posttoday

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “การเลือกคู่ครองที่เหมาะสม” (Economics of Assortative Mating)

26 เมษายน 2565

“การเลือกคู่ครอง” (หรือการหาแฟน) ก็คงเป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Problems) อีกข้อหนึ่งที่เรา (อาจ) จะต้องประสบ

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ - ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11)และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ถ้าเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่มักสอนเราในเรื่องของ “การเลือก” อย่างมีเหตุมีผลแล้ว ดังนั้น “การเลือกคู่ครอง” (หรือการหาแฟน) ก็คงเป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Problems) อีกข้อหนึ่งที่เรา (อาจ) จะต้องประสบ เพราะการเลือกคู่ครอง (ทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม) นอกจากจะเป็นประเด็นที่เห็นในละครโทรทัศน์และในชีวิตจริงแล้ว ยังเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับแฟนละครไทยจะสังเกตได้ว่า เนื้อเรื่องยอดฮิตที่ได้รับความนิยมมักจะออกมาในแนวเรื่องแบบ Cinderella’s Story นั่นก็คือ ล้วนเป็นเรื่อง ความรักต่างชนชั้นระหว่างเจ้าชายกับหญิงสามัญชน ความรักระหว่างหญิงสูงศักดิ์กับชายที่ต่ำต้อย หรือความรักต่างฐานันดรต่างชนชั้น ซึ่งหลายคนกล่าวไว้ว่า ความรักเหล่านั้นมีแค่ในละครและยากที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริง

เชื่อหรือไม่ครับว่าในวงการวิชาการ เราเองก็เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งดังกล่าว งานวิจัยของนักสังคมศาสตร์อย่าง Christine Schwartz และ Robert Mare (2010) จาก University of Wisconsin ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาในกรณีของคู่สมรสในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ความน่าจะเป็นของคู่สามีภรรยาที่คนหนึ่งจบในระดับชั้นมัธยมปลายและอีกคนหนึ่งจบในระดับชั้นอุดมศึกษามีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 43 ระหว่างปี ค.ศ. 1940-1970 ในขณะที่คู่แต่งงานในสหรัฐส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคู่ที่มีระดับการศึกษาเท่าเทียมกันมากกว่า นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การเลือกคู่ตามคุณลักษณะ (หรือการเลือกคู่ตามความเหมาะสม)”

การเลือกคู่ตามคุณลักษณะ (Assortative Mating) ได้ยกภาพให้เห็นว่า มนุษย์เองก็เหมือนกับสัตว์ประเภทอื่นๆ ที่จะเลือกคู่ครองกับสัตว์ที่เป็นเผ่าพันธุ์ (Species) เดียวหรือที่เรียกว่า Positive Assortative Mating (เช่นระหว่างสิงโตกับสิงโตหรือระหว่างม้ากับม้า) ในขณะที่โอกาสของการเลือกคู่ครองที่ต่างสายพันธุ์ (หรือที่เรียกว่า Negative Assortative Mating) ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก (เช่นสิงโตกับเสือ หรือ ระหว่างม้ากับลา)

อย่างไรก็ดี Geoffrey Miller นักจิตวิทยาจาก University of New Mexico ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า The Mating Mind ได้อธิบายว่า การเลือกคู่ตามคุณลักษณะไม่ได้ถูกกำหนดจากรสนิยมส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเช่น เราได้มีโอกาสพบใคร ทำงานร่วมกับใคร ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเลือกคู่ตรงตามคุณลักษณะที่ชัดเจนมากขึ้น

ในอดีต อาจจะเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นหมอแต่งงานกับพยาบาล หรือผู้บริหารจะแต่งงานกับเลขานุการ แต่สิ่งที่เห็นได้ในโลกปัจจุบันก็คือ หมอจะมีแนวโน้มที่จะแต่งงานกับคนเป็นหมอด้วยกันมากขึ้น (และแนวโน้มในการแต่งงานกับพยาบาลลดลง) และผู้บริหารจะแต่งงานกับเลขานุการลดลง สาเหตุสำคัญเกิดจากระบบการศึกษาและการทำงานที่เปิดโอกาสให้กับผู้หญิงมากขึ้น ผู้หญิงมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้น (เช่นปริญญาโทและปริญญาเอก) เลือกเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ทำงานในระดับสูงขึ้น และมีการทำงานในสาขาที่แต่ก่อนเคยมีผู้หญิงเลือกทำน้อยมากขึ้น (เช่น วิศวกรหรือทนายความ) จึงส่งผลทำให้ผู้ชายมีโอกาสในการเลือกจากจำนวนผู้หญิงที่จะตรงตามลักษณะของตนได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากการเลือกตามระดับการศึกษาแล้ว การเลือกคู่ตามคุณลักษณะ (Assortative Mating) ยังมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ทั้ง ฐานะและรายได้ที่ตรงกัน ศาสนาและวัฒนธรรมเดียวกัน อาชีพที่คล้ายคลึงกัน รวมไปถึงรูปร่างหน้าตาความสวยงามหรือหล่อเหลาเท่าเทียมกัน ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าทำไมในปัจจุบัน อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะแต่งงานกับอาจารย์ด้วยกัน ทำไมลูกเศรษฐีถึงแต่งงานกับลูกเศรษฐีด้วยกัน และทำไมคนที่หน้าตาดีถึงเลือกที่จะแต่งงานกันเอง

ในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม การเลือกคู่ตามคุณลักษณะที่ตรงกันนี้จะส่งผลทำให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำ” ทางการกระจายรายได้มากขึ้น จากงานศึกษาของ Gary Burtless นักเศรษฐศาสตร์จาก Brookings Institute พบว่าการแต่งงานในประเทศสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้นระหว่างคนรวยกับคนรวยและระหว่างคนจนกับคนจน และส่งผลทำให้ระดับของความเหลื่อมล้ำของประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 13 ในระหว่างปี 1979-1996 นอกจากนี้ การเลือกแต่งงานตามคุณลักษณะจะส่งผลทำให้คนเลือกที่จะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น (หรือแต่งงานเมื่ออายุมากขึ้น) ซึ่งจะเป็นปัญหากับประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (อย่างเช่นประเทศไทย) อันส่งผลทำให้เด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดน้อยลง และทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานในอนาคต

ในทางกลับกัน การเลือกคู่ครองที่มีลักษณะแตกต่างกันตามลักษณะ (Negative Assortative Mating) เองยังนำมาสู่อากาศของการเปลี่ยนแปลง (หรือเกิดการพัฒนา) ในบริบททางสังคม เช่นในบางประเทศมีการออกกฎหมายให้มีการแต่งงานระหว่างสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้ เป็นต้น

ในมิติของประเทศไทย (หรือในบริบทของเอเชียจากข้อสังเกตส่วนตัวจากการดูละครเกาหลี) การเลือกคู่ตามคุณลักษณะมระดับที่เข้มแข็งกว่าในต่างประเทศ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งเกิดจากแรงกดดันจากครอบครัวที่ต้องการให้ลูกหลานได้คู่ที่เหมาะสมกับตน (เช่นฐานะใกล้เคียงกันหรือระดับการศึกษาเดียวกัน) ดังนั้นการที่จะได้คู่ครองที่เหมาะสมจึงมีปัจจัยจากทางครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

นอกจากนี้ จากโครงสร้างตลาดแรงงานที่ส่งผลทำให้ทัศนคติ (รวมถึงรายได้) ของบางวิชาชีพมีความแตกต่างจากในบางวิชาชีพเป็นอย่างมาก จึงส่งผลทำให้การแต่งงานระหว่างอาชีพที่แตกต่างกัน (ถึงแม้ว่าจะมีวุฒิการศึกษาเดียวกัน) เกิดยากมากขึ้น เช่น เราจะไม่เห็นภาพที่พนักงานดับเพลิงแต่งงานกับหมอในประเทศไทย แต่จะสามารถเห็นได้กับประเทศแถบตะวันตก

แน่นอนว่าการเลือกคู่ครองที่แท้จริง (และการที่จะอยู่กันได้อย่างยาวนาน) แล้วจะเกิดขึ้นจาก “ความรัก” แต่ต้องยอมรับว่าความรักไม่ใช่เหตุผลของการเลือกทั้งหมด แต่ยังขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ดังนั้น การมีคู่ครองอาจจะไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และอาจจะมีความสุขมากกว่าที่จะอยู่เป็นโสด ซึ่งก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ถือว่า “สมเหตุสมผลตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์” เช่นกัน