posttoday

ค่าเงินบาทไทย ติดตามรายงานการประชุมเฟด

10 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทไทย ติดตามรายงานการประชุมเฟด สัปดาห์นี้คือตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น

(Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-34.00 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นที่ 7.10%YoY จากระดับ 6.80%YoY ในเดือนพฤศจิกายน ท่ามกลางการคาดการณ์ต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ เฟดยังประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดแรงงานฟื้นตัวแข็งแกร่งต่อเนื่อง นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะมีการเปิดเผยยอดค้าปลีกในเดือนธันวาคม และความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมกราคม ในสภาวะการแพร่ระบาดของโอไมครอนที่ทำให้ผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 4-7 มกราคม 2022 ค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์แตะระดับ 33.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าที่สุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง ก่อนจะปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอกที่ 5 จากโอไมครอนที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นเป็น 7,526 คน ในวันที่ 7 มกราคม 2022 ด้านรัฐบาลไทยประกาศยกระดับพื้นที่เป็นสีส้ม 69 จังหวัด และเพิ่มวันทำงานจากบ้านอีก 14 วัน แม้จะยังคงจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด แต่ระงับการรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว ด้านงบประมาณ รัฐบาลไทยอนุมัติงบประมาณ 3.19 ล้านล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2023 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้า 2.74% โดยรัฐบาลตั้งขาดดุลงบประมาณ 6.95 แสนล้านบาท ในขณะที่ สบน. เตรียมการออกพันธบัตรวงเงิน 1.37 ล้านล้านบาท และออกพันธบัตรรุ่นอายุ 3-5 ปี เพิ่มขึ้น ในขณะที่ ธปท. จะร่วมมือโดยการชะลอการออกพันธบัตรรุ่นอายุ 2 ปี นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อไทยในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 2.17%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าคาดการณ์ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง โดยรวมในปี 2021 เงินเฟ้อไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.23% ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.23%

ด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ภายหลังจากเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมที่ระบุว่าสมาชิกเฟดมีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งต่อเนื่อง และตลาดแรงงานที่กำลังฟื้นตัวกลับสู่ระดับการจ้างงานสูงสุด สมาชิกเฟดยังมีการพูดคุยถึงการลดงบดุลของเฟดในไม่กี่เดือนข้างหน้าภายหลังจากที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย ด้านตลาดคาดการณ์โอกาสที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมมีสูงถึง 80% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่เดือนพฤษภาคม พร้อมทั้งคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีนี้ แม้โควิดจะยังคงเป็นความเสี่ยง โดยสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงมากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน ในขณะที่สหรัฐฯ เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไฟเซอร์จาก 6 เดือน เป็น 5 เดือน ในขณะที่ภาคธุรกิจในเดือนธันวาคมชะลอตัวลงจากผลกระทบของโอไมครอนสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสำรวจโดยไอเอสเอ็ม นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ผ่อนคลายลง หลังมีรายงานว่าปูตินพอใจกับผลการพูดคุยกับไบเดนและจะมีการเจรจาทางการทูตต่อไป

ด้านโควิด-19 วัคซีนเข็มกระตุ้นของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันระบุว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลได้สูงสุดถึง 85% ในขณะที่ฝรั่งเศสพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.642.2 ในเมืองมาแซลล์ โดยสายพันธุ์ดังกล่าวมีการกลายพันธุ์ไปมากถึง 46 จุด ซึ่งมากกว่าการกลายพันธุ์ของโอไมครอน ในขณะที่ผลของการกลายพันธุ์ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษา ด้านการแพร่ระบาดที่แอฟริกาใต้เหมือนจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยรัฐบาลได้เริ่มคลายการปิดเมืองและเคอร์ฟิวแล้ว

ด้านยูโรโซน เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.0%YoY ในเดือนธันวาคม จากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยดัชนีราคาผู้ผลิตพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณืเช่นกันที่ 23.7%YoY สูง ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากราคาพลังงานเป็นปัจจัยหลัก ทั้งนี้ โอเปกพลัสและรัสเซียจะเพิ่มกำลังการผลิต 4 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัว ท่ามกลางน้ำมันสำรองที่ลดลงต่อเนื่อง

เงินบาทปิดตลาดที่ 33.66 ในวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2022 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์เริ่มต้นของปี 2022 ดูไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักต่างปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตลอดทุกช่วงอายุ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 1.72% เทียบกับ 1.51% ในวันปิดสิ้นปี 2021 หรือคิดเป็นการปรับตัวขึ้นมากกว่า 20 bps ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเปิดเผยยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่ระบุว่าสมาชิกเฟดมีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องและตลาดแรงงานที่กำลังฟื้นตัวกลับสู่ระดับการจ้างงานสูงสุด ทำให้เฟดปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเป็น 3 ครั้งในปีนี้ สะท้อนผ่าน Dot Plot ที่ได้เห็นกันก่อนหน้านี้และเร่งลดคิวอีเพิ่มขึ้น 2 เท่า เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2022 แต่สิ่งที่ถือว่าค่อนข้างเซอร์ไพรส์ตลาดคือในรายงานการประชุมระบุว่าได้มีการพูดคุยถึงการลดขนาดของงบดุล ซึ่งในครั้งนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเร็วกว่าในอดีตที่ผ่านมา โดยมีความเป็นไปได้ที่การลดขนาดของงบดุลจะเกิดขึ้นภายหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยไม่นาน ซึ่งหากเทียบกับครั้งก่อนที่เฟดใช้เวลารอกว่า 2ปี ก่อนที่จะเริ่มลดขนาดของงบดุล ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลในตลาดตราสารหนี้พอสมควร เนื่องจากการลดขนาดของงบดุลเป็น exit strategy อย่างแท้จริง ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดตราสารหนี้ในระยะต่อไป

ค่าเงินบาทไทย ติดตามรายงานการประชุมเฟด

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับตลาดทั่วโลก เป็นการปรับตัวโดยเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันสูงขึ้น (Bear Steepening) ซึ่งเห็นแรงซื้อเข้ามาในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติอย่างชัดเจน โดยกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 17,717 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 18,676 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 44 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 915 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 7 มกราคม 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.51% 0.66% 0.86% 1.41% 1.77% และ 2.04% ตามลำดับ