posttoday

ทำความรู้จักกับตลาดตราสารหนี้ปีเสือ

23 มกราคม 2565

ตลาดตราสารหนี้ของไทยในปีนี้มีความผันผวนสูง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นและเส้นอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มลาดลง

ปีเสือปีนี้นับเป็นปีที่ท้าทายสำหรับตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกเป็นอย่างมาก ท่ามกลางการระบาดของ Covid ที่ยังคงอยู่ จึงทำให้ เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันและมีความเปราะบางอยู่ ในขณะที่เงินเฟ้อกลับเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก กดดันให้ธนาคารกลางหลักหลายแห่งเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้นและราคาตราสารหนี้ลดลง

เศรษฐกิจโลกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วจะชะลอตัวลงหลังจากเร่งตัวมากในปีที่แล้ว ในขณะที่อัตราการขยายตัวของประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะในแถบเอเชียมีแนวโน้มดีขึ้นตามอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติ อย่างไรก็ดีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อาจจะยังคงฟื้นตัวช้าจากผลกระทบของการระบาดของ Covid สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก และรัฐบาลหลายประเทศเริ่มกลับมาเข้มงวดมาตรการสาธารณสุขอีกระลอก ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง

สำหรับเงินเฟ้อที่เป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงนี้ คาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลกในปีนี้ โดยอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังจากเร่งตัวขึ้นมากในปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ปรับสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงมีความเสี่ยงสูงหากราคาพลังงานและปัญหาติดขัดในห่วงโซ่อุปทานไม่คลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ตามที่ได้มีการคาดการณ์ไว้

จากการที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศทยอยลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีนี้ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ได้มีการประกาศลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน โดยเร่งลดการซื้อสินทรัพย์ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วให้สิ้นสุดลงในเดือนมีนาคมนี้ และส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง รวมทั้งอาจลดขนาดงบดุลลงภายในปีนี้ เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเกินความคาดหมายเดิมจนอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ ธนาคารกลางอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากกลับมามองที่เมืองไทย สถานการณ์มีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ อยู่บ้าง โดยเรามองว่าปีนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก Covid แต่การฟื้นตัวก็ยังคงมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีแนวโน้มชะลอตัวจนอาจกระทบต่อภาคการส่งออก รวมถึงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศรวมถึงภาคการท่องเที่ยวทำให้การฟื้นตัวล่าช้าออกไปอีก นอกจากนี้ เม็ดเงินกระตุ้นจากนโยบายการคลังก็อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่แล้วเนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหลังจากการระบาดของ Covid คลี่คลายลง

ในส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้จะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัว ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงไม่มีมาตรการภาครัฐช่วยอุดหนุนค่าน้ำค่าไฟดังเช่นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้อัตราเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ 1-3% เนื่องจาก กนง. ประเมินว่าราคาพลังงานและปัญหาติดขัดในห่วงโซ่อุปทานมีแนวโน้มคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะทรงตัวอยู่ที่ 0.50% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระหว่างปีนี้ก็ตาม อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยมีความเสี่ยงที่จะปรับขึ้นเร็วกว่าคาดหากเงินเฟ้อในประเทศไม่คลี่คลายลงตามที่ กนง. คาดแต่กลับสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะทำให้ตลาดตราสารหนี้ของไทยในปีนี้มีความผันผวนสูง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นและเส้นอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มลาดลง (Bearish Flattening) ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในกลุ่มอายุ 2-5 ปีมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าพันธบัตรระยะยาวเพื่อสะท้อนมุมมองของอัตราดอกเบี้ยนโยบายกำลังจะปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้ในปีเสือนี้จะเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลักผสมกับการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากความเสี่ยงด้านเครดิต (credit spread) เพื่อชดเชยความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย