posttoday

ค่าเงินบาท จับตาจีดีพีสหรัฐฯและยูโรโซน

25 เมษายน 2565

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.70-34.20 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือการประกาศจีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ซึ่งตลาดคาดการณ์เติบโต 1.0%

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.70-34.20 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือการประกาศจีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ซึ่งตลาดคาดการณ์เติบโต 1.0% annualized QoQ ชะลอลงจากในไตรมาสก่อนที่ 6.9% annualized QoQ โดยก่อนหน้านี้ เฟดได้ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงของการขยายตัวปานกลาง ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังคงฟื้นตัวดี และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ด้านยุโรป จะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1 ในสัปดาห์นี้เช่นกัน โดยตลาดคาดการณ์จีดีพีขยายตัว 5.1%YoY จาก 4.6%YoY ในไตรมาสก่อน

ด้านนโยบายการเงิน บีโอเจจะมีการประชุมในสัปดาห์นี้ โดยบีโอเจยังคงมีแนวโน้มคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ล่าสุดมีการประกาศซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ตามนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ท่ามกลางแรงเทขายพันธบัตรทั่วโลกที่กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 18-22 เมษายน 2022 เงินบาทผันผวนในทิศทางอ่อนค่า ท่ามกลางเงินทุนไหลออกตลาดพันธบัตรและไหลเข้าตลาดหุ้น โดยรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศเพิ่มเติม โดยยกเลิก Test&Go และการตรวจ RT-PCR สำหรับนักท่องเที่ยว เปลี่ยนเป็นการตรวจ ATK ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป นอกจากนี้ ครม. อนุมัติปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ 4.9 หมื่นล้านและลดหนี้เดิม 3.5 หมื่นล้าน โดยรัฐคาดการณ์หนี้สาธารณะที่ 62.76% ต่อจีดีพี พร้อมระบุถึงโอกาสในการกู้เพิ่ม ซึ่งยังมีความสามารถในการกู้เพิ่มได้อีกราว 1.3 ล้านล้านบาท ภายใต้กรอบหนี้สาธารณะ 70% ต่อจีดีพี

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ท่ามกลางการเทขายพันธบัตรต่อเนื่อง ในขณะที่เฟดยังคงออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยโพเวลกล่าวสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในเดือนพฤษภาคม ส่งสัญญาณถึงวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น โพเวลประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งและให้ความสำคัญกับการจัดการกับเงินเฟ้อ ประธานเฟดสาขาเซ็นหลุยส์ เจมส์ บุลลาร์ด กล่าวว่าเฟดควรจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 3.5% ปีนี้ โดยจะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ในหลายการประชุมของเฟด ด้านประธานเฟดสาขาริชมอนท์ โทมัส บาร์กิน ประธานเฟดซานฟรานซิสโก แมรี่ ดาลี่ และสมาชิกเฟด ลาเอล เบรนาร์ด สนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดให้ถึงจุดสมดุล 2.5% ให้เร็วที่สุดและอาจต้องขึ้นมากกว่านั้นหากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และมีความเป็นไปได้มากที่ต้องขึ้นดอกเบี้ย 50bps และปรับลดงบดุลในการประชุมเดือนพฤษภาคม ทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐ เงินเฟ้อเดือน มี.ค. ของสหรัฐพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 8.5%YoY เหนือคาดการณ์ โดยเงินเฟ้อปรับขึ้นสูงโดยหลักมาจากราคาพลังงานและอาหารจากผลกระทบของสงครามรัสเซียและยูเครน ในขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 65.7 ในเดือน เม.ย. จาก 59.4 ในเดือนก่อนหน้าตามการจ้างงานและค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น

ด้านยุโรป ลาการ์ดส่งสัญญาณพิจารณาการสิ้นสุดคิวอีในการประชุมเดือนมิถุนายน และประเมินว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าเป้าหมายอย่างน้อย 2 เท่าในปีนี้ โดยเกิดจากแรงกดดันด้านภาวะคอขวดภาคอุปทานเป็นหลัก สมาชิกอีซีบีหลายท่านสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 3 ปัจจุบันตลาดคาดการณ์อีซีบีขึ้นดอกเบี้ย 75bps ในปีนี้

บีโอเจประกาศซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปี แบบไม่จำกัดจำนวนที่ 0.25% ท่ามกลางแรงเทขายพันธบัตรทั่วโลกที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของบีโอเจพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 0.25% ท่ามกลางมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนของบีโอเจที่ใกล้ 0% ทั้งนี้ การซื้อพันธบัตรจำนวนมากส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปตามความต้องการของบีโอเจในการสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงฟื้นตัวช้า

เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกขยายตัว 4.8%YoY ดีกว่าคาด ในขณะที่ธนาคารกลางจีนคงดอกเบี้ยเงินกู้สวนทางคาดการณ์ตลาด อย่างไรด็ตาม ธนาคารกลางจีนยังได้ประกาศเงินหยวนอ่อนค่ากว่าคาดการณ์ เพื่อดึงอุปสงค์ต่างประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และประกาศ 23 แผนช่วยเหลือเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดโควิดที่รุนแรงมุ่งเน้นช่วยธุรกิจโดยให้ทุนธนาคารเพื่อให้ปล่อยกู้เพิ่มให้กับธุรกิจที่โดนกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 ในขณะประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนยังคงยึดมั่นในการปิดเมืองเพื่อควบคุมโควิด และย้ำจีนพร้อมเปิดประเทศมากขึ้นตามแผน 5 ปี

เงินบาทปิดตลาดที่ 33.94 ในวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2022 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวทำจุดสูงสุดใหม่แถวบริเวณ 2.98% ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2018 ก่อนที่จะปรับลดลงมาเคลื่อนไหวแถว 2.94% ในช่วงท้ายของสัปดาห์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 2ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 29 bps ขึ้นมาอยู่แถวบริเวณ 2.76% ส่งผลให้ spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีกับ 10 ปี (UST 2-10Y Spread) ปรับตัวแคบลงมาอยู่แถวบริเวณ +18 bps จาก +40 bps ในช่วงต้นสัปดาห์ โดยประเด็นหลักที่ขับเคลื่อนตลาดยังคงเป็นมุมมองของสมาชิกเฟดหลายๆท่าน ที่ยังคงมีมุมมอง Hawkish อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากคุณเจมส์ บุลลาร์ดที่กล่าวว่าเฟดควรจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 3.5% ในปีนี้ โดยมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ในหลายการประชุมของเฟด หรือแม้กระทั่งขึ้น 0.75% ก็อาจเกิดขึ้นได้ ขณะที่คุณแมรี่ ดาลี่ และคุณชาร์ลส์ อีวานส ระบุว่าเฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับปกติภายในสิ้นปีนี้และมีความเป็นไปได้มากที่ต้องขึ้นดอกเบี้ย 50bps และปรับลดงบดุลในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ และสุดท้ายคุณโพเวลก็ได้กล่าวสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในเดือนพฤษภาคม พร้อมกับส่งสัญญาณถึงวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น ด้วยมุมมองที่ยังคง Hawkish จึงไม่แปลกใจที่ตัวเลข Fed Fund Future ได้ price in โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ไปถึง 3 การประชุมคือในเดือน พฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม ไปแล้วนั่นเอง

ค่าเงินบาท จับตาจีดีพีสหรัฐฯและยูโรโซน

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นคือการประมูลพันธบัตรรัฐบาล LB249A ตัว Benchmark รุ่นอายุ 3ปี วงเงินประมูล 30,000 ล้านบาท ที่ผลการประมูลออกมาไม่ดีเลย สะท้อนผ่านช่วงผลการประมูลที่กว้างอยู่ที่ 1.28% - 1.40% เฉลี่ย 1.35% และ Bid coverage ratio เพียง 0.44 เท่า หรือคิดเป็นการออกพันธบัตรที่วงเงิน 9,910 ล้านบาทเทียบกับวงเงินที่ต้องการออกที่ 30,000 ล้านบาท และการประมูลพันธบัตรรัฐบาล LB426A ตัว Benchmark รุ่นอายุ 20ปี วงเงินประมูล 10,000 ล้านบาท ที่ผลการประมูลออกมาไม่ดีเหมือนกัน สะท้อนผ่านช่วงผลการประมูลที่กว้างอยู่ที่ 3.85% - 3.99% เฉลี่ย 3.93% และ Bid coverage ratio เพียง 1.11 เท่า และถ้าดูจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาผลการประมูลที่ออกมาในลักษณะนี้สะท้อนถึงอุปสงค์ของนักลงทุนภายในประเทศที่เบาบางลงไปมาก จึงไม่แปลกใจที่ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 11,685 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 11 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,155 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 7,519 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 22 เมษายน 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.61% 1.31% 1.75% 2.23% 2.56% และ 2.84% ตามลำดับ