posttoday

ติดตามการประกาศดุลบัญชีเดินสะพัดไทย

27 ธันวาคม 2564

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.80 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญในประเทศที่ต้องติดตามคือการประกาศดุลบัญชีเดินสะพัดไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.80 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญในประเทศที่ต้องติดตามคือการประกาศดุลบัญชีเดินสะพัดไทย ที่คาดว่าจะขาดดุลลดลง และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ด้านต่างประเทศ ญี่ปุ่นจะเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวขึ้น ในขณะที่จีนจะประกาศกำไรภาคอุตสาหกรรมและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่จะสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน ด้านฝั่งประเทศตะวันตกเริ่มเข้าสู่วันหยุดยาวช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่แล้ว

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 20-24 ธันวาคม 2564 ค่าเงินบาทผันผวนหนักจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโอไมครอนที่พบผู้ติดเชื้อในไทยมากกว่า 200 รายแล้ว ทำให้รัฐบาลไทยประกาศชะลอการรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวระหว่าง 21 ธันวาคม – 4 มกราคม โดย ททท. เปิดเผยตัวเลขนักท่องเที่ยวนับตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม อยู่ที่ 1.6 แสนคน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาทิ มาตรการชอปดีมีคืน มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ด้าน ธปท. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตามคาด พร้อมปรับคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2021, 2022 และ 2023 เป็น 0.9%, 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ จากเดิมคาดการณ์จีดีพีปี 2021 และ 2022 ที่ 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ เนื่องจากโอไมครอนเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและคาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ด้านเงินเฟ้อ ธปท. คาดการณ์ว่าจะเร่งตัวขึ้น แต่โดยรวมยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย ด้านการส่งออกไทยในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวดีกว่าคาดการณ์ ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้าไทยกลับมาเป็นบวก

ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า จากการที่ตลาดมีแนวโน้มกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ สำรวจโดยคอนเฟอเรนซ์บอร์ดในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นเป็น 115.8 สูงกว่าคาดการณ์ ด้านสมาชิกเฟดสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า โดยคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ สนับสนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2022 เนื่องจากความกังวลเงินเฟ้อ ในขณะที่ประธานเฟดซานฟรานซิสโก แมรี่ ดาลี่ คาดการณ์ถึงการขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีหน้า โดยเริ่มต้นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคม ด้านประธานเฟดนิวยอร์ก จอห์น วิลเลียม สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าเช่นเดียวกัน โดยระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยอังกฤษเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ด้วยการแพร่ระบาดพร้อมกันของเดลต้าและโอไมครอน ในขณะที่สหรัฐฯ เผชิญการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในนิวยอร์กที่ทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกับในอิตาลี ทำให้หลายประเทศเริ่มประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมโควิด-19 เนเธอร์แลนด์ใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวด เยอรมันประกาศห้ามจัดงานที่รวมคนมากกว่า 10 คน ในขณะที่อังกฤษยังคงประเมินสถานการณ์และมาตรการเพิ่มเติม ด้านสหรัฐฯ และเยอรมันพบผู้เสียชีวิตจากโอไมครอนรายแรก ในขณะที่โอไมครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐฯ ด้านวัคซีน โมเดอร์น่าและแอสตร้าซินีก้าประกาศผลการศึกษาเบื้องต้นว่าเข็มกระตุ้นมีประสิทธิภาพในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ในขณะที่ อย. สหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้ยารักษาโควิดของไฟเซอร์และเมอร์ค

ด้านยุโรป อีซีบีประกาศจะไม่ขยายมารตรการช่วยเหลือสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินที่จะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมนี้ โดยมาตรการดังกล่าวอนุมัติให้ธนาคารมีอัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องน้อยกว่า 100% ได้ ตั้งแต่มีนาคม 2020 นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและรัสเซียยังคงตึงเครียด อย่างไรก็ตาม ปูตินกล่าวว่าไม่ต้องการทำสงครามกับยูเครนและต้องการให้มีการรับรองความปลอดภัยให้รัสเซีย

ทางฝั่งญี่ปุ่น บีโอเจเริ่มปรับลดคิวอี แต่คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยบีโอเจลดการซื้อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ลงสู่ระดับก่อนเกิดโควิด แต่ยังขยายมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอีก 6 เดือน ไปสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2022 พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1% ทั้งนี้ บีโอเจประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะทอยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤศจิกายนเร่งตัวขึ้นในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ที่ 0.5%YoY แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของบีโอเจที่ 2%ด้านจีน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์ให้แก่ลูกค้าชั้นดีระยะ 1 ปีลง 5bps เป็น 3.8% นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมษายน 2020 ในขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยฯ ระยะ 5 ปี ไว้ที่ 4.65% ซึ่งเป็นการคงต่อเนื่องติดต่อกัน 20 เดือน ภายหลังจากจีนเผชิญกับความเสี่ยงโควิด-19 และการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าจีนอาจปรับลดอัตราส่วนเงินทุนสำรองลงอีกในเดือนมกราคม 2022

เงินบาทปิดตลาดที่ 33.45 ในวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.40% - 1.50% โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี เริ่มต้นสัปดาห์แถวบริเวณ 1.40% โดยประเด็นหลักที่สนับสนุนโหมดปิดรับความเสี่ยงยังคงเป็นเรื่องของความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ “โอไมครอน” ที่จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้นทำสถิติใหม่ทั้งในยุโรปและอเมริกา รวมถึงหลายประเทศเริ่มประกาศใช้มาตราการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าว อย่างไรก็ตามในช่วงกลางสัปดาห์มีการรายงานว่าไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าและอัตราการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลลงไปได้บ้างและปรับเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยง ประกอบกับการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ครั้งที่ 3 สำหรับไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 2.3% จากการประกาศครั้งก่อนที่ 2.1% ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ สำรวจโดยคอนเฟอเรนซ์บอร์ดในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นเป็น 115.8 สูงกว่าคาดการณ์และเดือนก่อนหน้าที่ 111.0 และ 109.5 รวมไปถึงยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 2.5% เทียบกัลคาดการณ์ที่ 1.6% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่แถวบริเวณ 1.50% ในช่วงท้ายสัปดาห์

ติดตามการประกาศดุลบัญชีเดินสะพัดไทย

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีประเด็นสำคัญภายในประเทศอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามคาด พร้อมปรับคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2021, 2022 และ 2023 เป็น 0.9%, 3.4%และ 4.7% ตามลำดับ จากเดิมคาดการณ์จีดีพีปี 2021 และ 2022 ที่ 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ ทั้งนี้เราคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ 0.50% ต่อไปตลอดปี 2022 ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 16,741 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 21,404 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,107 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 7,770 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.66% 0.84% 1.25% 1.62% และ 1.94% ตามลำดับ