posttoday

ก้าวเริ่มต้นบนเส้นทางสู่ Net Zero Carbon Emission

09 มกราคม 2565

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากการทำลายของน้ำมือมนุษย์และการจัดการด้านสภาพอากาศที่ล้มเหลว นับเป็นความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นมากที่สุดภายใน 10 ปีข้างหน้านี้

โลกในปัจจุบันต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบไปยังทุกภาคส่วน ด้วยปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดย The Global Risk Report 2021 ที่จัดทำโดย World Economic Forum ระบุว่า ความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจาก สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากการทำลายของน้ำมือมนุษย์และการจัดการด้านสภาพอากาศที่ล้มเหลว นับเป็นความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นมากที่สุดภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ ส่งผลให้ประชาคมโลกต้องตระหนักถึงการรักษาสภาพแวดล้อม พยายามหาแหล่งพลังงานแบบใหม่เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อทดแทนแหล่งพลังงานฟอสซิล

ความพยายามและความร่วมมือของประชาคมโลกที่ดูเป็นรูปธรรมที่สุด ได้แก่ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมมากกว่า 55 ประเทศจะร่วมมือกันยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือ 1.5 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นไปได้ โดยครอบคลุมการดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงด้านการเงิน และลงทุนทางด้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่า เส้นทางของการเข้าสู่ Net Zero Carbon Emission ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักในบริบท ณ ปัจจุบัน ด้วยต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทั้งภาครัฐบาลและเอกชน รวมถึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนระดับมหาศาล ขณะที่เศรษฐกิจของหลายประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากวิกฤตการณ์ COVID-19 แต่เรายังเห็นพัฒนาการในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากภาครัฐบาล เมื่อพิจารณาจาก Energy Transition Index ที่เผยแพร่โดย World Economic Forum พบว่า มีจำนวนถึง 92 ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น จากแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับพลังงานทางเลือกและส่งเสริมให้พลังงานทางเลือกมีต้นทุนที่ถูกลง นำโดยกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป โดยยุโรปที่มีแผนการลงทุน EU Green Deal ที่จะมีการลงทุนส่วนใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานสะอาด และตั้งเป้าหมายใช้พลังงานทางเลือก 75% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ขณะที่ภูมิภาคอื่น เช่น สหรัฐ แม้ว่าจะยังไม่มีแผนการที่ชัดเจนมากนัก แต่ทว่าการที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ตัดสินใจกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส รวมถึงการประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่รวมการลงทุนในส่วนของพลังงานสะอาดเข้ามาไว้ด้วย ขณะที่ จีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ตั้งเป้าหมายชัดเจนในแผนพัฒนา 5 ปีของประเทศที่จะเพิ่มการผลิตพลังงานทางเลือกสู่ 20% ของการผลิดพลังงานทั้งหมดจาก 16% ในปี 2020 นอกจากนั้น ในหลายประเทศก็ประกาศตั้งเป้าห้ามขายรถยนต์เครื่องสันดาปภายในช่วง 20 ปีข้างหน้า

ซึ่งแนวทางของภาครัฐนี้เองจะส่งผลมายังภาคธุรกิจและภาคประชาชนให้ตื่นตัวในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน หลายธุรกิจมีแผนการลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี รูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสอดรับกับแนวโน้ม Net Zero Carbon Emission เช่น ไมโครซอฟต์ที่ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 อีกทั้ง ยังมีแผนการลงทุนมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 4 ปีต่อจากนี้ เพื่อระดมทุนให้กับกองทุนนวัตกรรมด้านภูมิอากาศ (Climate Innovation Fund) เพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงอีกด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Energy Transition จะเข้ามามีบทบาททั้งในเศรษฐกิจ สังคมและชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะต่อไป โดยสถาบัน EIA คาดว่า Energy Transition จะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า กลุ่มประเทศส่วนใหญ่ที่มีการลงทุนหรือตื่นตระหนกในเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission โดยมาก จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศใหญ่ๆ แต่ก็นับว่าเป็นก้าวเริ่มต้นที่ดี ซึ่งหากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเร่งตัวขึ้นและต้นทุนของพลังงานทางเลือกถูกลง ก็คาดว่าจะได้เห็นความร่วมมือร่วมใจจากประชาคมโลกในระดับที่เข้มข้นกว่าในปัจจุบันนี้