posttoday

เมื่อมนุษย์ตกเป็นทาสเจ้าขนปุย

14 มกราคม 2565

“สัตว์เลี้ยง” นั้นไม่ใช่เพียงสัตว์เลี้ยงที่มีคนเป็น “เจ้าของ” อีกต่อไป แต่มีสถานะเป็น “สมาชิกในครอบครัว”

ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้โครงสร้างสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา นิยามคำว่า ครอบครัว สำหรับหลายๆ ครอบครัวในทุกวันนี้ อาจจะไม่ใช่ครอบครัวที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และลูกเสมอไป ในปัจจุบัน สมาชิกใหม่ ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาเทียบเท่าสมาชิกคนอื่นๆ ในหลายๆ ครอบครัวนั้น ก็คือ สัตว์เลี้ยงนั่นเอง

“สัตว์เลี้ยง” นั้นไม่ใช่เพียงสัตว์เลี้ยงที่มีคนเป็น “เจ้าของ” อีกต่อไป แต่มีสถานะเป็น “สมาชิกในครอบครัว” สำหรับหลายๆ ครอบครัวไปแล้ว ซึ่งสัตว์เลี้ยงในหลายๆ ครอบครัวนั้นได้รับการปรนนิบัติ ดั่งราชา/ราชินี/เจ้าหญิง/ เจ้าชาย เลยทีเดียว ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดการนิยามคำศัพท์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ Pet Humanization หรือการที่เจ้าของให้ความสำคัญสัตว์เลี้ยงเทียบเท่ากับบุคคลคนหนึ่งในครอบครัว และมองว่าตนเองนั้น คือ คุณพ่อ หรือ คุณแม่ของสัตว์เลี้ยง ซึ่งคนกลุ่มนี้พร้อมที่จะทุ่มเท สรรหา อาหารและสิ่งของต่างๆ เพื่อที่จะดูแล “ลูก” ของพวกเขาอย่างสุดความสามารถและกำลังทรัพย์เลยทีเดียว

หากให้ยกตัวอย่างสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงนั้นมีหลากหลายมากมาย ตั้งแต่ อาหาร เสื้อผ้า ของเล่น โรงพยาบาล โรงแรมที่พักฝากเลี้ยง โรงเรียนฝึกสอน บริการเสริมสวย หรือแม้กระทั่ง ประกันอุบัติเหตุ/สุขภาพ ที่เริ่มจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เห็นได้จากบริษัทประกันหลายรายที่เริ่มเข้าสู่ตลาด Pet Insurance มากขึ้น หรือบริษัทสตาร์ทอัพหลายรายที่เล็งเห็นโอกาสและพัฒนาแพลตฟอร์มและสินค้าที่ไว้ดูแลสัตว์เลี้ยงแบบ Real Time เช่น เครื่องยิงขนมให้สุนัขผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือ ที่เจ้าของสามารถเปิดกล้องดูเจ้าสัตว์เลี้ยง พูดคุย และสั่งยิงขนมให้กินได้ตอนที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ เห็นจะเป็นการที่คนสมัยนี้เลือกที่จะอยู่เป็นโสด หรือเลือกที่จะไม่มีบุตรมากขึ้น ประกอบกับที่ในหลายๆ ประเทศนั้นกำลังเดินทางเข้าสู่ Aging Society ซึ่งก็เป็นปัจจัยหนุนเทรนด์นี้เช่นกัน เนื่องจากคนสูงอายุหลายๆ คนก็เลือกที่จะมีสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา นอกเหนือไปจากปัจจัยทางพื้นฐานแล้ว การเกิดโรคระบาดโควิดในครั้งนี้ก็เห็นจะเป็นปัจจัยบวกอีกอย่างหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง เนื่องจากช่วง Lock Down ที่คนเปลี่ยนจากการอยู่คอนโดและหันมาอยู่บ้านที่มีพื้นที่มากขึ้น ประกอบกับความเหงาจากการที่เดินทางและท่องเที่ยวไม่ได้สะดวกเท่าสภาวะปกติ การอยู่บ้านและมีเจ้าสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนคลายเหงาก็เห็นจะเป็นคำตอบให้คนหลายๆ คนเช่นกัน

ปัจจัยดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงนั้นเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งช่วงเศรษฐกิจซบเซา อย่างเช่นช่วงโควิดที่ผ่านมานั้น ภาพรวมการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2563 ของประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้ถึง 22.2% โดย Morgan Stanley เผยรายงานการประมาณการไว้ว่า ภายในปี 2573 อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 275,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลก โดยที่คู่ค้ารายหลักของเราก็หนีไม่พ้นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่ง 2 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศในอาเซียนเราเอง ก็เห็นเทรนด์การเติบโตของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ก้าวกระโดด อย่าง ในปี 2563 มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไปยัง ลาว เติบโตถึง 45% อินโดนีเซีย เติบโต 42% หรือ อินเดียที่ 40% แสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีกำลังซื้อไม่ได้สูงเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เราก็ยังเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมนี้อย่างชัดเจน จึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงรายหลักของโลกที่จะได้รับอานิสงส์ของการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ และได้รับความไว้ใจจากบริษัทต่างชาติรายใหญ่ในอุตสาหกรรมให้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตหลัก สำหรับแบรนด์ที่เราคุ้นหูกันดีที่เป็นของสัญชาติอเมริกัน ได้แก่ Pedigree, Cesar, Whiskas หรือบริษัทไทยยักษ์ใหญ่ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ก็เห็นโอกาสในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงเช่นกัน และออกผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Jerhigh และ Jinny

มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของภูมิภาคอาเซียนในช่วงปี 2560-2562 นั้นเติบโตอยู่ที่ 14% ต่อปี ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะสามารถเติบโตได้ถึง 30% ในช่วงปี 2563-2565 และคาดการณ์ไว้ว่า จำนวนสัตว์เลี้ยงนั้นจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7-8% ต่อปี ซึ่งแปลได้ว่า ตลาดที่เป็นสินค้า Premium จะเป็นตัวชูโรงของการเติบโตในสินค้าสัตว์เลี้ยง จากความยินยอมที่จะจ่ายเพื่อสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เจ้าสัตว์เลี้ยงมากขึ้น

จากบทเพลงคลาสสิกที่มีเนื้อร้องว่า “ Love Me, Love My Dog” อาจจะไม่ได้เป็นเพียงแค่เพลงที่ร้องผ่านๆไป แต่หากเป็น Global Mega Trend ในโครงสร้างสังคมปัจจุบันที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจอีกมากมาย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นอุตสาหกรรมที่แปรผันไปตามสภาพเศรษฐกิจน้อยกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เพราะสำหรับ “Pet Parents” ทั้งหลายนั้น สุขภาพและความสุขของเจ้าสัตว์เลี้ยงนั้นต้องมาก่อน