posttoday

ค่าเงินบาท ติดตามตัวเลขจีดีพีจีนในไตรมาสที่ 4

17 มกราคม 2565

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.90-33.70 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือตัวเลขจีดีพีจีนในไตรมาสที่ 4

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.90-33.70 ในสัปดาห์นี้ นอกจากท่าทีปรับนโยบายการเงินไปเป็นแบบตึงตัวของเฟดแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้อยู่ในฝั่งเอเชีย ในวันจันทร์จีนจะประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 3.5%YoY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.9%YoY โดยรวมจะทำให้เศรษฐกิจจีนทั้งปี 2021 เติบโตที่ 8.0%YoY และธนาคารกลางจีนจะมีการประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีระยะ 1 ปี และ 5 ปีด้วย ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับความท้าทายหลายประการ ในขณะที่ธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

ญี่ปุ่นจะมีการประชุมธนาคารกลาง ซึ่งมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะประกาศคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งตัวเลขจีดีพีและเงินเฟ้อในการประชุมครั้งนี้ด้วย ด้านไทยจะประกาศตัวเลขส่งออกและนำเข้าในเดือนธันวาคม ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 16.40%YoY และ 19.25%YoY ตามลำดับ

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 10-14 มกราคม 2022 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นท่ามกลางเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ในขณะที่รัฐบาลไทยประกาศเตรียมเก็บค่าเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 300 บาท เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ด้านผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิดในไตรมาสที่ 1 ของปี 2023 ท่ามกลางการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคส่วน และความเสี่ยงจากโอไมครอน และการกลายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19 สำปรับเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัจจัยที่ ธปท. กังวลมากนัก ด้วยยังคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไทยจะอยู่ที่ 1.7% ในปีนี้ และยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมาย 1-3% แม้ราคาเนื้อหมูและเนื้อสัตว์จะเพิ่มขึ้น โดยรวมยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงด้านการเติบโตมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ในการประชุมนักวิเคราะห์ ธปท. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีด้วยความหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยว 5.6 ล้านคน จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ต้องเผชิญกับการขาดดุลแฝดดังเช่นในปี 2021 และคาดการณ์ว่าจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ธปท. ยังได้เปลี่ยนการประชุม กนง. จาก 8 ครั้ง เป็น 6 ครั้ง ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าการประชุมที่บ่อยเกินไปทำให้ตลาดอยู่ในภาวะรอคอยก่อนจะตัดสินใจดำเนินการทางการเงิน แต่จะยังคงเผยแพร่รายงานนโยบายการเงิน 4 ครั้งต่อปี

ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง หลังจากการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์ แม้อัตราการว่างงานในเดือนธันวาคมลดลงต่อเนื่อง และความกังวลที่มีต่อแนวโน้มการลดขนาดงบดุลของเฟด ในขณะที่สมาชิกเฟดสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น และคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ โดยโพเวลกล่าวว่าจะจัดการกับเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยและใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ก่อนจะเริ่มลดขนาดงบดุลในช่วงหลังของปีนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีและตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดีเหนือคาดหมาย รวมทั้งจะมีการพูดคุยเรื่องการลดคิวอีในการประชุมปลายเดือนนี้ด้วย โดยปัจจุบันเฟดเผชิญกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 7.0%YoY สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 แม้จะส่งสัญญาณชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมขยายตัวชะลอลงเช่นกัน ส่งสัญญาณภาวะคอขวดอุปทานที่เริ่มผ่อนคลายลงบางส่วน

เงินเฟ้อยูโรโซนในเดือนธันวาคมพุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.0%YoY เนื่องจากผลของราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่อีซีบีได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยลาการ์ดระบุว่าอีซีบีจะยึดมั่นต่อการมีเสถียรภาพด้านราคา ท่ามกลางความกังวลต่อเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบัน ด้านฟิลิป เลน สมาชิกอีซีบีและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าเงินเฟ้อยูโรโซนมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ในปี 2023 และ 2024 หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดผ่อนคลายลง

ด้านโควิด-19 ไซปรัสพบโควิดสายพันธุ์ใหม่“เดลต้าครอน” ซึ่งการกลายพันธุ์จากเดลต้าและโอไมครอน ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วทั้งโลกทะลุ 300 ล้านคนแล้ว ด้าน อย. สหรัฐฯ ร่นระยะเวลาฉีดเข็มกระตุ้นของโมเดอร์น่าเป็น 5 เดือน จากเดิมที่ 6 เดือน นอกจากนี้ ทางด้านจีน เอเวอร์แกรนด์บรรลุข้อตกลงกับนักลงทุนในการชะลอการจ่ายหนี้คงค้าง 4.5 พันล้านหยวน ทำให้ความกังวลต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจผ่อนคลายลงบางส่วนในระยะนี้

เงินบาทปิดตลาดที่ 33.22 ในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2022 ณ เวลา 17.00 น.ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี เริ่มปรับตัวออกด้านข้างอยู่ในกรอบ 1.70% – 1.80% ภายหลังจากที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 25 bps ในสัปดาห์แรกของปี โดยประเด็นสำคัญตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการออกมาให้ความเห็นของสมาชิกเฟดหลายๆท่าน ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมและคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานเฟด เซนต์หลุยส์ คุณเจมส์ บุลลาร์ด คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ย 4ครั้งในปีนี้ เพื่อจัดการความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังคงกดดันอัตราผลตอนแทนพันธบัตรระยะสั้น ที่มักเคลื่อนไหวไปตามการคาดการณ์ของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงทำให้เห็นว่าความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง โดย spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2ปีกับ 10ปี (UST 2-10Y Spread) อยู่แถวบริเวณ +80 bps หรือปรับตัวลดลงประมาณ 6 bps จากช่วงต้นสัปดาห์ และหากมาดูข้อมูลในตลาดฟิวเจอร์ ตลาดได้ price in โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 3.5 ครั้ง และความน่าจะเป็นที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนมีนาคมอยู่ที่ประมาณ 93%

ค่าเงินบาท ติดตามตัวเลขจีดีพีจีนในไตรมาสที่ 4

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยที่ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ดูเหมือนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปตลอดปี 2022 จึงเห็นนักลงทุนเลือกถือพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นมากกว่าตัวยาว ทำให้เห็นแรงขายพันธบัตรรัฐบาลตัวยาวมากว่า 5 ปีขึ้นไป และโยกเงินมาเข้าพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นไม่เกิน 3 ปีเป็นหลัก ส่วนกระแสเงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน โดยกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 26,547 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 277 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 27,142 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 318 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 14 มกราคม 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.51% 0.65% 0.86% 1.43% 1.83% และ 2.10% ตามลำดับ