posttoday

ติดตามการประกาศรายงานการประชุมเฟดและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ

22 พฤศจิกายน 2564

คาดเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.30-33.00 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือการประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นของสหรัฐฯ และยุโรป

คอลัม มันนี่วีก (Money… week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.30-33.00 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือการประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นของสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงขยายตัวต่อเนื่อง ด้านไทยจะประกาศตัวเลขส่งออกและนำเข้าในเดือนตุลาคม ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 16.5%YoY จากในเดือนกันยายนที่ขยายตัว 17.1%YoY

ด้านนโยบายการเงิน เฟดจะเปิดเผยรายงานการประชุมจากการประชุม FOMC ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะสะท้อนถึงมุมมองของเฟดที่มีต่อสภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้จะประชุมเพื่อพิจารณาดอกเบี้ยนโยบาย โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้จะขึ้นดอกเบี้ยเป็น 1.00% จากเดิมที่ระดับ 0.75%

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 15-19 พฤศจิกายน 2564 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ และการประกาศจีดีพีไทยในไตรมาส 3 ที่หดตัว 0.3%YoY ดีกว่าคาดการณ์ที่ -1.3%YoY จากที่ขยายตัว 7.6%YoY ในไตรมาสที่ 2 ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดของปีแล้ว โดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและการปิดเมือง ทำให้การบริโภคภาคเอกชนหดตัว อย่างไรก็ตาม มีแรงหนุนสำคัญจากการส่งออกที่ขยายตัวสูง และการบริโภคภาครัฐที่ยังคงเป็นปัจจัยหนุน ด้าน สศช. เพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2021 เป็น 1.2% จาก 0.95% และคาดการณ์ขยายตัว 3.5-4.5% ในปี 2022 ในขณะที่ ธปท. ขยายเกณฑ์การเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น โดยครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้เสียก่อน 1 ตุลาคม จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณแข็งแกร่ง โดยยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมขยายตัว 1.7%MoM สูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจากการใช้จ่ายในช่วงวันหยุด ราคาน้ำมันและยอดขายรถที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจากการฟื้นตัวหลังจากเฮอริเคนไอด้า ด้านสมาชิกเฟดยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางความกังวลต่อเงินเฟ้อ โดยมีทั้งฝั่งที่ต้องการให้รอดูสถานการณ์เงินเฟ้อในปีหน้าก่อนตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย และฝั่งที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า ทั้งนี้ ในประเด็นการคัดเลือกประธานเฟดคนใหม่ คาดการณ์ว่าไบเดนจะประกาศผลก่อนวันขอบคุณพระเจ้า และไบเดนลงนามในงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว พร้อมทั้งคาดการณ์ว่างบประมาณลงทุนด้านสังคมมูลค่า 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะได้รับการอนุมัติภายใน 1 สัปดาห์

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลายความตึงเครียดลง สืบเนื่องจากการประชุมทางไกลด้วยท่าทีเคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงตกลงที่จะพูดคุยเพิ่มเติมอีกในครั้งหน้า โดยไบเดนให้สัมภาษณ์หลังการประชุมในประเด็นไต้หวันว่าไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการแยกตัวเป็นอิสระ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม นโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวันจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากไบเดนระบุว่าจะแบนโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งจากประเด็นสิทธิมนุษยชน แต่จะไม่กระทำการที่กระทบต่อนักกีฬาของสหรัฐฯ

ด้านยุโรปกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ของโควิด-19 ซึ่งทำให้ออสเตรียประกาศใช้มาตรการปิดเมืองเต็มรูปแบบอีกครั้ง ในขณะที่เนเธอแลนด์ประกาศใช้นโยบายปิดเมืองบางส่วน และเยอรมนีกำลังพิจารณามาตรการปิดเมืองเต็มรูปแบบด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 65,000 คน นอกจากนี้ ประเด็น เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงได้รับแรงกดดันจากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น จากการที่เบลารุสขู่จะลดการส่งก๊าซไปที่ยุโรป หากไม่ยอมเลิกมาตรการแทรกแซงที่เข้มงวดในประเด็นผู้อพยพจากตะวันออกกลาง และเยอรมันชะลอการออกใบอนุญาตท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ด้านจีดีพียูโรโซนในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 3.7%YoY ตามคาด ในขณะที่สมาชิกอีซีบีมีความเห็นสอดคล้องกับลาการ์ด โดยคาดการณ์ว่าอีซีบีจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 แม้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม ด้านเงินเฟ้ออังกฤษในเดือนตุลาคมพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ 4.2%YoY สูงกว่าคาดการณ์ไปมาก ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าบีโออีจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าในช่วงกลางเดือนธันวาคม หลังจากที่บีโออีคงดอกเบี้ยนโยบายสวนทางการคาดการณ์ของตลาดในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ด้านเอเชีย จีดีพีญี่ปุ่นไตรมาสที่ 3 หดตัว 3.0%QoQ แย่กว่าคาดการณ์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กดดันทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.1%YoY สอดคล้องกับคาดการณ์ และเป็นการขยายตัว 2 เดือนติดต่อกันภายหลังจากที่ติดลบมายาวนานด้วยพิษของโควิด-19 โดยราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อในญี่ปุ่นพลิกกลับมาเป็นบวก ด้านจีนรายงานการใช้จ่ายเงินหยวนในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 1.85% ลดลงจาก 2.19% ในเดือนกันยายน ส่งสัญญาณการค้าของจีนที่ชะลอลง ในขณะที่มีข่าวว่าทางการจีนพิจารณาจะปรับลดภาษีและค่าธรรมเนียมกว่า 5 แสนล้านหยวน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

เงินบาทปิดตลาดที่ 32.75 ในวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีช่วงกลางสัปดาห์ภายหลังจากที่มีการประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมขยายตัว 1.7%MoM สูงกว่าคาดการณ์ที่ 1.4%MoM และตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น1.6%MoM สูงกว่าคาดการณ์ที่ 0.9%MoM อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ก็ปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดแถวบริเวณ 1.65% ก่อนที่จะปรับตัวกลับลงมายืนแถวบริเวณ 1.60% ในช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่อีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองคือทางฝั่งอังกฤษที่มีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ 4.2%YoY ในเดือนตุลาคม ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ที่ 3.9%YoY และสูงกว่าระดับ 3.1%YoY ในเดือนกันยายน ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าบีโออีจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าในช่วงกลางเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตามหากพิจารณาดูในส่วนของตลาดฟิวเจอร์ ตลาดได้ให้โอกาสที่บีโออีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมอยู่ที่ 52% ซึ่งหากธนาคารกลางอังกฤษมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง ก็จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ อย่างแน่นอน

ติดตามการประกาศรายงานการประชุมเฟดและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศมีการประกาศจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 3 หดตัว 0.3%YoY ซึ่งดีกว่าคาดการณ์ที่ -1.3%YoY จากที่เติบโต 7.6%YoY ในไตรมาสที่ 2 ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว ส่วนทางด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การประมูลพันธบัตรรัฐบาลที่เป็น Benchmark รุ่นอายุ 20ปี (LB426A) โดยผลออกมาไม่ค่อยดีนักจากช่วงผลการประมูลที่ค่อนข้างกว้างที่ 2.76-2.87% อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 2.80% และ Bid coverage ratio เพียง 0.98 เท่า สะท้อนถึงอุปสงค์จากนักลงทุนยังคงเบาบาง ส่งผลให้ภายหลังการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 5ปี ขึ้นไปปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นการปรับตัวโดยที่ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น (Bear Steepening) ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 18,212 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 15,556 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,751 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 95 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.67% 0.82% 1.20% 1.60% และ 1.95% ตามลำดับ