posttoday

จักรวาล (ลงทุน) ที่อยู่เหนือขอบเขต

07 ธันวาคม 2564

“Metaverse” เป็นคำศัพท์ที่ได้รับความนิยมและถูกพูดถึงทั่วโลกในช่วงเดือนต.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ทาง Facebook (FB) ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Meta” และจะเปลี่ยนอักษรย่อหุ้นจาก “FB” เป็น “MVRS” ภายในวันที่      1 ธ.ค. นี้ เพื่อขยายธุรกิจเข้าสู่ S-Curve ใหม่ ที่เป็นมากกว่าโซเชียลมีเดีย อีกทั้ง Mark Zuckerberg ยังได้จัดตั้งทีม Metaverse ภายใต้ส่วนธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่ “Reality Labs” เป็นที่เรียบร้อย ขณะที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Instagram และ WhatsApp เป็นต้น จะถูกรวมกันอยู่ในส่วนธุรกิจ “Family of Apps” เพื่อทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Metaverse คืออะไร Metaverse มาจากการรวมกันของคำว่า “Meta” กับ “Universe” ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า “จักรวาลที่อยู่เหนือขอบเขต” โดยในความเป็นจริงแล้วคำว่า Metaverse ปรากฏครั้งแรกตั้งแต่ปี 1992 ในนิยายแนววิทยาศาสตร์ที่มีชื่อว่า “Snow Crash” โดยนักเขียนชาวอเมริกันชื่อว่า “Neal Stephenson” ดังนั้นคำว่า Metaverse จึงไม่ใช่คำศัพท์ใหม่ แต่ได้รับการผลักดันโดย Facebook ทำให้กลายมาเป็นกระแสของโลกอีกครั้ง

หากลองย้อนกลับไปสัก 1-2 ปีก่อนหน้า เราคงนึกภาพไม่ออกว่า Metaverse จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร เนื่องจากการดำเนินชีวิตของเรายังสามารถเดินทาง หรือพบปะกันได้ตามปกติ แต่ด้วยการเกิดวิกฤตแพร่ระบาดของโควิด-19        ทั่วโลก ทำให้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้น สอดคล้องตามหลักของ Moore’s Law ยกตัวอย่าง เช่น การพัฒนาจากการพิมพ์ข้อความไปสู่การถ่ายรูปภาพและวิดีโอ จนถึงยุคปัจจุบันที่โลก Metaverse กำลังกลายเป็นความจริง

การที่โลก Metaverse จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ทำให้ผมเริ่มเห็นธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์มากมาย โดยกลุ่มแรกที่ผมมองว่าจะได้รับประโยชน์ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้นกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น แว่นตา VR/AR เป็นต้น เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเข้าสู่โลก Metaverse โดยเจ้าตลาดอุปกรณ์ดังกล่าว        ในปัจจุบัน คือ Facebook (FB) ที่เป็นเจ้าของบริษัท Oculus ผู้ผลิตแว่น VR ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกมากกว่า 53% ในปี 2020 โดยมีรุ่นยอดฮิตอย่าง “Oculus Quest 2” สนนราคาที่ $299 หรือแม้กระทั่ง Microsoft (MSFT)  บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ก็มีการผลิตแว่น MR (เทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่าง VR และ AR) ชื่อว่า “HoloLens” โดยใช้ในอุตสาหกรรมโรงงานเป็นหลัก เนื่องจากมีราคาเริ่มต้นสูงถึง $3,500

กลุ่มสองที่ผมมองว่าจะได้รับประโยชน์เช่นกันคือกลุ่มผู้พัฒนาเกมเนื่องจากปัจจุบันการใช้งานบนโลก Metaverse ยังเป็นการเล่นเกมเป็นส่วนใหญ่ โดยหุ้นตัวแรกที่ผมนึกถึงก็ยังเป็น Microsoft (MSFT) เช่นเดิม เนื่องจากบริษัทมีการเน้นพัฒนาธุรกิจเกมมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น การซื้อกิจการ ZeniMax ผู้พัฒนาเกมชื่อดัง ด้วยมูลค่า $7.5bn ในช่วงเดือนมี.ค.2020 แถม Microsoft ยังมีธุรกิจ Xbox อยู่แล้ว จึงทำให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มี Ecosystem เกี่ยวกับเกมครบวงจรมากที่สุดบริษัทหนึ่ง โดยหากลองข้ามฟากมายังผู้พัฒนาเกมในฝั่งจีน มีหุ้นอยู่ 2 ตัวที่ผมมองว่าจะได้รับประโยชน์ นั่นคือ Tencent (700) และ NetEase (9999) ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยทั้งคู่ถือเป็นผู้นำวงการเกมในฝั่งจีนอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

กลุ่มสามที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์คือกลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ใช้พัฒนาเกมเนื่องจากการพัฒนาเกมขึ้นมา 1 เกม จะต้องใช้ซอฟต์แวร์ในการพัฒนา หรือที่เรียกว่า “Game Engines” ซึ่งบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจนี้ ได้แก่ Unity (U) ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ สำหรับพัฒนาเกมที่กว่า 60% ของเกมมือถือบนโลกใบนี้ ถูกพัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Unity หรือ Roblox (RBLX) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับพัฒนาเกมออนไลน์ที่สามารถให้ผู้เล่นรายอื่นเข้ามาเล่นเกมของเราได้ คล้ายกับ YouTube ในโลกของเกม สำหรับกลุ่มสุดท้ายที่ผมมองว่า มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน คือ กลุ่มผู้ผลิตชิป หรือ Semiconductor เนื่องจากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มีความจำเป็นต้องใช้ชิปในการประมวลผล ดังนั้นจึงคาดว่าผู้ผลิตชิปรายใหญ่อย่าง Nvidia (NVDA), Intel (INTC) หรือ Qualcomm (QCOM) จะได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่โลก Metaverse ในระยะยาวเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ทีม BLS Global Investing ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับโลก Metaverse ภายใต้ชื่อ “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กับโลกใหม่ Metaverse” เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา อัดแน่นไปด้วยข้อมูลหุ้น และ ETFs ที่เกี่ยวข้องกับโลก Metaverse   โดยพิเศษสำหรับลูกค้าหลักทรัพย์บัวหลวง สามารถเลือกดูรายงานดังกล่าว ผ่านเมนู Global Investing เลือก Global Commentary หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถเปิดบัญชีหลักทรัพย์ต่างประเทศทางออนไลน์กับหลักทรัพย์บัวหลวงได้ที่ https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/openglobalinvesting/ หรือติดต่อทีมงานที่เบอร์ 0-2618-1111 ในวันและเวลาทำการ