริ่มกลับมาสูงกว่าระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ ทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเริ่มมีความน่าสนใจขึ้น และอาจสร้างแรงกดดันต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

การส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed Fund จำนวน 0.50% ในบางการประชุมที่จะมีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.75-3.00% ณ สิ้นปี 2565 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้น และดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) ใกล้ที่จะกลับเป็นบวกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

เตรียมพร้อมการลงทุนเมื่อ Real Yield เป็นบวก

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่แท้จริง คือ อัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ (Nominal Interest Rate) หักลบด้วยอัตราเงินเฟ้อคาดหวัง เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่แท้จริงกลับเป็นบวกจะสะท้อนถึงสภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งอาจลดทอนความน่าสนใจต่อการลงทุนในตลาดหุ้น จากการศึกษาข้อมูลในอดีต พบว่า ในเดือนมิถุนายน 2556 เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่แท้จริง อายุ 10 ปี พลิกกลับมาเป็นบวก หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศว่ามีแผนที่จะลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนหุ้นในกลุ่มคุณค่า (Value Stock) ปรับลดลง -4.87% ส่วนดัชนีแนสแด็ก 100 (Nasdaq 100) ซึ่งจะเป็นตัวแทนหุ้นในกลุ่มเติบโต (Growth Stock) ปรับลดลง -5.39% (คำนวณตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 - 24 มิถุนายน 2556) อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นตลาดสามารถปรับตัวขึ้นกลับมาสู่ระดับก่อนที่จะปรับตัวลงใช้เวลา 19 วัน และให้อัตราผลตอบแทนเป็นบวกได้อย่างต่อเนื่อง (แสดงดังกราฟด้านล่าง) หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานลดลง และอัตราเงินเฟ้อทรงตัวที่ระดับ 2.0% อีกทั้ง การผ่านร่างกฎหมายจัดสรรงบประมาณและเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ธนาคารกลางเริ่มลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2556

เตรียมพร้อมการลงทุนเมื่อ Real Yield เป็นบวก

ในปี 2565 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นบวก จึงต้องมีความระมัดระวังและวางแผนการลงทุน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าปี 2556 อีกทั้งมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่าง คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรงกว่า แต่สิ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลดลง -5.82% น้อยกว่าดัชนีแนสแด็ก 100 ที่ปรับตัวลงมากถึง -14.64% (คำนวณตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2565-26 เมษายน 2565)

เตรียมพร้อมการลงทุนเมื่อ Real Yield เป็นบวก

เหรียญมีสองด้าน แม้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นจะมีความผันผวนและปรับตัวลงในช่วงนี้ แต่หากเรียนรู้จากอดีต ประเมินสภาวะทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างระมัดระวัง รวมทั้งประเมินผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แล้วว่าเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ จะเป็นจังหวะและโอกาสที่นักลงทุนจะได้เลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพดี มีศักยภาพในเติบโต และบริษัทสร้างรายได้ที่ดีต่อเนื่อง แต่ราคาได้ปรับตัวลงไปเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน ในขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้อาจจะรอเวลาที่สะท้อนการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นไปทั้งหมดและตลาดเริ่มมีเสถียรภาพจึงค่อยกลับเข้าไปลงทุน ดังนั้น นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ เพื่อที่จะสามารถให้เงินทำงานและบรรลุเป้าหมายตามแผนการลงทุน ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถลงทุนโดยตรง หรือสามารถเลือกลงทุนผ่านบริษัทจัดการกองทุนที่มีความชำนาญและประสบการณ์ในการลงทุน