posttoday

จับตามองการประชุมเฟดและจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4

24 มกราคม 2565

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.40 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ตลาดจับตามองเป็นอย่างมากในสัปดาห์นี้ คือ การประชุมเฟดที่จะส่งสัญญาณถึงการขึ้นดอกเบี้ย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.40 ในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางแรงหนุนจากการที่ไทยกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวอีกครั้ง สำหรับประเด็นสำคัญที่ตลาดจับตามองเป็นอย่างมากในสัปดาห์นี้ คือ การประชุมเฟดที่จะส่งสัญญาณถึงการขึ้นดอกเบี้ย และการเตรียมลดขนาดงบดุลในระยะถัดไป โดยตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้งในปีนี้ จากการที่ก่อนหน้านี้สมาชิกเฟดออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ จีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5.7%QoQ เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.3%QoQ แม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโอไมครอน พร้อมกันนี้จะมีการประกาศดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลในเดือนธันวาคมที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นและมีนัยต่อเงินเฟ้อที่เป็นแรงกดดันหลักต่อการดำเนินนโยบายของเฟดในขณะนี้ นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้จะมีการประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นในเดือนมกราคมของประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งสัญญาณถึงสถานการณ์การฟื้นตัวของภาคธุรกิจด้วย

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 17-21 มกราคม 2022 ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น จากเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรต่อเนื่อง แม้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นบางส่วน ประกอบกับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลไทยประกาศเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป พร้อมเพิ่มพื้นที่แซนด์บ็อก 2 จังหวัด คือ ชลบุรีและตราด และลดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 69 จังหวัด เป็น 44 จังหวัด เพิ่มพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเหลือง) เป็น 25 จังหวัด และคงพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมนี้ ส่งสัญญาณบวกต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย

ค่าดอลลาร์สหรัฐฯ ยังอยู่ในฝั่งแข็งค่า ท่ามกลางการคาดการณ์ของตลาดต่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยสมาชิกเฟดยังคงให้ความเห็นสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มคงอยู่ยาวนานขึ้นและความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตำแหน่งที่ว่างอยู่ของเฟด ไบเดนเตรียมเสนอชื่อซาราห์ รัสกิ้น ลิซ่า คุก และฟิลิป เจฟเฟอร์สันเข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมแย่กว่าคาดด้วยผลของโอไมครอนและเงินเฟ้อ โดยยอดค้าปลีกหดตัวต่ำกว่าคาดการณ์ ในขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนยังลดลงต่ำลง และการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน เหนือกว่าคาดการณ์และเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

ด้านเอเชีย ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่พฤษภาคม 2018 ด้านธนาคารกลางจีนระบุว่าจีนจะไม่ยอมให้เงินทุนไหลเข้าจีนเพียงด้านเดียว ในขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง โดยเศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ขยายตัว 4.0%YoY ดีกว่าคาดการณ์แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยรวมเศรษฐกิจจีนในปี 2021 ขยายตัว 8.1% ท่ามกลางความท้าทายต่อการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 และความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น โดยปรับลดอัตรากู้ยืมสภาพคล่องระยะกลางลงเป็น 2.85% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 พร้อมทั้งปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดีระยะ 1 ปี เป็น 3.70% และระยะ 5 ปี เป็น 4.60% ด้านญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งสัญญาณคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องยาวนาน ในขณะที่เงินเฟ้อยังไม่ใกล้เคียงเป้าหมายที่ 2%

เงินบาทปิดตลาดที่ 32.96 ในวันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2022 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มต้นจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 2 ปี แถวบริเวณ 1.90% เนื่องจากตลาดเริ่มพูดถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 4-6 ครั้งในปีนี้ หรือแม้กระทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาด 50 bps ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งถือว่ามากกว่าที่ตลาดได้เคยรับรู้ผ่านตัวเลข Dot Plot ที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2022 ขณะที่ฝั่งตลาดฟิวเจอร์ ณ สิ้นสัปดาห์ ตลาดได้ price in โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 2022 อยู่ที่ 4 ครั้ง เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 3.5 ครั้ง โดยทั้ง 4 ครั้งจะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. มิ.ย. ก.ย. และ ธ.ค ของปี 2022 ส่วนความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2ปีกับ 10ปี (UST 2-10Y Spread) อยู่แถวบริเวณ +77 bps หรือปรับตัวลดลงประมาณ 6 bps จากช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายของสัปดาห์เราเห็นอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงมาอยู่แถวบริเวณ 1.80% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนเคลียร์สถานะก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 25-26 ม.ค. 65 นี้ ซึ่งนักลงทุนคงต้องติดตามผลการประชุมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะผลการประชุมจะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนตลาดตราสารหนี้ในระยะต่อไปอย่างแน่นอน

จับตามองการประชุมเฟดและจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยที่ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีกระแสเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้เป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน แต่ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนภายในประเทศเองยังคงอ่อนแรงจึงทำให้อัตราผลตอบแทนระยะกลางถึงยาวยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 21,992 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 20,774 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 9,293 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 8,075 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 21 มกราคม 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.51% 0.69% 0.92% 1.46% 1.86% และ 2.17% ตามลำดับ