posttoday

แก้หนี้ครู ครั้งนี้อย่างไรก็ต้องดันจนสำเร็จ

27 ธันวาคม 2564

การเป็นหนี้เป็นได้ มันไม่ใช่บาป แต่มันต้องบริหารจัดการ เจ้าหนี้ต้องไม่ก่อบาปแล้วแปลงเป็นกำไรเพื่อผลงานตน คุณครูไม่ควรเป็นเหยื่อของความเป็นทุนนิยมที่มุ่งค้าหากำไร หาเสียงจนทำให้คุณค่าและศักดิ์ศรีเสียหาย

เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 54/2564 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ผลจากความเอาจริงของภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนรายย่อย ซึ่งปฐมเหตุก็มาจากเมื่อประมาณหนึ่งปีก่อนโควิด-19 ระบาด คุณครูกลุ่มหนึ่งได้ยื่นฟ้องศาลปกครองว่า กระทรวงศึกษาธิการมีประกาศกำหนดว่าในการหักหนี้สวัสดิการของข้าราชการครูนั้น เจ้าหนี้จะหักได้ไม่เกิน 70% ของรายได้ต่อเดือน อันหมายถึงเงินเดือนบวกค่าวิทยฐานะ เป็นต้น ภาษาชาวบ้านเรียกว่า การหักหน้าซอง ซองอะไรหรือ คำตอบคือซองเงินเดือนครับ กติกาบอกว่านายจ้างต้องหักหนี้แล้วเงินเหลือเข้าซองอย่างน้อย 30% นะครับ กาลต่อมากติกานี้ไม่ได้ทำอย่างเข้มงวด เลยมีการนำเรื่องสู่ศาลท่าน พอศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่าต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านก่อนต่อเนื่องมาจนถึงท่านปัจจุบันจึงเร่งดำเนินการและถือเอาเป็นธงว่าจะทำให้สำเร็จแก้คำพูดที่ว่า หนี้ครูแก้อย่างไรก็ไม่สำเร็จ การแก้ครั้งนี้มีหลักการสำคัญคือ

1. เป็นการแก้หนี้สิน ไม่ใช่หนี้เสีย ไม่ใช่มุ่งไปที่คนมีปัญหาแต่มุ่งไปที่ระบบ

2. ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ สัญญาเป็นสัญญา แต่อะไรที่ไม่ค่อยเป็นธรรม เช่น ดอกเบี้ยหนี้สวัสดิการทำไมมันสูงกว่าหนี้ปกติก็ต้องถูกจัดการ

3. เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามควรแก่กรณี ไม่ใช่เอาเปรียบได้ทุกเม็ดแบบที่คุณครูพูดไม่ออก การทำตามอำเภอใจต้องเลิก บทบาทกระทรวงศึกษาธิการในฐานะนายจ้างจะเข้ามาดูแล ไม่ใช่รับคำสั่งคำขอจากเจ้าหนี้อีกต่อไป อะไรเหมาะควรก็จะทำ อะไรต้องปรับก็ต้องแก้ให้ถูก ไม่ใช่เจ้าหนี้อ้างกฎหมายตนเอง เรื่องการหักหนี้นำส่งต้องทำ โดยไม่มองกติกากระทรวงศึกษาธิการไม่ดูคำวินิจฉัยศาลปกครองประกอบ

แก้หนี้ครู ครั้งนี้อย่างไรก็ต้องดันจนสำเร็จ

4. การทำมาหากิน การหารายได้จากธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต ที่ไม่จำเป็น ไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวลูกหนี้ ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายแล้วไปหักเอาจากเงินเดือนต้องเลิก คนในอาชีพเดียวกันต้องไม่กินกันเอง ทำแบบนี้มันบาป บาปมากด้วย คนทำต้องคิดว่ากรรมเวรจะตามทันเอาได้

5. การแก้ครั้งนี้จะพยายามเอาทรัพย์สินทางการเงินของตัวคุณครูเองที่ออมมาใช้ประโยชน์ เช่น หุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์ บำเหน็จตกทอด และอื่น ๆ เพื่อลดความทุกข์ทรมานในช่วงที่เป็นหนี้ ตัวอย่างเช่น เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ 500,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน แต่มีหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์เวลาเดียวกัน 200,000 บาท ทางแก้ก็คือ เอาหนี้ 500,000 บาท มาแยกเป็นสองก้อน ก้อนแรก 300,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน ดอกเบี้ยก็ไม่เกิน 5% เพราะเป็นสินเชื่อสวัสดิการ ดอกเบี้ยจะสูงได้อย่างไร ตรงนี้ก็หักเงินรายได้นำส่งไปในแต่ละเดือน ส่วนหนี้ก้อนที่สองอีก 200,000 บาท ให้คิดดอกเบี้ยรายปีเก็บปีละหนึ่งครั้ง จ่ายตอนไหน จ่ายตอนเงินปันผลออก แล้วให้เอาดอกเบี้ยที่จะจ่ายหักกับเงินปันผลมาหักกลบลบหนี้กัน ก็ในเมื่อประกาศว่าเงินปันผลจ่ายดี ผลตอบแทนสูง ก็เอามาหักกับดอกเบี้ยสิครับ มันจะได้ไม่เป็นภาระระหว่างทางทำให้คุณครูต้องวิ่งหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยหรือถูกหักหน้าซองจนไม่มีจะกินแบบทุกวันนี้ อีกประการคือ เมื่อไม่ยอมให้เอาหุ้นที่ลงทุนมายุบยอดหนี้ตรง ๆ ก็เอาแบบช่วยลดภาระกระแสเงินสดติดลบในแต่ละเดือนสิครับ มันไม่ได้มีอะไรผิดกฎหมาย เมื่อบอกว่ากฎหมายเป็นอุปสรรค ก็บ่งหนามกฎหมายด้วยกฎหมายแบบนี้แหละ

6. สุดท้ายคือบทบาทของนายจ้างในฐานะที่หักเงินรายได้นำส่งเจ้าหนี้ จะหักนำส่งเฉพาะที่กฎหมายกำหนด อะไรไม่มีสิทธิหัก เจ้าหนี้ต้องออกแรงไปตามเองนะครับ และการก่อหนี้ของลูกหนี้หน้าใหม่ไม่ว่าจะเป็น สร้างหนี้ทดแทนคุณ หนี้เพื่อกตัญญู อันเป็นนวัตกรรมบนความเชื่อที่ผิดเพี้ยนต้องถูกกำกับดูแลเข้มงวด ถ้าคุณครูหน้าใหม่จะกู้ การรับรองรายได้จะต้องพิสูจน์ทราบเอาหนี้ที่อยู่กับสถาบันการเงินอื่นกับหนี้ที่จะกู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์มาวางแล้วเข้าตารางว่ายังมีศักยภาพกู้ได้อีกกี่มากน้อย เพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัว ท่านผู้อ่านลองนึกภาพถ้าสหกรณ์ออมทรัพย์หันกลับมาให้กู้ผ่อนมอเตอร์ไซค์ ดอกเบี้ยไม่เกิน 5% โดยนายจ้างคุณครูหักหนี้นำส่ง มันจะช่วยได้ขนาดไหน

การเป็นหนี้ เป็นได้ มันไม่ใช่บาป แต่มันต้องบริหารจัดการ เจ้าหนี้ต้องไม่ก่อบาปแล้วแปลงเป็นกำไรเพื่อผลงานตน คุณครูไม่ควรเป็นเหยื่อของความเป็นทุนนิยมที่มุ่งค้าหากำไร หาเสียงจนทำให้คุณค่าและศักดิ์ศรีเสียหาย การศึกษาของชาติบ้านเมืองถดถอย ด้วยการทำงานอย่างต่อเนื่องของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จนมาถึงปัจจุบัน จนกระทั่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการชัดเจน ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าครั้งนี้ยังทำไม่ได้ ก็คงไม่มีครั้งไหนจะทำได้แล้ว คำสั่งมี นโยบายชัด กลไกพร้อม คำวินิจฉัยของศาลสนับสนุน กฎหมายไม่ขัด ผู้คุมกฎเข้าใจแจ่มแจ้ง ท้ายที่สุดมีการนำร่องไปแล้วเกิน 20 แห่งของพี่ ๆ สหกรณ์ออมทรัพย์ อย่างสุดท้าย ถ้ามีการประกาศอัตราดอกเบี้ยของเจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ให้สมาชิกได้ทราบทั่วกันทั้งประเทศเพื่อเช็กดอกเบี้ยถูกดอกเบี้ยแพง และถ้าเปิดโอกาสให้ย้ายเจ้าหนี้ได้อีกล่ะก็ มันจะยิ่งขับเคลื่อนได้อีก เพราะด้วยความเป็นดิจิทัล โอนเงินชำระหนี้แค่ใช้ QR Code ท่านผู้อ่านคิดว่ามันทำได้ไหม ทำไมเราต้องทนกับเจ้าหนี้ดอกเบี้ยแพง ถ้ามีเจ้าหนี้ดอกเบี้ยถูกพร้อมต้อนรับเราและกฎหมายไม่ได้ห้าม ระบบทำได้ เรื่องราวก็จะเปลี่ยนไป... ฝันที่เป็นจริงสำหรับลูกหนี้ ฝันร้ายสำหรับเจ้าหนี้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ขอขอบคุณที่ติดตามมาตลอด และความคิดเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องผูกพันกับองค์กรใด ๆ ทั้งสิ้น