posttoday

มาตรการภาษีคาร์บอนของ EU ต่อผู้ประกอบการไทย

08 ธันวาคม 2564

ผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งรับมือนโยบายการเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในอีก 1 ปีข้างหน้า

บทความโดย...ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

สภาพสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก ทำให้เกิดความตระหนักถึงการป้องกันและรักษาสภาพแวดล้อม รวมถึงภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าเพื่อป้อนสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดที่ส่งออกไปยังกลุ่ม EU หรือสหภาพยุโรปที่ให้ความสำคัญต่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเป็นภูมิภาคแรกๆ ของโลกที่คำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ EU มีนโยบายการเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในอีก 1 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ. 2566 นี้ หรืออีก 1 ปีจากนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ถึงกลุ่มสินค้าไทยส่งออกที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือไว้ดังนี้

• กลุ่มสินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนสูง สินค้ากลุ่มนี้จะถูกต้องตระหนักอย่างสูงและจะถูกเพ็งเล็งก่อน โดยจะเริ่มใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยสินค้านำร่อง 5 รายการ เช่น ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และอะลูมิเนียม

• กลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ประกอบการไทยที่ต้องใช้พลาสติกเป็นองค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์อาจต้องใช้วัสดุอื่นมาทดแทน โดย EU เริ่มมาตรการห้ามใช้มาตั้งแต่ 3 ก.ค. 2564 ซึ่งประกอบด้วยพลาสติก 10 ชนิด คือ ก้านสำลีเช็ดหู ช้อน/ส้อม/มีด/จาน/หลอด ลูกโป่งและไม้เสียบลูกโป่ง ภาชนะใส่อาหาร ถ้วยเครื่องดื่ม ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม ก้นบุหรี่ ถุงพลาสติก แพ็คเก็ตและที่ห่อ ทิชชู่เปียกและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย

• กลุ่มสินค้าอาหาร ไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารทั้งวัตถุดิบและอาหารแปรรูปรายสำคัญของ EU และของโลก จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมด้านห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุกช่องทาง และแม้ EU จะยังไม่ได้จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าในหมวดสินค้าอาหาร แต่หลายประเทศในกลุ่มนี้ ก็มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้าเนื้อสัตว์ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนจากการทำฟาร์มในอัตราที่สูงกว่าผัก ผลไม้ อาหารสุขภาพและอาหารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปแล้ว จึงมีโอกาสที่มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนจากการนำเข้าสินค้าอาหารจะถูกนำมาใช้ในช่วงถัด

นอกจากตลาด EU แล้วยังมีตลาดสหรัฐฯ ที่กำลังเร่งผลักดันให้โลกก้าวสู่การผลิตและการบริโภคที่ลดคาร์บอนในอนาคตอันใกล้ซึ่งผู้ประกอบการต้องได้รับผลกระทบในไม่ช้า แม้จะยังไม่ส่งกระทบการต่อส่งออกของไทยในปี 2565 ที่จะถึงนี้ แต่ผลกระทบทางอ้อมจะค่อยๆ เกิดขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมและหาแนวทางเพื่อรักษาตลาด ทั้งการปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน ในอีก 1 ปีข้างหน้านี้ ส่วัสดีปีใหม่ 2565 ครับ