posttoday

3 ปัจจัยหนุนหุ้นเวียดนาม สู่ The Rising Star of Asia

18 กุมภาพันธ์ 2565

ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีความน่าสนใจในการลงทุนระยะยาว ที่ยังไม่แพงและมีความเสี่ยงในการลงทุนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต

ตลาดหุ้นเวียดนามถือเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในอีกด้านหนึ่งด้วยสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูงและราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมามากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนหลายคนตั้งคำถามว่า ตลาดหุ้นเวียดนามแพงไปหรือยัง มีปัจจัยใดบ้างที่จะสนับสนุนหุ้นเวียดนามปรับตัวขึ้นต่อ ?

ปัจจัยแรก คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมักเป็นตัวกำหนดทิศทางของผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นของประเทศนั้นๆในระยะยาว ในปี 2022 IMF มีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามสูงถึงระดับ 6.6% และเติบโตต่อเนื่อง 6.8% ในปี 2023

ปัจจัยหลักที่สนับสนุน GDP Growth ของเวียดนามให้เติบโตอย่างโดดเด่นก็คือ การบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายตัวของสังคมเมือง ด้วยจำนวนประชากรถึง 97 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียนและส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงาน ทำให้การบริโภคภายในประเทศที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 68% ของ GDP ในวันนี้ จะเป็น Megatrend ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามให้เติบโตอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ความได้เปรียบด้านค่าแรงที่ถูกและระดับการกีดกันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ต่ำ ทำให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศอย่าง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ฮ่องกง ส่งผลให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค ด้วยการผลิตและส่งออกสินค้าที่อยู่ในความต้องการของตลาดโลก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ PC เสื้อผ้าและรองเท้าแบรนด์ระดับโลก เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น อีกทั้งการที่เวียดนามมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศในอาเซียน ถือเป็นปัจจัยที่สร้างความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามได้อย่างแข็งแกร่ง

ในด้านของการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน รัฐบาลเวียดนามได้มีการตั้งเป้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศด้วยเม็ดเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีไปจนถึงปี 2025 ในการสร้างทางด่วน สนามบิน ท่าเรือ ทางรถไฟ โรงไฟฟ้า เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต เพิ่มการจ้างงานในประเทศและดึงดูดเม็ดเงินลงทุน FDI ในขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนก็ได้มีโมเมนตัมของการขยายตัวทั้งในภาคนิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์และโลจิสติกส์ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของเวียดนามยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเวียดนามมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า 2% ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพได้ต่อไป ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง อัตราดอกเบี้ยของเวียดนามถือว่าอยู่ในวัฎจักรขาลง โดยปรับลดลงมาจากระดับ 15% มาอยู่ที่ 4% ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี

ปัจจัยที่สองคือ ปัจจัยด้านตลาดหุ้น ปัจจุบัน Valuation หุ้นเวียดนามซื้อขายอยู่ในระดับที่ไม่แพง สะท้อนจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนข้างหน้า (Forward PE) ที่ประมาณ 13.6 เท่า ถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระยะยาว ทั้งนี้ Bloomberg Consensus คาดว่า กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในเวียดนาม (EPS Growth) จะเติบโตได้สูงถึง +26% YoY ในปี 2022

ประเด็นที่น่าติดตามก็คือ การเลื่อนสถานะจาก Frontier Market เป็น Emerging Market ของตลาดหุ้นเวียดนาม โดยปัจจุบันเวียดนามยังถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Frontier Market โดยนักวิเคราะห์ได้มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงกลางปี 2022 ตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสที่จะถูกเพิ่มชื่อเข้าไปอยู่ใน Watchlist ของ MSCI และคาดว่าจะมีการประกาศย้ายสถานะเวียดนามขึ้นไปเป็นตลาดหุ้นกลุ่ม Emerging Market ในปี 2023 ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีแนวโน้มที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากกองทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอนาคต หากเทียบเคียงกับกรณีของตลาดหุ้นซาอุฯ และตลาดหุ้นคูเวตในอดีต ช่วงปี 2017 - 2018 ที่ทั้งสองตลาดได้ถูกเพิ่มชื่อเข้าใน Watchlist ของ MSCI เพื่อรอประกาศเลื่อนสถานะจาก Frontier Market เป็น Emerging Market พบว่าทั้งสองตลาดสามารถปรับตัวขึ้นได้เฉลี่ยราว 30% ในช่วงเวลาดังกล่าว

ปัจจัยสุดท้ายคือ ปัจจัยเสี่ยงในอดีตที่ได้รับการแก้ไข ซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงด้านค่าเงิน ซึ่งถือเป็นข้อโต้แย้งที่นักลงทุนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาค่าเงิน VND ย้อนหลังไป 5 ปี จะพบว่า ค่าเงิน VND เคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพและผันผวนน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก ทุนสำรองระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อีกทั้งเวียดนามยังมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับที่ไม่สูงราว 43.7% ในขณะที่ความเสี่ยงจากการที่รัฐบาลประกาศลดค่าเงินอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตน่าจะน้อยลงเช่นเดียวกัน หลังจากที่เวียดนามได้มีการทำข้อตกลงกับ IMF และสหรัฐฯ ว่าจะไม่แทรกแซงค่าเงิน ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ถอดเวียดนามออกจากรายชื่อประเทศที่เป็น Currency Manipulator ในที่สุด

ส่วนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในตลาดหุ้นเวียดนามก็ถือว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายรายวันในตลาดหุ้นเวียดนามขึ้นมาแตะที่ระดับ 4.2 หมื่นล้านบาทต่อวัน ถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นไทยในยุคก่อน COVID-19 แล้ว สาเหตุหลักเกิดจากจำนวนการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นของนักลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสัดส่วนการซื้อขายหุ้นเวียดนามของนักลงทุนรายย่อยคิดเป็น 86% ในปี 2021 ในขณะที่สัดส่วนการถือครองหุ้นเวียดนามของนักลงทุนต่างชาติอยู่เพียงแค่ 13.7% น้อยกว่าตลาดหุ้นไทยที่ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 21% ทำให้ความเสี่ยงต่อกระแสเงินทุนไหลออกมีไม่มากนัก

จากสามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าตลาดหุ้นเวียดนามยังมีความน่าสนใจในการลงทุนระยะยาว ทั้งจากเศรษฐกิจที่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง Valuation ของหุ้นที่ยังไม่แพงและมีความเสี่ยงในการลงทุนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เรามองว่า ตลาดหุ้นเวียดนามจะยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมให้กับนักลงทุนได้และก้าวขึ้นมาเป็น “The Rising Star of Asia” ในที่สุด