posttoday

ตรวจสุขภาพทางการเงินตั้งแต่ต้นปี มีชัยไปกว่าครึ่ง

18 กุมภาพันธ์ 2565

การตรวจสุขภาพทางการเงินมีความคล้ายคลึงกับการตรวจสุขภาพร่างกาย ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อหาความเสี่ยงที่เราอาจมองข้ามไป

ตั้งแต่ต้นปี 2022 ตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกยังคงมีความผันผวนที่ชวนให้ผู้ลงทุนได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางแต่ละประเทศ สภาวะทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงเข้าหากัน และได้ส่งผลต่อวิถีการลงทุนไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นปัจจัยจากภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราก็สามารถหันกลับมามองพอร์ตการลงทุนของตัวเอง เพื่อตรวจสุขภาพและปรับพอร์ตให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้

การตรวจสุขภาพทางการเงินมีความคล้ายคลึงกับการตรวจสุขภาพร่างกาย ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อหาความเสี่ยงที่เราอาจมองข้ามไป และความเสี่ยงนั้นอาจส่งผลที่แย่มากๆ กับเราในอนาคตได้ ซึ่งการตรวจสุขภาพทางการเงินทำได้ง่ายๆ โดยคำนึงถึงปัจจัยหลักทั้ง 3 คือ สินทรัพย์ หนี้สิน และเงินออม ดังนี้

1. ประเมินความมั่งคั่งสุทธิ เป็นการประเมินสถานะทางการเงิน โดยการเปรียบเทียบ ‘ความมั่งคั่งสุทธิที่มี’ กับ ‘ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมี’ โดยดูได้จาก

ความมั่งคั่งสุทธิ = สินทรัพย์ – หนี้สิน

ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมี = อายุ x รายได้ต่อปี x 10%*

ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้ทราบถึงทรัพย์สินส่วนที่หามาด้วยเงินของตัวเองจริง ๆ ว่ามีแค่ไหน และเมื่อเทียบกับสิ่งที่ควรมี ณ ช่วงอายุนั้นแล้ว หากความมั่งคั่งสุทธิที่มีมากกว่าถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าน้อยกว่าควราทางออมให้มากขึ้น

2. ประเมินภาระหนี้สินต่อเดือน โดยภาระหนี้สินหรือจำนวนเงินผ่อนต่อเดือนควรจ่ายไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน ซึ่งสามารถคำนวณได้จาก

ภาระหนี้สินต่อเดือนที่ไม่ควรเกิน = รายได้ต่อเดือน x (1/3)

หากพบว่ามีหนี้สินที่ต้องผ่อนสูงกว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาในไม่ช้า ดังนั้นจึงควรเพิ่มรายได้หรือลดค่าใช้จ่ายลง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพทางการเงินในอนาคต

3. คำนึงถึงเงินออมเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงินที่ออมไว้ใช้จ่ายยามเกิดเรื่องไม่คาดคิด เช่น อุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือตกงาน ซึ่งควรมีเงินส่วนนี้อย่างน้อย 6 เท่าของรายจ่ายประจำต่อเดือน

เงินออมเผื่อฉุกเฉิน = รายจ่ายประจำต่อเดือน x 6

หากมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินมากกว่าหรือเท่ากับถือว่าอยู่ใน เกณฑ์ที่ดี

สำหรับวิธีการที่จะช่วยให้พอร์ตของเราแข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งเปรียบได้กับการออกกำลังกายเป็นประจำ นั่นคือ การลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) เป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยเงินในแต่ละงวดเป็นจำนวนเท่า ๆ กันทุกเดือน อย่างไรก็ดี การที่เราจะลงทุนให้ประสบความสำเร็จได้นั้น มันไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัวใดๆ บอกไว้ มีเพียงความรู้ ความเข้าใจ และอาศัยความมีวินัยทางการลงทุน ดังนั้น หากอยากลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี...วินัยคือ Key วิธีคือ DCA